กาฬสินธุ์ชาวบ้านขานรับทางหลวงเลี่ยงเมืองใหม่ 22 กม.
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ท้องที่ และประชาชนอำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ ยินดีตอบรับทางหลวง 4 ช่องจราจร ทางเลี่ยงเมืองกาฬสินธุ์ (ด้านเหนือ) ระยะทาง 22 กม. ที่กรมทางหลวงทำการสำรวจและออกแบบ เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรที่แออัดในเขตเมือง และเพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคมขนส่งในโครงข่ายทางหลวงให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 2 มีนาคม 2566 ที่ศาลาการเปรียญวัดคำเม็ก-โนนทอง ต.ไผ่ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ นายประครอง สุไผ่โพธิ์ นายกเทศมนตรีตำบลไผ่ เป็นประธานเปิดการประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 2 การประชุมหารือมาตรการลดกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจร ทางเลี่ยงเมืองกาฬสินธุ์ (ด้านเหนือ) โดยมีนางดวงตา พายุพล ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงกาฬสินธุ์ นางเนื้อทอง เจริญทรง ผู้อำนวยการกลุ่มจัดหาที่ดินที่ 2 สำนักจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน กรมทางหลวง พร้อมด้วยผู้นำชุมชน ประชาชน สื่อมวลชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง
นางดวงตา พายุพล ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงกาฬสินธุ์ กล่าวว่าการประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 2 โครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจร ทางเลี่ยงเมืองกาฬสินธุ์ (ด้านเหนือ) ที่กรมทางหลวง ได้มีการสำรวจและออกแบบ ทางเลี่ยงเมืองกาฬสินธุ์ (ด้านเหนือ) เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรที่แออัดในเขตเมือง และยังเพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคมขนส่งในโครงข่ายทางหลวงให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประชาชนที่อยู่ในพื้นที่และผู้ใช้เส้นทาง
นางดวงตากล่าวอีกว่า กรมทางหลวง จึงได้จัดให้มีการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมภาคประชาชน ของประชาชน ที่ครอบครองที่ดินตามแนวสายทาง หรือมีพื้นที่ใกล้เคียงกับแนวเส้นทางของการพัฒนาของโครงการ เพื่อให้ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ครอบครองที่ดิน รวมทั้งส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะได้ร่วมรับทราบข้อมูลรูปแบบการพัฒนาโครงการ การศึกษาด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม มาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ขั้นตอนการดำเนินงานของโครงการ พร้อมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการศึกษาโครงการ โดยทางเลี่ยงเมืองดังกล่าว ผ่านพื้นที่ ต.หลุบ ต.ลำพาน ต.บึงวิชัย ต.หนองกุง และสิ้นสุดโครงการในพื้นที่ ต.ไผ่ ระยะทาง 22 กม.
ด้านนายประครอง สุไผ่โพธิ์ นายกเทศมนตรีตำบลไผ่ กล่าวว่าทางหลวง 4 ช่องจราจร ทางเลี่ยงเมืองกาฬสินธุ์ (ด้านเหนือ) ที่กรมทางหลวง มีการสำรวจและออกแบบดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ต่อท้องถิ่น ท้องที่ ประชาชนเป็นอย่างมาก จากการบูรณาการกับโครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจร พบว่าประชาชนและทุกภาคส่วน ให้การตอบรับดีมาก เนื่องจากเป็นโครงการที่สอดคล้องต่อความต้องการของประชาชน ส่งผลให้ชุมชน ท้องถิ่น ท้องที่ ตลอดจนสังคมกาฬสินธุ์มีความเจริญ ทั้งด้านการคมนาคมและเศรษฐกิจดีขึ้น ทั้งนี้ หลังจากผ่านการจัดเวทีประชุมกลุ่มย่อยและขั้นตอนต่างๆที่เกี่ยวข้องเรียบร้อย จึงอยากให้รัฐบาลและทางกรมทางหลวง ดำเนินการจัดโครงการโดยเร็วไว เพราะชาวบ้านรออยู่