ชุมพร – ต้อนรับนายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ชุมพร – ต้อนรับนายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
วันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 เวลา 13.30 น. นายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ร่วมกับ นายปรีดา เยี่ยมสวัสดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศิริมงคล โลจิสติกส์ จำกัด หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับนายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ ตรวจราชการจังหวัดชุมพร เน้นคุณภาพและมาตรฐานทุเรียนไทย สร้างความเชื่อมั่นรักษาตลาดจีนตั้งแต่ต้นทาง ณ บริษัท ศีริมงคลคอร์เปอเรท กรุ๊ป จำกัด
[embedyt] https://www.youtube.com/watch?v=yiHDXkvE96o[/embedyt]
ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ยกทีมกรมวิชาการเกษตร ตรวจราชการจังหวัดชุมพร เน้นคุณภาพและมาตรฐานทุเรียนไทย สร้างความเชื่อมั่นรักษาตลาดจีนตั้งแต่ต้นทาง โชว์ผลงาน สวพ.7 ออก GAP 8 จังหวัดภาคใต้เสร็จสิ้นแล้ว
นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดชุมพร และเป็นประธานมอบนโยบายแนวทางพัฒนาการตรวจสอบย้อนกลับ Supply Chain ทุเรียนส่งออกไปจีน และการยกระดับมาตรฐานผลไม้ไทย ผลไม้คุณภาพ “Premium Thai Fruits” พร้อมมอบใบรับรองแหล่งผลิตพืช GAP พืช และเยี่ยมชมสวนทุเรียนที่ได้รับการรับรอง GAP และการแปรรูป (ทุเรียนแช่เยือกแข็ง) ณ แปลงใหญ่ทุเรียน ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ปะทิว อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร โดยมีนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเกษตรกร เข้าร่วม ว่า การส่งออกทุเรียนสดไทยไปจีนขณะนี้ไม่ได้มีไทยประเทศเดียวยังมีประเทศเวียดนาม และในอนาคต จะมีประเทศอื่นๆ เพิ่มขึ้นอีก ดังนั้นประเทศไทยต้องรักษามาตรฐานและคุณภาพ โดยการควบคุมตั้งแต่ต้นทางและเพิ่มสินค้าประเภทใหม่ เป็นทางเลือก อาทิ ทุเรียนภูเขาไฟ ทุเรียนพันธุ์หลงลับแล ตลอดจนการแปรรูปผลิตภันฑ์ เพื่อรักษาตลาดในประเทศจีนไว้ โดยใช้ การทำงานในลักษณะบูรณาการระหว่างเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สมาคมผู้ประกอบการส่งออก และหน่วยงานทุกภาคส่วน ต้องร่วมมือกันกำหนดทิศทางทุเรียนไทย สร้างความแตกต่าง จุดเด่นที่สำคัญคือมาตรฐานและคุณภาพของทุเรียนไทย โดยภารกิจการติดตามมาตรการตรวจสอบคุณภาพและรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับทุเรียนส่งออกไปจีนเป็นภารกิจของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งต้องดำเนินการ ให้เป็นรูปธรรม เพื่อส่งเสริมการส่งออกทุเรียนไทย
“การลงพื้นที่ในวันนี้ ให้ความสำคัญกับการสร้างการรับรู้ให้กับพี่น้องเกษตรกร และข้าราชการกระทรวงเกษตร ฯ ในพื้นที่ ให้ทราบถึงแนวทางการดำเนินงานของกระทรวงเกษตร ฯ โดยเฉพาะเรื่องมาตฐาน GAP ที่ปรับรหัสรับรองรูปแบบใหม่สำหรับสินค้าผลไม้ที่ส่งออกไปจีนและประเทศอื่น เพื่อให้สอดคล้องกับระเบียบที่สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ได้ดำเนินการ โดย มกอช. ได้ออกกฎกระทรวงกำหนดลักษณะการใช้แสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร (รหัสเครื่องหมาย Q) นั้น ตนได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตร แนะนำกับเกษตรกรตั้งแต่ตอนขึ้นทะเบียนเกษตรกร บูรณาการให้อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้านเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น เพื่อช่วยในการกระจายองค์ความรู้เรื่องคุณภาพ เรื่อง GAP และเรื่องการขึ้นทะเบียน สำหรับเรื่องของทุเรียนอ่อน ที่มีกระแสข่าวว่าเป็นเพราะฝนที่ตกลงมา ทำให้สีและรสชาติเปลี่ยนไป ทางสวนจึงต้องตัดทุเรียนก่อนกำหนด ส่งผลให้ทุเรียนไม่ได้คุณภาพ ให้ตรวจสอบว่าเป็นจริงหรือไม่ หากเป็นข้อเท็จจริงให้เร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวทันที และที่สำคัญเรื่องการสวมสิทธิ์ทุเรียน หากมีข้อมูลหรือเบาะแสขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรที่มีอำนาจหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมาย ดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด”ปลัดเกษตรฯ กล่าว
นอกจากนี้ ปลัดเกษตรฯ ยังได้หารือกับทูตเกษตรประจำประเทศต่าง ๆ ผ่านระบบ Zoom Cloud Meetings โดยได้มอบหมายให้ทูตเกษตรไปดำเนินการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ในเรื่องของอัตลักษณ์ให้กับทุเรียนไทย โดยเน้นไปที่ข้อดีของทุเรียนไทย รสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ มาตรฐานและคุณภาพของทุเรียนไทยที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ และเรื่องของอำนวยความสะดวกในการส่งออกทุเรียนจากไทยไปจีนให้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตร ได้ทำงานร่วมกับ มกอช. ดำเนินการออกทะเบียน GAP รูปแบบใหม่ให้กับทุเรียนภาคตะวันออก 80,000 ฉบับ ให้แล้วเสร็จในต้นเดือนธันวาคมนี้ และจะครบทั้งประเทศภายในกลางเดือนธันวาคมนี้ ด้านการออกทะเบียน GAP พืชทุกประเภทในเขตพื้นที่ของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรที่ 7 (สวพ.7) 8 จังหวัดภาคใต้นั้น ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นทั้งหมดแล้ว โดยแบ่งเป็น จังหวัดสุราษฎร์ธานี 7,785 แปลง เกษตรกร 6,865 ราย จังหวัดชุมพร 18,357 แปลง เกษตรกร 17,328 ราย จังหวัดประจวบคิรีขันธ์ 3,571 แปลง เกษตรกร 3,359 ราย จังหวัดนครศรีธรรมราช 15,461 แปลง เกษตรกร 13,493 ราย จังหวัดกระบี่ 1,522 แปลง เกษตรกร 1,287 ราย จังหวัดภูเก็ต 580 แปลง เกษตรกร 463 ราย จังหวัดระนอง 4,433 แปลง เกษตรกร 3,891 ราย จังหวัดพังงา 2,867 แปลง เกษตรกร 2,377 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 29 พฤศจิกายน 2565) โดยรหัสรับรอง GAP รูปแบบใหม่ทั้งหมดจะเริ่มใช้ ในเดือนมกราคม 2566
ธนากร โกศลเมธีรายงาน 0818923514