22/11/2024

การกำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

การกำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 คณะกรรมการการเลือกตั้งได้พิจารณากำหนดจำนวนค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามมาตรา 62 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 โดยให้ความเห็นชอบรูปแบบที่พรรคการเมืองแสดงความเห็นด้วยจำนวนมากที่สุดในการหารือร่วมกันระหว่างคณะกรรมการการเลือกตั้งและพรรคการเมือง เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเสนอ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
๑. ในการคำนวณค่าใช้จ่ายของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งหรือของพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ สำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่ละครั้ง ให้คำนวณตามค่าใช้จ่ายที่ใช้จ่ายจริงในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างระยะเวลาดังต่อไปนี้
๑.๑ ในกรณีที่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปอันเนื่องมาจากการครบอายุของสภาผู้แทนราษฎรให้คำนวณค่าใช้จ่ายที่ใช้จ่ายไปตั้งแต่ ๑๘๐ วัน ก่อนวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศให้มีการเลือกตั้งจนถึงวันเลือกตั้ง
๑.๒ ในกรณีที่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปอันเนื่องมาจากการยุบสภา หรือการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้คำนวณค่าใช้จ่ายที่ใช้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ยุบสภาหรือวันที่ตำแหน่งว่างลง แล้วแต่กรณีจนถึงวันเลือกตั้ง
๒. ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งแต่ละคนต้องใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ดังนี้
๒.๑ ในกรณีที่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปอันเนื่องมาจากการครบอายุของสภาผู้แทนราษฎรต้องใช้จ่ายไม่เกิน ๗,๐๐๐,๐๐๐ บาท (เจ็ดล้านบาทถ้วน)
๒.๒ ในกรณีที่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปอันเนื่องมาจากการยุบสภา หรือการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง ต้องใช้จ่ายไม่เกิน ๑,๙๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งล้านเก้าแสนบาทถ้วน)
๓. พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ต้องใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ดังนี้
๓.๑ ในกรณีที่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปอันเนื่องมาจากการครบอายุของสภาผู้แทนราษฎรต้องใช้จ่ายไม่เกิน ๑๖๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งร้อยหกสิบสามล้านบาทถ้วน)
๓.๒ ในกรณีที่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปอันเนื่องมาจากการยุบสภา หรือการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง ต้องใช้จ่าย ไม่เกิน ๔๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท (สี่สิบสี่ล้านบาทถ้วน)
ในกรณีที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อผู้ใดของพรรคการเมืองได้ใช้จ่ายไปเพื่อการเลือกตั้งเป็นจำนวนเท่าใด ให้นับรวมเป็นค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองด้วย
๔. ในกรณีที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ในเขตเลือกตั้งใด ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งแต่ละคนต้องใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่ ดังนี้
๔.๑ ในเขตเลือกตั้งใดที่ต้องดำเนินการรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งแต่ละคนต้องใช้จ่ายไม่เกิน ๙๕๐,๐๐๐ บาท (เก้าแสนห้าหมื่นบาทถ้วน)
๔.๒ ในเขตเลือกตั้งใดที่ไม่ต้องดำเนินการรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งแต่ละคนต้องใช้จ่ายไม่เกิน ๖๓๐,๐๐๐ บาท (หกแสนสามหมื่นบาทถ้วน)
๕. ในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ในเขตเลือกตั้งใด ที่ไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งรายใดได้รับคะแนนเสียงมากกว่าคะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้ใดเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตเลือกตั้งนั้น และต้องรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ ตามมาตรา ๑๒๖ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖ ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งแต่ละคนต้องใช้จ่ายในการเลือกตั้งไม่เกิน ๙๕๐,๐๐๐ บาท (เก้าแสนห้าหมื่นบาทถ้วน)
๖. ในกรณีที่มีการประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว และมีเหตุให้ต้องมีการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งแต่ละคนต้องใช้จ่ายในการเลือกตั้งไม่เกิน ๑,๙๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งล้านเก้าแสนบาทถ้วน)

ข่าวที่น่าติดตาม