22/11/2024

กาฬสินธุ์-รวมเผ่าผู้ไทนานาชาติเพิ่มความรวยเล็กๆไม่ใหญ่ๆผู้ไททำ

จังหวัดกาฬสินธุ์ “เพิ่มความสุข ความรวย ด้วย 3 ใจ” เป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมผู้ไทนานาชาติ “โฮมรากเหง้าเผ่าผู้ไท” เนรมิตสวนเฉลิมพระเกียรติ อ่างเก็บน้ำห้วยสายนาเวียง เทศบาลกุดสิม อำเภอเขาวง เป็นจุดรวมชนเผ่าผู้ไททั่วภาคอีสาน รวมทั้ง สปป.ลาว และเวียดนาม เพื่อแสดงอัตลักษณ์ความเป็นหนึ่งเดียวของชาติพันธุ์ผู้ไท เพิ่มความรวยเล็กๆไม่ใหญ่ๆผู้ไททำ สอดคล้องแนวทางการทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัด


เมื่อเร็วๆนี้ ที่สวนเฉลิมพระเกียรติ อ่างเก็บน้ำห้วยสายนาเวียง ต.คุ้มเก่า อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ เป็นประธานแถลงข่าวจัดมหกรรมผู้ไทนานาชาติ “โฮมรากเหง้าเหล่าผู้ไท” ประจำปี 2566 (ผู้ไทอินเตอร์เนชั่นแนล เฟสติวัล 2023) โดยมีนายขัตติยา ชัยมณี วัฒนธรรม จ.กาฬสินธุ์ นางเฉลิมขวัญ หล่อตระกูล นายก อบจ.กาฬสินธุ์ พ.ต.อ.พันกฤษณ์ วิชญชีวินทร์ รอง ผบก.ภ.จว.กาฬสินธุ์ นางสาววิภาวี บุญเรือง นายก ทต.กุดสิม ร่วมแถลง ทั้งนี้ มี นายอุทัย สิงห์ทอง พัฒนาการ จ.กาฬสินธุ์ พ.จ.ต.สำเนียง หวังเจริญ ท้องถิ่น จ.กาฬสินธุ์ นายธวัช พรมโสภา นายอำเภอเขาวง พ.ต.อ.กันตพัฒน์ ภาคธรรม ผกก.สภ.เขาวง รวมทั้งส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน สื่อมวลชน เครือข่ายวัฒนธรรม ประชาชน ร่วมงานเป็นจำนวนมาก


นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่างานมหกรรมผู้ไทนานาชาติ อำเภอเขาวง ประจำปี 2566 กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-6 กุมภาพันธ์ 2566 ที่สวนเฉลิมพระเกียรติ อ่างเก็บน้ำห้วยสายนาเวียง ต.คุ้มเก่า อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ เพื่อเผยแพร่อัตลักษณ์ เอกลักษณ์ของชาวผู้ไท รวมทั้งฟื้นฟูขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปวัฒนธรรมของชาติพันธ์ผู้ไท อีกทั้งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ภายในงานจะได้พบกับการแสดงศิลปวัฒนธรรมชาวผู้ไท ความหลากหลายทางวัฒนธรรม พร้อมชมวิถีชีวิตชาวผู้ไทใน จ.กาฬสินธุ์ และใกล้เคียง เช่น ชาวผู้ไทกาฬสินธุ์ ชาวผู้ไทสกลนคร ชาวผู้ไทนครพนม ชาวผู้ไทยโสธร ชาวผู้ไทมุกดาหาร ชาวผู้ไทอุดรธานี รวมทั้งชาวผู้ไท สปป.ลาวและชาวผู้ไทเวียดนาม ซึ่งการจัดงานมหกรรมผู้ไทนานาชาติครั้งนี้ เป็นการแสดงถึงความร่ำรวยเพื่อความสุขในปีกระต่ายทอง ตามหลักการทำงาน 3 รวย คือ ร่ำรวยวัฒนธรรม ร่ำรวยน้ำใจ ร่ำรวยสุขภาพ และ 3 ใจ คือ เข้าใจ ไว้ใจ และร่วมใจ เพื่อพัฒนา จ.กาฬสินธุ์ไปสู่เมืองแห่งความร่ำรวย และเมืองแห่งความสุข


ด้านนายขัตติยา ชัยมณี วัฒนธรรม จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ชาวผู้ไทมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น และสืบสานจากรุ่นสู่รุ่นอย่างเหนียวแน่น ทั้งด้านอาหาร การแต่งกาย ภาษา การแสดงดนตรีพื้นบ้าน พิธีกรรมและความเชื่อ โดยภายในงานมหกรรมผู้ไทนานาชาติครั้งนี้ จะได้ชมขบวนแห่รากเหง้าผู้ไทกาฬสินธุ์ จาก อ.เขาวง อ.นาคู อ.กุฉินารายณ์ อ.ห้วยผึ้ง อ.คำม่วง รวมทั้งจากจังหวัดต่างๆในภาคอีสาน และประเทศเพื่อนบ้าน ร่วมชมการแสดงพิธีกรรมเหยา เอาบุญเลาะตูบ กินข้าวฮ่วมพา (พาแลง) การแสดงศิลปวัฒนธรรมผู้ไท การจำหน่ายสินค้าโอทอป การเสวนารากเหง้าผู้ไท การแสดงแบบผ้าผู้ไท ประกวดสาวผู้ไทซับเพิ้ง การประกวดรำวงย้อนยุค เป็นต้น ซึ่งเป็นการจัดงานที่ยิ่งใหญ่ในรูปแบบเล็กๆไม่ใหญ่ๆชาวผู้ไทร่วมทำ จึงขอเชิญชวนมาเที่ยวชมงาน เพื่อชื่นชมวัฒนธรรมชาวผู้ไท ส่งเสริมการท่องเที่ยว และกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยกัน


ขณะที่นางเฉลิมขวัญ หล่อตระกูล นายก อบจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า การจัดงานมหกรรมผู้ไทนานาชาติ ถือเป็นการเปิดบ้านเปิดเมืองให้สังคมโลกได้รู้จักกาฬสินธุ์ ซึ่งมีศิลปวัฒนธรรมและสิ่งดีๆมากขึ้น ทั้งนี้ ชนเผ่าชาติพันธุ์ผู้ไท มีศิลปวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง ชัดเจน อบจ.กาฬสินธุ์พร้อมให้การสนับสนุนส่งเสริม เพื่อให้การจัดงานดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย และพร้อมบูรณาการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับการท่องเที่ยว ให้ จ.กาฬสินธุ์และการจัดงานผู้ไทนานาชาติครั้งนี้มีชื่อเสียงดังไกลไปทั่วโลก และเพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รับความสุขจากการจัดงานอย่างเต็มที่ ซึ่งชาวกาฬสินธุ์และชาติพันธุ์ชาวผู้ไทจากหลายอำเภอใน จ.กาฬสินธุ์ พร้อมเป็นเจ้าบ้านที่ดี และเตรียมความพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยว ที่จะมาร่วมงานมหกรรมผู้ไทนานาชาติด้วยความยินดียิ่ง


นางสาววิภาวี บุญเรือง นายกเทศมนตรีกุดสิม กล่าวว่างานมหกรรมผู้ไทนานาชาติ จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2555 แต่ได้ว่างเว้นไปในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการจัดงานครั้งนี้ ภายใต้สโลแกน “โฮมรากเหง้าเผ่าผู้ไท” ซึ่งจะมีกิจกรรมที่หลากหลายให้นักท่องเที่ยวได้มาเรียนรู้ สัมผัสวัฒนธรรมประเพณีและวิถีชาวผู้ไท ระหว่างวันที่ 4-6 กุมภาพันธ์นี้ ขอเชิญมาเที่ยวงานมหกรรมผู้ไทนานานาชาติโดยพร้อมเพรียงกัน ที่สวนเฉลิมพระเกียรติ อ่างเก็บน้ำห้วยสายนาเวียง ซึ่งทางฝ่ายรักษาความปลอดภัย ทั้งตำรวจ ฝ่ายปกครอง การันตีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวตลอดการจัดงาน

ข่าวที่น่าติดตาม