22/11/2024

กาฬสินธุ์ฮือฮารวมเหล่าหมอเหยาสืบสานความเชื่อเลี้ยงผีรักษาคนป่วย

เกิดปรากฏการณ์ “หมอเหยา” ระดับปรมาจารย์ “พ่อเมือง-แม่เมือง” ชาวผู้ไท ในอำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ และอำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร รวมตัวกันประกอบพิธีเลี้ยงผีประจำปีครั้งใหญ่ บรรยากาศเต็มไปด้วยเข้มขลัง ศักดิ์สิทธิ์ และจบลงด้วยความสนุกสนาน พร้อมให้คำสัตย์ปฏิญาณร่วมสืบสานประเพณีรักษาคนป่วย ด้วยการติดต่อสื่อสารกับผีบรรพบุรุษสืบไป

เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บ้านโคกโก่ง ต.กุดหว้า อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ ได้เกิดการรวมตัวของบรรดา “หมอเหยา” หรือหมอรักษาอาการเจ็บป่วยด้วยการสื่อสารกับสิ่งไม่มีตัวตน ที่เรียกว่า “ผีหมอเหยา” โดยมีนายสมพงษ์ ผิวละมุล หมอเหยารุ่นใหม่ อายุ 31 ปี ชาวบ้านกกตาล ต.บัวขาว อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยหมอเหยาทุกช่วงวัย ตั้งแต่วัยรุ่น วัยพ่อแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ในเขตพื้นที่ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ และ อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร จำนวน 20 คน ซึ่งเป็นชาวผู้ไท และได้ชื่อว่าเป็นหมอเหยาระดับปรมาจารย์ หรือ “พ่อเมือง-แม่เมือง” ร่วมพิธีทั้งฟ้อนรำ และการเจรจากับผีด้วยภาษาภูไท ท่ามกลางความสนใจของชาวบ้าน และเยาวชน


นายสมพงษ์ ผิวละมุล หมอเหยารุ่นใหม่ กล่าวว่า หมอเหยาเป็นภาษาผู้ไท หมายถึงผู้ทำพิธีรักษาผู้ป่วยด้วยโรคภัยต่างๆ โดยการติดต่อสื่อสารกับดวงวิญญาณและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ภูมิภาคอื่นอาจมีชื่อเรียกแตกต่างกัน เช่น หมอธรรม หมอทรง หมอลำผีฟ้า หมอผีแถน หมอผีไท้ ขณะที่รายละเอียดหรือขั้นตอน รวมทั้งเครื่องแต่งกาย อุปกรณ์ที่ใช้ ก็แตกต่างกัน ทั้งนี้หมอเหยาเป็นการบำบัดรักษาโรคภัยไข้เจ็บทั่วไป หรืออาจเรียกได้ว่าการแพทย์อีกทางเลือกหนึ่ง ของผู้เจ็บไข้ได้ป่วย หรือถูกโรคภัยเบียดเบียน เคยเข้ารับการรักษาจากการแพทย์แผนไทยและแผนปัจจุบันไม่หาย แต่หลังจากเข้ารับการรักษาจากหมอเหยาอาการดีขึ้น และหายเป็นปกติ


นายสมพงษ์กล่าวอีกว่า ในส่วนที่มีบางคนเข้าใจว่า การมารักษากับหมอเหยา ซึ่งมีเครื่องเซ่นไหว้ประกอบด้วย ข้าวสาร ไข่ไก่ต้มสุก อาหารหวานคาวพื้นบ้าน และสุราขาว โดยมีการนำศาสตราวุธ เช่น มีดดาบ ง้าว ตะขอ ธนู มาใช้ในพิธี และมีการนนำเครื่องดนตรีพื้นบ้าน เช่น พิณ แคน ฉิ่ง ปี่ภูไท ทำจังหวะและออกเสียงร้องลำขณะประกอบพิธี เพื่อให้คนป่วยมีกำลังใจ ฮึกเหิม หายป่วยนั้น เป็นเพียงส่วนประกอบเท่านั้น เพราะสิ่งสำคัญคือเป็นวิธีการการรักษาแก้เคราะห์แก้กรรมกับผีจริงๆ โดยมีหมอเหยาเป็นสื่อกลาง ระหว่างผีกับอาการเจ็บไข้ได้ป่วยโดยตรง


นายสมพงษ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนเคยมีอาการเจ็บป่วยด้วยโรคประจำตัวเมื่อปี 2563 คือเจ็บหลัง เหมือนเป็นอาการของกระดูกทับเส้น เคยเข้ารับการตรวจและเอกซเรย์หลายครั้ง รวมทั้งทำกายภาพบำบัดที่สถานพยาบาล อาการก็ไม่ดีขึ้น ประกอบกับในชุมชนมีการบำบัดรักษาด้วยหมอเหยา จึงทดลองรักษาตามกรรมวิธีของหมอเหยา ปรากฏว่าอาการดีวันดีคืนและหายเป็นปลิดทิ้ง ด้วยความเชื่อถือจึงได้ปวารณาตนเป็นหมอเหยา ร่วมกับคณะหมอเหยาประกอบพิธีเลี้ยงผีหมอเหยาในครั้งนี้ ทั้งนี้เป็นการเลี้ยงผีหมอเหยาครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง หลังจากว่างเว้นมา 2 ปี เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยมีหมอเหยาที่ติดต่อสื่อสารกันประจำจากหลายตำบลในพื้นที่ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ และ อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร มาร่วมพิธีด้วยกัน” นายสมพงษ์กล่าว


สำหรับหมอเหยา นอกจากจะเป็นการบำบัดรักษาอาการเจ็บป่วยด้วยโรคแทรกซ้อนเบียดเบียน และอาการเจ็บปวดเรื้อรัง ที่รักษาโดยการแพทย์แผนไทยไม่หาย อาการไม่สบายที่เคยเป็นอยู่กลับดีวันดีคืนและหายดี ดำเนินชีวิตอย่างปกติแล้ว หมอเหยายังช่วยทำนายทายทัก ตรวจโชคชะตาราศีได้แม่นยำอีกด้วย ในส่วนการรวมตัวของหมอเหยา เพื่อเลี้ยงผีหมอเหยาในครั้งนี้ หมอเหยาทุกคนต่างเคยผ่านประสบการณ์เจ็บป่วย ต่อมาหายจากอาการเจ็บป่วยด้วยฝีมือหมอเหยาทั้งสิ้น และล้วนมีประสบการณ์รักษาผู้ป่วยจนอาการดีขึ้นและหายดี จึงได้ชื่อว่าเป็น “พ่อเมือง-แม่เมือง” ของผู้ที่นับถือหมอเหยา


อย่างไรก็ตาม ในพิธีเลี้ยงผีหมอเหยาประจำปีครั้งนี้ ยังมีชาวบ้านที่มีอาการเจ็บป่วย ทยอยกันมาขอคำปรึกษา และขอคำแนะนำเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บที่อยู่ในเรือนกาย รวมทั้งตรวจดูดวงและโชคชะตาอีกด้วย ขณะที่หมอเหยาที่เข้าร่วมพิธี ต่างให้คำสัตย์ปฏิญาณต่อวิญญาณผีบรรพบุรุษหมอเหยา ต่อหน้าเครื่องเซ่นสรวงและสำรับอาหารคาวหวาน ในการที่จะร่วมกันสืบสานพิธีกรรมหมอเหยาสืบไป จากนั้นร่วมเสพเครื่องเซ่นสรวง และแสดงท่าร่ายรำด้วยกิริยาอาการต่างๆ บรรยากาศเป็นไปด้วยความเข้มขลัง ศักดิ์สิทธิ์ และจบลงด้วยความสนุกสนาน

ข่าวที่น่าติดตาม