ผบ.ตร.มอบ รองรอย คุมเข้มกลุ่มทุนต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจผิดกฎหมายตามนโยบายรัฐบาล
ผบ.ตร.มอบ รองรอย คุมเข้มกลุ่มทุนต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจผิดกฎหมายตามนโยบายรัฐบาล เรียกประชุมหน่วยเกี่ยวข้อง วางมาตรการระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว พร้อมเตรียมเปิดปฏิบัติการ ตรวจสอบเป้าหมายกว่า 100 จุดทั่วประเทศ
วันที่ 10 มี.ค.66 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุม 3 ชั้น 2 อาคาร 1 ตร. พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. ประชุมหารือ หน่วยเกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดมาตรการการป้องกันและแก้ไขปัญหากลุ่มทุนต่างชาติเข้ามายึดประกอบธุรกิจโดยผิดกฎหมายในประเทศไทย โดยมีผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กรมสรรพากร สำนักงาน ปปง. เข้าร่วม
การประชุมดังกล่าวเป็นการขับเคลื่อนตามนโยบาย พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่สั่งการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหากลุ่มทุนต่างชาติเข้ามายึดประกอบธุรกิจโดยผิดกฎหมายในประเทศไทย
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. มอบหมายให้ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. ที่ดูแลงานมั่นคง เป็นผู้รับผิดชอบ เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ในที่ประชุมได้เห็นชอบ กำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหากลุ่มทุนต่างชาติเข้ามายึดประกอบธุรกิจโดยผิดกฎหมายในประเทศไทย
ในระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และมาตรการระยะยาว ดังนี้
1. มาตรการเร่งด่วน
เริ่มตั้งแต่กระบวนการการคัดกรองบุคคลต่างชาติก่อนที่จะเริ่มต้นในการประกอบธุรกิจ
1.1 เริ่มตั้งแต่สถานกงสุลหรือสถานเอกอัครราชทูตไทยในต่างประเทศ ใช้มาตรการในการคัดกรองเบื้องต้นสำหรับคนต่างด้าวที่ยื่นขอวีซ่าเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทย
1.2. กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กำหนดเงื่อนไขและคุณสมบัติพร้อมเอกสารประกอบที่น่าเชื่อถือให้ชัดเจนสำหรับคนต่างด้าวเข้ามายื่นขอจดทะเบียนการค้า การจัดตั้งนิติบุคคล บริษัท หรือกิจการอื่นในประเทศไทย ตรวจสอบผู้ถือหุ้นในบริษัทและคัดแยกกลุ่มเสี่ยง เช่น คนไทยถือหุ้นในหลายบริษัทของคนต่างด้าวในลักษณะถือแทน (นอมินี) ส่งข้อมูลให้ ตร.(ตำรวจท่องเที่ยว สตม. และตำรวจพื้นที่) และ ปปง.เพื่อ ดำเนินการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายโดยทันที
1.3 กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ตรวจสอบเรื่องการอนุญาตการประกอบธุรกิจและการทำงานของคนต่างด้าว
1.4 สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ตรวจสอบเมื่อคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรด้วยวีซ่าอื่น และมีความประสงค์เปลี่ยนวีซ่าเป็นวีซ่าประเภททำงาน ตลอดจนตรวจสอบคนต่างด้าวที่ถือหนังสือเดินทางสองสัญชาติ โดยเฉพาะที่เป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญ
2. มาตรการระยะกลาง
กระบวนการตรวจสอบการประกอบธุรกิจ การดำเนินการของคนต่างด้าวในประเทศไทย
เป็นการตรวจสอบความถูกต้องเรื่องของการดำเนินการให้เป็นไปตามหลักกฎหมาย ดำเนินการโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
2.1 เจ้าหน้าที่ตำรวจพื้นที่ ตำรวจท่องเที่ยว สตม. บช.ก. โดยประสานการปฏิบัติและเป้าหมายในการดำเนินการกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงานในพื้นที่รับผิดชอบ (กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน, กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์)
2.2 ประสานส่วนราชการอื่นๆ เช่น กรมการท่องเที่ยว กรมการขนส่ง ตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่ส่วนราชการรับผิดชอบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
3. มาตรการระยะยาว
3.1 มาตรการการจัดเก็บภาษีจากการประกอบธุรกิจต้องถูกตรวจสอบได้ และจัดให้มีการจัดเก็บทุกประเภทภาษี โดยหน่วยงานจัดเก็บภาษีที่เกี่ยวข้องตรวจสอบและดำเนินการ
3.2 การเชื่อมโยงฐานข้อมูลในระบบสรรพากร สตม. กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ฯลฯ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการคัดกรองและตรวจสอบการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว
พล.ต.อ.รอยฯ กล่าวว่า “ตร. จะได้ตั้งชุดปฏิบัติการบูรณาการร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการปฏิบัติตามแผนมาตรการดังกล่าวข้างต้น โดยได้กำหนดเป้าหมายในการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายโดยเร่งด่วน ในพื้นที่ กทม. ภาคเหนือและภาคใต้ จำนวนกว่า 100 เป้าหมาย ได้ร่วมกันประสานข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลง เพื่อพื้นที่ตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว หากพบมีข้อสงสัยหรือลักษณะที่อาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย จะได้บูรณาการระหว่างหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับ
หากประชาชนมีข้อมูล เบาะแส เรื่องร้องเรียน ขอให้แจ้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติทางหมายเลขโทรศัพท์ 191 หรือ 1599 หรือในระบบร้องเรียน JCOMS”