22/11/2024

มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ(มสส.)ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)จัดประชุมโฟกัสกรุ๊ปเรื่อง “สางปม บุหรี่ไฟฟ้า… หลากปัญหา รอวันแก้”

มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ(มสส.)ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)จัดประชุมโฟกัสกรุ๊ปเรื่อง “สางปม บุหรี่ไฟฟ้า… หลากปัญหา รอวันแก้”

เมื่อวันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ณ โรงแรมแกรนด์ ฟอร์จูน กรุงเทพ รัชดา โดยมี นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ สื่อมวลชนอาวุโส เป็นผู้ดำเนินรายการ
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่ากฎหมายไทยกำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้ามทั้งการนำเข้า จำหน่ายหรือให้บริการ ในปี 2564 มี 32 ประเทศทั่วโลกที่ประกาศใช้กฎหมายห้ามเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าจากที่ในปี 2557 มีเพียง 13 ประเทศ เท่านั้น สะท้อนให้เห็นว่าทั่วโลกตระหนักถึงพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้าเพราะมีข้อมูลชัดเจน เช่น เด็กมัธยมปลายอเมริกันสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มจาก 1.5%ในปี2554 เป็น19.6%ในปี 2563 ประเทศนิวซีแลนด์เด็กอายุ14-15 ปี สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มจาก 1.9%ในปี 2560เป็น9.6 %ในปี 2564 ส่วนเด็กมัธยมต้นของไทยอายุ13-15 ปีสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มจาก3.3%ในปี2558เป็น8.1%ในปี 2564 รายงานการวิจัยเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าทั่วโลกส่วนใหญ่สรุปว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตรายต่อหลอดเลือดและระบบทางเดินหายใจเพราะละอองลอยมีสารโลหะหนักหลายชนิดเช่นเหล็ก ทองแดง นิกเกิล สังกะสี โครเมี่ยม และตะกั่วที่กระตุ้นให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจ นอกจากนี้ยังพบว่าสารนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตรายต่อพัฒนาการของสมองเด็กและวัยรุ่น บุหรี่ไฟฟ้าหลายยี่ห้อมีสารนิโคตินเท่ากับสูบบุหรี่ 20 มวน และบางยี่ห้อมีสารนิโคตินเท่ากับการสูบบุหรี่ถึง50 มวน
ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่กล่าวถึงข้ออ้างที่ว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ในการช่วยเลิกบุหรี่มวนว่าไม่เป็นความจริง ในปี 2564 องค์การอนามัยโลกระบุว่าหลักฐานที่บอกว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ช่วยเลิกบุหรี่ยังสรุปไม่ได้ ส่วนองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกายืนยันเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมาว่าไม่เคยรับรองให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ช่วยเลิกบุหรี่ เช่นเดียวกับกระทรวงสาธารณสุขออสเตรเลียก็ระบุว่ายังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะสนับสนุนให้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่ สอดคล้องกับงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในปี 2564-2565 ไม่มีข้อสรุปว่าบุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่ได้ มิหนำซ้ำยังพบว่า 60 %ของคนสูบบุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่กลับมาสูบบุหรี่ชนิดมวนใหม่ ซึ่งองค์การอนามัยโลกระบุชัดเจนว่าปัญหาใหญ่สุดของบุหรี่ไฟฟ้าคือทำให้เด็กที่ไม่เคยสูบบุหรี่เข้ามาสูบบุหรี่ไฟฟ้าและเด็กที่เริ่มต้นสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีความเสี่ยงที่จะสูบบุหรี่ธรรมดามากกว่าเด็กที่ไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้า 2-4 เท่า รวมทั้งคนที่เลิกสูบบุหรี่ธรรมดาไปแล้วจะกลับมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าแทน
ดังนั้นสื่อมวลชนต้องช่วยกันเผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้อง หาแนวทางการสื่อสารรูปแบบใหม่ๆที่เข้าถึงเด็กและเยาวชนอย่างมีประสิทธิภาพ มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ควบคุมการโฆษณาในสื่อสมัยใหม่ทุกรูปแบบเพราะบริษัทบุหรี่ไฟฟ้ามักใช้สื่อออนไลน์และสนับสนุนเงินในการจัดกิจกรรมดึงดูดกลุ่มเยาวชน
นายเลิศศักดิ์ รักธรรม ผู้อำนวยการส่วนบังคับคดี หัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)กล่าวว่าพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคมีหมวดที่ว่าด้วยความปลอดภัยของสินค้าและบริการทำให้มีการออกคำสั่งของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ 9/2558 เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้า “บารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า” ดังนั้น ผู้ใดขายหรือให้บริการ โดยมีค่าตอบแทนรวมถึงการซื้อมาเพื่อขายต่อ มีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ผู้นำเข้าบุหรี่ไฟฟ้ายังมีความผิดตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่ และบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ ไฟฟ้า เป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงิน 5 เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ กับให้ริบบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งสิ่งที่ใช้บรรจุและพาหนะใดๆ ที่ใช้ในการบรรทุกสินค้าบุหรี่ไฟฟ้านั้นด้วย และยังมีความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ครอบครองหรือรับฝากไว้ จะมีความผิดฐาน ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใด ซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง ตามมาตรา 246 วรรคหนึ่ง มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับเป็นเงิน 4 เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ
นายเลิศศักดิ์กล่าวต่อว่า สคบ.ได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งตำรวจ กรมควบคุมโรค ออกตรวจสอบการขายบุหรี่ไฟฟ้า พบว่าส่วนใหญ่ไปขายกันในโลกออนไลน์ซึ่งเด็กและเยาวชนเข้าถึงได้ โดยสคบ.ได้ส่งข้อมูลไปยังกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิด เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ให้ดำเนินการทางกฎหมายกว่า 300 website ที่สำคัญมีการลักลอบนำเข้ามาตามแนวชายแดนเป็นจำนวนมากในขณะนี้จึงต้องบังคับใช้กฎหมายร่วมกันหลายหน่วยงานตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ที่ผ่านมา สคบ.ได้จับกุมผู้ขายในกทม. ที่ตลาดคลองถมถึง13 ครั้ง จับเท่าไรก็ไม่หมด หัวใจสำคัญคือต้องจัดการกับผู้นำเข้ารายใหญ่ซึ่งมีไม่กี่สิบรายและผู้ขายที่รับมาจากรายใหญ่แล้วกระจายอยู่ทั่วประเทศ ต้องบังคับใช้กฎหมายเด็ดขาดกับคน 2 กลุ่มนี้ควบคู่ไปกับการให้ความรู้ประชาชน โดยล่าสุด สคบ. ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วว่า จะมีการนำกฎหมายฟอกเงินมาบังคับใช้กับผู้ที่ลักลอบนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมายด้วย เพื่อให้เกิดความเด็ดขาด
ด้านสื่อมวลชนได้ร่วมแสดงความคิดเห็น ว่าจำเป็นต้องสื่อสารองค์ความรู้และขับเคลื่อนอย่างจริงจัง เช่น นายณรงค์ ปานนอก ประธานชมรมคอลัมนีสต์ นักจัดรายการวิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวว่า แนวทางแก้ไขปัญหาอย่างได้ผล ควรจะมีการส่งข้อมูลให้กับผู้มีอำนาจในการแก้ไขปัญหาโดยตรง โดยใช้วิธีการเดียวกับที่ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ได้เปิดโปงเรื่องกระบวนการทุนสีเทาชาวจีน และพนันออนไลน์ ส่วนนายจิระ ห้องสำเริง ผู้ดำเนินรายการ สถานีวิทยุ ZaabNews FM 96.0 MHz เสนอว่า ควรให้ข้อมูลที่เป็นด้านลบของพิษภัยบุหรี่ไฟฟ้า เพราะเข้าไปดูใน Wikipedia มีแต่ข้อมูลด้านดี เช่น สูบแล้วเท่ห์ ดีกว่าบุหรี่มวน ส่วนข้อมูลด้านลบมีน้อย สังคมรับรู้น้อย ขณะที่นายชูชาติ สว่างสาลี ผู้อำนวยการ สำนักข่าวเนตรทิพย์ ออนไลน์ กล่าวว่า ปัญหาในขณะนี้กระแสเรื่องของกัญชาเสรี และเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า กลายเป็นสิ่งที่สังคมมองเป็นเรื่องปกติ แม้กระทั่งรัฐมนตรี กระทรวง DES ยังออกมาสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าเลย นอกจากนี้พรรคการเมือง ก็ยังพยายามจะผลักดันเรื่องนี้ให้ถูกกฎหมาย หากสื่อมวลชนและคนทำงานรณรงค์ ไม่ช่วยกันส่งเสียงเรื่องนี้ ฝ่ายการเมืองคงเดินหน้าเรื่องนี้แน่ และสุดท้ายนายอภิวัชร์ เกตุทัต ประธานมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ ได้กล่าวปิดการประชุมโฟกัสกรุ๊ปว่า การจัดงานครั้งนี้เป็นการดำเนินงาน ตามโครงการ เสริมพลังสื่อมวลชนไทย สร้างเครือข่าย ร่วมขับเคลื่อน สังคมสุขภาวะ ซึ่งได้รับการสนันสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า ข้อมูลที่สื่อมวลชนได้แลกเปลี่ยนในวันนี้ นอกจากจะได้ความรู้ความเข้าใจเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าแล้ว ยังเห็นแนวทางในการดำเนินงานร่วมกันเป็นเครือข่ายเพื่อสื่อสารข้อมูลให้สังคมได้รับทราบ และร่วมกันขับเคลื่อนในเชิงมาตรการและนโยบายต่อไป

ข่าวที่น่าติดตาม