จ.สระบุรี/เร่งขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG จัดถ่ายทอดองค์ความรู้โมเดลเศรษฐกิจใหม่ในระดับพื้นที่
จ.สระบุรี/เร่งขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG จัดถ่ายทอดองค์ความรู้โมเดลเศรษฐกิจใหม่ในระดับพื้นที่
ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดสระบุรี นายผล ดำธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ประธานในพิธีเปิดการฝึกอบรม โครงการส่งเสริมการ ดำรงวิถีชีวิตแนวใหม่ ตามแนวทางขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Mode) สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน จังหวัดสระบุรี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสระบุรีร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดขึ้น เพื่อให้ทุกภาคส่วน ได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Model ในการเป็นโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีขาราชการ อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน ผู้นำชุมชน ประชาชน ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการธุรกิจที่ให้ความสนใจรวม 200 คน เข้าร่วมประชุม
โดยจังหวัดสระบุรีเป็นหนึ่งจังหวัดที่เร่งดำเนินตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG ดังกล่าว เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่มีทั้งอาชีพด้านการเกษตร และภาคอุตสาหกรรม ในการเป็นตัวขับเคลื่อน เศรษฐกิจและการดำรงชีวิต ดังนั้นจึงต้องสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ BCG Model จึงต้องมีการถ่ายทอดองค์ความรู้โมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BMode) สู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับพื้นที่ของจังหวัดสระบุรีเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับโมเดลเศรษฐกิจใหม่ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อส่งเสริมให้เครือข่ายและภาคส่วนต่าง ๆ ได้ร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชน โดยใช้องค์ความรู้ในท้องถิ่นร่วมกับนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีสมัยใหม่
นายปริญญา คุ้มสระพรม ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสระบุรี กล่าว่า BCG Model เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ( Bioeconomy) ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเน้นการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เชื่อมโยงกับ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คำนึงถึงการนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และทั้ง 2 เศรษฐกิจนี้ อยู่ภายใต้เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุล
สำหรับเป้าหมายของจังหวัดสระบุรี อันดับแรกตั้งเป้าที่จะต้องลดก๊าชเรือนกระจก ให้ได้ ฉะนั้นเราต้องสร้างองค์ความรู้ร่วมกันก่อนว่าเราจะลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างไร โดยตอนนี้ต้องมาแยกนะครับว่าส่วนใดมีการปลดปล่อยก๊าชในอัตราเท่าไหร่ภาคการขนส่งเท่าไหร่ ภาคเกษตรเท่าไหร่ และภาคอุตสาหกรรมเท่าไหร่ นอกจากนั้นแล้วในจังหวัดสระบุรีเรามีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในเรื่องของหินและอุตสาหกรรมซีเมนต์เยอะ ก็ได้มีส่วนร่วมกับทางภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเกี่ยวกับปูนซีเมนต์ โดยตั้งเป้าจะลดการปลดปล่อยอย่างน้อย 10% และก็จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวหรือเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ของจังหวัดสระบุรีให้ได้ 40% ของพื้นที่จังหวัด
นายนพดล ชีวะอิสระกุล อุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี ได้กล่าวว่า สำหรับในภาคอุตสาหกรรมของจังหวัดสระบุรีโดยภาพรวมจะมีส่วนร่วมอย่างยิ่งในการที่จะขับเคลื่อน BCG ทั้ง 3 ด้าน ทั้งด้านลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ของโรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะ Circular นั่นคือการรีไซเคิล ซึ่งหลายโรงงานในภาคอุตสาหกรรมของจังหวัดสระบุรี ทุกอย่างที่เป็นขยะหรือเป็นของเหลือใช้ของโรงงานก็จะเข้าไปในกระบวนการอุตสาหกรรมรีไซเคิล เป็นการนำวัตถุใช้มาใช้ประโยชน์และนำมาใช้ต่อ และในส่วน Green Economy โรงงานในจังหวัดสระบุรีส่วนใหญ่ก็เข้าไปอยู่ในการควบคุมของกระทรวงอุตสาหกรรมโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมอยู่แล้ว
โมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า “BCG” หรือ Bio-Circular-Green Economy เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว เป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจที่พัฒนาต่อยอดจากจุดแข็งของประเทศไทยคือ ความหลากหลายทางชีวภาพ และความหลากหลายทางวัฒนธรรม เป็นการเชื่อมโยงหลักคิดเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และเป็นการสานพลังของจตุภาคีทั้งภาคประชาชน เอกชน หน่วยงานภาครัฐ และเครือข่ายต่างประเทศ โดยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ทำหน้าที่บูรณาการการพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Creation) จากฐานความหลากหลายของทรัพยากรชีวภาพและวัฒนธรรม
กิจกรรมหลักภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ประกอบด้วย 1. อนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนา เพิ่มพูนทรัพยากร ความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม 2. บริหารจัดการ การใช้ประโยชน์และบริโภค อย่างยั่งยืน 3. ลดและใช้ประโยชน์ของทิ้งจากกระบวนการผลิตสินค้าและบริการ 4. สร้างมูลค่าเพิ่ม ตลอดห่วงโซ่มูลค่า ตั้งแต่ภาคเกษตรที่เป็นต้นน้ำ จนถึงภาคการผลิตและบริการ 5. สร้างภูมิคุ้มกัน พึ่งพาตนเอง และเพิ่มสมรรถนะในการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว
สำหรับการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2569 อยู่บนพื้นฐานของ 4 + 1 ประกอบด้วย 4 สาขายุทธศาสตร์ คือ 1.เกษตรและอาหาร 2.สุขภาพและการแพทย์ 3.พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และ 4.การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และ 1 ฐานความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นทุนพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศและการเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน
/ดำรงค์ ชื่นจินดา รายงาน