คณะวิทย์ ม.อ. เปิดประชุมวิชาการนานาชาติ The 13th IMT-GT UNINET BIOSCIENCE 2022 สร้างความร่วมมือเครือข่าย IMT-GT แลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวคิด BCG
คณะวิทย์ ม.อ. เปิดประชุมวิชาการนานาชาติ The 13th IMT-GT UNINET BIOSCIENCE 2022 สร้างความร่วมมือเครือข่าย IMT-GT แลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวคิด BCG
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยคณะวิทยาศาสตร์ ภายใต้เครือข่าย IMT-GT UNINET (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle University Network) เปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ The 13th IMT-GT UNINET BIOSCIENCE 2022 ภายใต้แนวคิด “BCG Economy towards SDGs for the Benefit of Mankind” โดยมี ผศ. ดร.เถกิง วงศ์ศิริโชติ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวิเทศสัมพันธ์ เป็นประธาน รศ. ดร.อัญชนา ประเทพ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วยผู้แทนกงสุลอินโดนีเซียและกงสุลใหญ่มาเลเซีย ผู้บริหารเครือข่าย IMT-GT UNINET และนักศึกษาจากประเทศเครือข่ายเข้าร่วมงาน ณ บีพี สมิหลา บีช โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จังหวัดสงขลา ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-9 ธันวาคม 2565
ภายในงานมีการบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “BCG for SDGs” โดยคุณสุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, การบรรยายพิเศษหัวข้อ “Ocean Thermal Energy-Driven Development in Fulfilling all the 17 SDGs” โดย Dato’ Ir. Dr. A. Bakar Jaafar, PEng, FIEM, FASc รองอธิการบดี Academy of Science Malaysia, Malaysia และช่วง CEO Talk ในหัวข้อ “Business Transformation Towards BCG Economy” โดย คุณภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ นายน้อย ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์
ผศ. ดร.เถกิง วงศ์ศิริโชติ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็น 1 ใน 10 มหาวิทยาลัยวิจัยชั้นนำของประเทศไทย ที่มุ่งเน้นในการสร้างนวัตกรรมและสังคม ที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการ เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นทั้งระดับชาติและนานาชาติ การที่มหาวิทยาลัยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมนานาชาติ IMT-GT UniNet Bioscience ครั้งที่ 13 ประจำปี 2565 ในหัวข้อ “BCG Economy to SDGs for the Benefit of Mankind” ในครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเครือข่าย IMT-GT ผ่านการแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับแนวคิด Bio-Circular-Green Economy ตลอดจนตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ
“การประชุมในครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดีที่ผู้เข้าร่วมจะได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในสาขาที่สนใจ และยังเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่างเครือข่ายทางวิชาการ และเพื่อประโยชน์ร่วมกันในอนาคตต่อไป” ผศ. ดร.เถกิง กล่าว
ด้าน รศ. ดร.อัญชนา ประเทพ กล่าวว่า คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดการประชุมวิชาการนานาชาติ IMT-GT UniNet Bioscience ครั้งที่ 13 ประจำปี 2565 ในหัวข้อ “BCG Economy against SDGs for the Benefit of Mankind” เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างชุมชน IMT-GT ผ่านการแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) (BCG) ส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ IMT-GT เป็นหนึ่งในจุดที่มีความสมบูรณ์ทางชีวภาพมากที่สุดในโลก การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างชุมชน IMT-GT จะส่งผลอย่างมากต่อความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ ความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ และสังคม
“การประชุมในครั้งนี้เป็นเวทีสำหรับแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างนักศึกษา นักวิจัย คณาจารย์ และบุคลากรจากมหาวิทยาลัยและภาคอุตสาหกรรม เป็นโอกาสในการสร้างเครือข่ายการพัฒนาเพื่อบูรณาการและประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ในการสอนในประเทศที่กำลังพัฒนา” รศ. ดร.อัญชนา กล่าว