22/11/2024

ติดตามความก้าวหน้าปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

ที่ปรึกษาประธานสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ พร้อมคณะ เจ้าหน้าที่สถาบันปิดทองฯ ติดตามความก้าวหน้าของโครงการต้นแบบปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในจังหวัดกาฬสินธุ์


ที่ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอนามน จ.กาฬสินธุ์ นายสุวิทย์ คำดี ที่ปรึกษาประธานสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ สถาบันปิดทองฯ ร่วมประชุมติดตามความก้าวหน้า ของโครงการต้นแบบปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ใน จ.กาฬสินธุ์ โดยมีนางละม่อม สุนทรชัย หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สนง.เกษตร จ.กาฬสินธุ์ นายปิยะพงษ์ สมโคตร ปลัดอาวุโส จ.ส.อ.ประวิทย์ชัย สรางสิงห์ ปลัดอำเภอ นางศิริรัตน์ ไสยประกาศ เกษตรอำเภอนามน น.ส.นันทนา สร้อยเสนา นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ ผู้รับผิดชอบงานโครงการฯ ระดับอำเภอ และคณะกรรมการระดับอำเภอ ร่วมประชุมอย่างพร้อมเพียง


โดยในการประชุมติดตามความก้าวหน้า ของโครงการต้นแบบปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในครั้งนี้ ยังได้สรุปความก้าวหน้า ปัญหาอุปสรรค์ วิเคราะห์เพื่อจัดทำแผนแนวทางการช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาที่เป็นปัจจัยภายนอกไม่สามารถควบคุมได้ เช่น สภาพอากาศ แมลงศัตรูพืช เป็นต้น
สำหรับข้อมูลการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในพื้นที่ อ.นามน มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ จำนวน 42 ราย พื้นที่ 174.5 ไร่ เริ่มทำการเพาะปลูกระหว่างวันที่ 12 ธ.ค.65 26 ม.ค.66 แบ่งเป็นใช้แรงงานคน/แจ็บมือ 14 ราย, ใช้ล้อกลิ้งปากเป็ด 12 ราย และใช้เครื่องปลูกติดรถไถ 16 ราย ขณะที่การประเมินข้าวโพดช่วงอายุ 34-45 วัน มีการจัดเกรดข้าวโพดของเกษตรกร ดังนี้ เกรด A จำนวน 3 ราย, เกรด B จำนวน 4 ราย, เกรด C จำนวน 25 ราย, เกรด D จำนวน 9 ราย และเกรด E จำนวน 1 ราย


ทั้งนี้ ข้าวโพดที่ปลูกระหว่างวันที่ 21-26 ธ.ค.65 สภาพอากาศหนาวมีอุณหภูมิ 13-18 องศาฯ ข้าวโพดจะมีอัตราการงอกช้า การเจริญเติบโตชะงัก ไม่สม่ำเสมอ ใบม่วง อ่อนแอต่อโรคแมลง หลังการฉีดพ่นยากำจัดหนอน วันที่ 5-9 ม.ค.66 หลังฉีดพ้นยาเพียง 1 วัน มีฝนตกตลอดทั้งวันทั้งคืน ระหว่างวันที่ 10-14 ม.ค.66 และมีเมฆปกคลุมมาก
อย่างไรก็ตาม หลังจากร่วมประชุมนายสุวิทย์ คำดี ที่ปรึกษาประธานสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ สถาบันปิดทองฯ และเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการฯ ตัวแทนเกษตรกรในพื้นที่ จำนวน 6 ราย พื้นที่ 27 ไร่


นายสุวิทย์ คำดี ที่ปรึกษาประธานสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ได้ให้แนวทางการทำงาน แก้ไขปัญหาอุปสรรคเพื่อนำไปปรับใช้แก่เกษตรกร ได้แก่ กลุ่ม A, B เป็นกลุ่มเกษตรกรที่มีประสบการณ์ปลูกข้าวโพด และมีความตั้งใจ ปริมาณต้นข้าวโพดมากกว่า 12,000 ต้น/ไร่ การเจริญเติบโตสม่ำเสมอ ผลผลิตที่คาดว่าจะได้รับ ไม่ต่ำกว่า 1,500 ก.ก./ไร่, กลุ่ม C เป็นเกษตรกรมือใหม่ ไม่มีประสบการณ์ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปริมาณต้นข้าวโพดมากกว่า 9,000 ต้น/ไร่ การเจริญเติบโตปานกลาง ผลผลิตที่คาดว่าจะได้รับ มากกว่า 1,300 ก.ก./ไร่


“ขณะที่กลุ่ม D, E เป็นเกษตรกรที่น่าเป็นห่วง เพราะเป็นมือใหม่ ไม่มีประสบการณ์ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ดินขาดอินทรีย์วัตถุ ปริมาณต้นข้าวโพดน้อยกว่า 7,000 ต้น/ไร่ การเจริญเติบโตช้า ไม่สม่ำเสมอ ผลผลิตที่คาดว่าจะได้รับ ต่ำกว่า 900 ก.ก./ไร่ แต่สามารถผลักดันให้เข้าไปสู่ระดับ C ได้ โดยทุกฝ่าย จะต้องกำกับติดตาม ให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่กำกับติดตามอย่างใกล้ชิดให้เกษตรกรปฏิบัติตามคำแนะนำของสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ และเกษตรตำบล” นายสุวิทย์กล่าว

ข่าวที่น่าติดตาม