การเตรียมความพร้อมการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการนับจำนวนราษฎรในการแบ่งเขตเลือกตั้ง
การเตรียมความพร้อมการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการนับจำนวนราษฎรในการแบ่งเขตเลือกตั้ง
ตามที่ได้มีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการเลือกตั้งทั่วไป ที่จะครบอายุของสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๖๖ หรือหากมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรแล้วแต่กรณี ว่าทำไมคณะกรรมการการเลือกตั้งยังไม่ดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งไว้ก่อน หรือเมื่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒)พ.ศ. ๒๕๖๖ มีผลใช้บังคับแล้ว แต่คณะกรรมการการเลือกตั้งยังไม่ประกาศเขตเลือกตั้งทันที หรือการแบ่งเขตเลือกตั้งมีการนับจำนวนราษฎรอย่างไร นั้น
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งขอชี้แจงต่อการแสดงความคิดเห็นดังกล่าวเพื่อให้เกิดความชัดเจน ดังนี้
๑. การเตรียมความพร้อมก่อนที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖ มีผลใช้บังคับ
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทุกจังหวัดและกรุงเทพมหานคร จัดเตรียมข้อมูล และพื้นที่ พร้อมทั้งจัดทำรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งอย่างน้อยจังหวัดละ ๓ รูปแบบ เพื่อใช้ในการรับฟังความคิดเห็นของพรรคการเมืองและประชาชนในจังหวัดเป็นเวลา ๑๐ วัน โดยจัดเตรียมข้อมูลที่ถือตามจำนวนราษฎรที่ประกาศปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้งไว้ให้พร้อมดำเนินการได้ทันที่เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้
ทั้งนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งยังไม่สามารถดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งได้ เนื่องจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖ ยังไม่มีผลบังคับใช้ เพราะการแบ่งเขตเลือกตั้งจะชอบด้วยกฎหมายก็ต่อเมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้อำนาจในการดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งเท่านั้น
๒. การเตรียมความพร้อมหลังที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖ มีผลใช้บังคับ เมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๖๖
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ดำเนินการ ดังนี้
๒.๑ เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๖๖ ซึ่งเป็นวันถัดจากวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ คณะกรรมการการเลือกตั้งได้เห็นชอบร่างระเบียบ/ประกาศที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง จำนวน ๕ ฉบับ กล่าวคือ
(๑) ร่างประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแบ่งเขตเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ….
(๒) ร่างประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด สำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปครั้งแรกภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๑) พุทธศักราช ๒๕๖๔
(๓) ร่างประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง การจัดตั้งสาขาพรรคการเมืองและการแต่งตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด พ.ศ. ….
(๔) ร่างระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ….
(๕) ร่างประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดประชุมสมาชิกพรรคการเมืองเพื่อรับฟังความคิดเห็นการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ….
ทั้งนี้ ร่างประกาศ ตามข้อ (๑) และ (๒) ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๖
๒.๒ การดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้ง
เมื่อระเบียบ/ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งที่เกี่ยวข้องได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลใช้บังคับแล้ว สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนดทันที ซึ่งต้องดำเนินการให้ครบทุกขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนดแต่จะเร่งรัดระยะเวลาดำเนินการในแต่ละขั้นตอนให้น้อยลงหรือรวดเร็วขึ้น โดยมีขั้นตอนการดำเนินการตามเอกสารแนบ ดังนี้
(๑) ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทุกจังหวัดและกรุงเทพมหานครดำเนินการจัดทำรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งอย่างน้อย ๓ รูปแบบ ภายใน ๓ วัน
(๒) ปิดประกาศรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากพรรคการเมืองและประชาชนในจังหวัดเป็นเวลา ๑๐ วัน นับแต่วันปิดประกาศ (ระหว่างวันที่ ๔ – ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖)
(๓) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทุกจังหวัดและกรุงเทพมหานครรวบรวมความเห็นของพรรคการเมืองและประชาชนเพื่อจัดทำสรุปความเห็นเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณา
(๔) คณะกรรมการการเลือกตั้งประชุมเพื่อพิจารณารูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน ๗๗ จังหวัด ๓๖๔ เขตเลือกตั้ง
(๕) ส่งลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ทั้งนี้ เมื่อประกาศเขตเลือกตั้งแล้วพรรคการเมืองจักได้นำไปใช้ในการดำเนินการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งต่อไป
๓. การนับจำนวนราษฎรเพื่อนำมาใช้ในการแบ่งเขตเลือกตั้ง
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๑) พุทธศักราช ๒๕๖๔ มาตรา ๘๖ กำหนดให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้ง ซึ่งกรณีดังกล่าวสำนักทะเบียนกลางได้มีประกาศจำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร เมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๖๖ เรื่อง จำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักรตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ณ วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๕ และในการดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้นำประกาศสำนักทะเบียนกลางดังกล่าวมาใช้ในการดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้ง การดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งจึงเป็นไปตามรัฐธรรมนูญฯ แล้ว