“อวสานหุบเขาไฮโซ (บ้านเวียงด้ง ตำบลน้ำแพร่ อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่)”
“อวสานหุบเขาไฮโซ (บ้านเวียงด้ง ตำบลน้ำแพร่ อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่)”
ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายวราวุธ ศิลปอาชา)และอธิบดีกรมป่าไม้ (นายสุรชัย อจลบุญ) ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตรวจปราบปราบการครอบครองพื้นที่ป่าโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ ซึ่งเป็นผลประโยชน์ของรัฐ และให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ให้มุ่งมั่นทุ่มเทสรรพกำลังเพื่อรักษาความมั่นคงของทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ และเพื่อทวงคืนผืนป่าซึ่งเป็นสมบัติของแผ่นดิน ที่มีการนำไปยึดถือครอบครองเป็นของส่วนตัว กลับมาเป็นสมบัติของประเทศชาติ ตลอดจนเพื่อปกป้องดูแลทรัพยากรป่าไม้และที่ดินอันเป็นทรัพยากรที่สำคัญของชาติ เพื่อคนรุ่นหลังต่อไป
“หุบเขาไฮโซ” คือพื้นที่ที่ถูกชาวบ้านขนานนามให้เนื่องจากมีนายทุนเข้ากว้านซื้อพื้นที่และปลูกบ้านพักหรู โดยอาศัยความซับซ้อนของระเบียบกฎหมายในการครอบครอง จนเป็นช่องว่างให้เกิดความยากลำบากในการเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อสืบหาพยานหลักฐาน
จวบจนกระทั่ง เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2560 คณะเจ้าหน้าที่ได้ตรวจพบการยึดถือการครอบครองพื้นที่โดยมิชอบ จำนวน 3 แปลง และได้แจ้งความดำเนินคดีกับ นางนพมาศ แจ้งกระจ่าง เนื้อที่ 6-2-23 ไร่ ฐานบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2485 และพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507
ต่อมาสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 1 (เชียงใหม่) ร่วมกับ DSI และปปท.บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบพบว่า ยังมีการครอบครองพื้นที่ในลักษณะดังกล่าวบริเวณใกล้เคียงอีก 1 แปลง จึงได้บูรณาการกำลัง ทวงคืนผืนป่าสงวนแห่งชาติแปลงดังกล่าว เนื้อกว่า 25 ไร่ ในพื้นที่ตำบลน้ำแพร่ อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ที่กรมป่าไม้อนุญาตให้สิทธิทำกิน หรือ สทก. เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2531 ได้สิ้นอายุการอนุญาตแล้วต่อมาพบว่ามีการเปลี่ยนผู้ครอบครองไปให้บุคคลอื่นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
วันนี้ (23 มกราคม 66) นายกมล นวลใย ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 1 (เชียงใหม่) ร่วมกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เขต5, กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, เจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครองอำเภอหางดง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เข้าตรวจสอบพื้นที่ที่ได้รับการร้องเรียนว่า มีการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ บริเวณป่าแม่ท่าช้างและป่าแม่ขนิน บ้านเวียงด้ง (ชุมชนห้วยเสี้ยว) หมู่ 11 ตำบลน้ำแพร่ อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ หลังตรวจสอบพบว่า มีการล้อมรั้วขนาดใหญ่ต่อเนื่องรอบบริเวณพื้นที่ที่กรมป่าไม้อนุญาตให้สิทธิทำกินแก่ราษฎรในพื้นที่ (สทก.) ซึ่งสิ้นอายุการอนุญาตแล้ว เนื้อที่รวม 25-2- 28 ไร่ โดยพบว่าผู้ครอบครองพื้นที่ดังกล่าว คือ นางนพมาศ แจ้งกระจ่าง และจากการตรวจสอบข้อมูลในอดีตปรากฎว่า นางนพมาศฯ ได้เคยถูกดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ.2561-2562 จำนวน 3 คดี
การเข้าตรวจสอบในครั้งนี้สืบเนื่องจากสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 1 (เชียงใหม่) ได้รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าว จึงได้รวบรวมพยานหลักฐาน เอกสาร ที่เกี่ยวข้อง พบว่า พื้นที่ที่นางนพมาศฯ ครอบครองอยู่เป็นแปลงสทก.ที่เคยได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ และสิ้นอายุการอนุญาตไปแล้ว ปรากฏรายชื่อบุคคล จำนวน 4 แปลง ซึ่งบุคคลดังกล่าวไม่มีความเกี่ยวข้องทางสายเลือดหรือเครือญาติกับนางนพมาศฯ แต่อย่างใด ประกอบกับเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2566 นางนพมาศฯ ได้มาพบผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 1 (เชียงใหม่) และให้ถ้อยคำต่อเจ้าหน้าที่ความว่า “ตนได้เข้ามาครอบครองที่ดินต่อจากบุคคลในพื้นที่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 โดยการสละสิทธิ์การครอบครองและมีค่าตอบแทนเข้าไปครอบครองในพื้นที่ (ซึ่งบุคคลที่นางนพมาศฯ กล่าวอ้าง ไม่ปรากฏในรายชื่อ สทก.เดิม)” เจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้วบุคคลดังกล่าวไม่มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับนางนพมาศฯ เช่นกัน
วันนี้คณะเจ้าหน้าที่ทั้งหมดจึงได้เข้ามาตรวจสอบขอบเขตของพื้นที่ดังกล่าว แต่นางนพมาศฯ ไม่อยู่ในพื้นที่ จึงได้ประสานแจ้งให้ผู้ใหญ่บ้านนำตรวจสอบขอบเขตของพื้นที่โดยรอบบริเวณแนวรั้วแสดงอาณาเขต จากนั้นจะทำการแจ้งความดำเนินคดีต่อไป
กล่าวโดยสรุป พื้นนที่แปลงนี้โดยในจำนวน 5 แปลงที่เข้ามาตรวจสอบในวันนี้ มีพื้นที่ 4 แปลง เป็นพื้นที่ที่กรมป่าไม้อนุญาตให้สิทธิทำกิน หรือ สทก. เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 31 ปัจจุบัน สทก.สิ้นสุดการอนุญาตไปแล้ว หากผู้ได้รับอนุญาตหรือทายาทโดยธรรมที่ได้ทำประโยชน์ในที่ดินนั้นอยู่แล้ว ไม่ประสงค์จะทำประโยชน์และอยู่อาศัยต่อไป พื้นที่นั้นจึงถือว่าเป็นป่าสงวนแห่งชาติตามเดิม การครอบครองพื้นที่จึงถือว่าสิ้นสุดลงเมื่อมีการเปลี่ยนผู้ครอบครอง ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขาย ให้เช่า ให้โดยเสน่หา รวมไปถึงการสละสิทธิ์ จึงถือว่าการครอบครองที่ดินของนางนพมาศ แจ้งกระจ่าง เป็นการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ ไม่เป็นไปตาม มติ ค.ร.ม. 30 มิ.ย. 41 และไม่เป็นไปตาม มติค.ร.ม. 21 พ.ย. 61 มีความผิดตามมาตรา 54 พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 และมาตรา 14 แห่งพ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 คณะเจ้าหน้าที่จึงได้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อผู้เกี่ยงข้องต่อไป