22/11/2024

ปัญหา ปวดไหล่ – ไหล่ติด หนึ่งในโรคที่ใช้ เวลารักษายาวนานที่สุด ทางกระดูก และข้อ

ปัญหา ปวดไหล่ – ไหล่ติด หนึ่งในโรคที่ใช้ เวลารักษายาวนานที่สุด ทางกระดูก และข้อ


โดย นพ.สุนทร ศรีสุวรรณ์ อาจารย์แพทย์ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลศูนย์หาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา กล่าวว่า ข้อไหล่ จัดเป็นข้อที่มีความสำคัญมากข้อหนึ่งของร่างกาย ใช้ประกอบกิจวัตรประจำวัน อาทิ เช่น แปรงฟัน อาบน้ำถูสบู่ หวีผม ถือช้อนรับประทานอาหาร เพราะฉะนั้นหากใครมีปัญหากับข้อไหล่ จะทำให้ใช้ชีวิตประจำวันได้ลำบากเป็นอย่างมาก
กลุ่มโรคนี้พบได้ ในผู้ป่วย หลากหลายกลุ่มอายุ โดยมีอาการ ได้ดังต่อไปนี้


1.ปวดรอบๆ ข้อไหล่ อาจจะมีจุดกดเจ็บ ตรงกระดูกข้อไหล่ บางท่านอาจปวดร้าว ลงไปตามแนวแขนจนถึงข้อศอก หรือปวดร้าวขึ้นต้นคอ
อาการอาจพบ หลังจากไปใช้งานหนัก , ใช้งานผิดท่าทาง หรือ หลังจากมีอุบัติเหตุกะแทกบริเวณหัวไหล่ หรือต้นแขน
2. ปวดไหล่ตอนกลางคืน , ตอนรุ่งเช้าหรือ อากาศเย็น ( หากมีอาการนี้ ควร ไปตรวจ เอ็กซเรย์ ข้อไหล่เพิ่มเติม เนื่องจากต้องวินิจฉัยแยกโรคจาก กลุ่มอาการหินปูนเกาะที่ผิวข้อไหล่ , โรคเนื้องอกกระดูก หรือโรคติดเชื้อในเนื้อกระดูก )


3. ผู้ป่วยบางราย อาจตรวจพบ อาการ บวม แดง ร้อน มีไข้ หากมีอาการดังกล่าวนี้ ต้องทำการวินิจฉัยแยกโรคจาก ภาวะ ข้อไหล่ติดเชื้อ)
4. อาการอาจจะค่อยๆสะสม และมีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้ข้อไหล่สามารถเคลื่อนไหว ยก แขนได้น้อยลง ใช้ชีวิตประจำวันได้ลำบากมากขึ้น เช่น เอื้อมไปถูสบู่บริเวณหลังไม่ได้ , หยิบของจากชั้นวางของเหนือศรีษะไม่ได้ , ติดตะขอเสื้อชั้นใน หรือรูดซิปกระโปรงด้านหลังไม่ได้ , นอนตะแคงทับไหล่ข้างนั้นๆไม่ได้ เป็นต้น


เมื่ออาการปวดมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ยิ่งทำให้ ผู้ป่วยไม่อยากขยับ ไม่เคลื่อนไหว ก่อให้เกิด คือ ภาวะไหล่ติด ( Frozen Shoulder ) ซึ่งจะยิ่ง ทำให้ พิสัยการเคลื่อนไหวของ ข้อไหล่น้อยลงมากกว่าเดิม และการรักษา ใช้เวลายาวนานมากขึ้น
ภาวะนี้อาจใช้เวลาในการรักษา และฟื้นฟูการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ ตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 1 ปี ซึ่งขึ้นกับความรุนแรงของอาการ สาเหตุของโรค
การวินิจฉัยแยกโรคที่ทำให้เกิดอาการปวดไหล่
– ข้อไหล่อักเสบ เส้นเอ็นหัวไหล่ อักเสบ
– เส้นเอ็นหัวไหล่ฉีกขาด
– ข้อไหล่เสื่อม
– โรคเนื้องอกในกระดูกข้อไหล่
– โรคติดเชื้อภายในกระดูกข้อไหล่
– โรคหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท (โรคนี้ จะปวดจากต้นคอ ร้าวลงมาไหล่ และอาจปวดร้าวต่อไปถึงปลายมือ)
– โรคเนื้องอกในช่องปอดส่วนบน ( Pancoast tumour )
วิธีการรักษา แบ่งตามระยะอาการเป็น 2 กลุ่ม หลักๆ ดังต่อไปนี้
1.กลุ่มผู้ป่วย ที่อยู่ในระยะเฉียบพลัน ( Acute Phase ) ผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดอย่างรุนแรง ในกรณีนี้ ต้อง ลดการใช้งานทุกชนิด อาจใช้ผ้าคล้องแขนช่วยประคองแขน ใช้การประคบเย็น เพื่อลดการอักเสบ ทานยาแก้ปวดพาราเซ็ตตามอล หรือ ยาแก้อักเสบ ที่ไม่ใช่ สเตียรอยด์ ( NSAIDs )
ซึ่งโดยปกติ การรักษาผู้ป่วยที่มาในระยะเฉียบพลันนี้ ใช้เวลา 1 – 4 สัปดาห์ ขึ้นกับ ความรุนแรงของอาการ หากอาการปวดทุเลาลง แนะนำให้ผู้ป่วยพยายามเคลื่อนไหวข้อไหล่ อย่างนุ่มนวล เพื่อลดโอกาส การเกิด ภาวะข้อไหล่ติด
2. กลุ่มผู้ป่วย ที่เข้าสู่ ระยะเรื้อรัง ( Chronic Phase ) และ ข้อไหล่ติด ( Frozen Shoulder ) อาการของผู้ป่วยกลุ่มนี้ จะมีอาการปวดลดลง แต่จะไม่สามารถเคลื่อนไหวข้อไหล่ ได้ตามปกติ และจะปวดมากหากฝืนใช้งาน
การรักษาหลักๆ ตอนนี้ คือ
การทำกายภาพบำบัด พยายามบริหาร เคลื่อนไหวข้อไหล่ ให้มากที่สุด เท่าที่ทำได้ และควรมีช่วงพัก เพื่อลดภาวะการอักเสบที่เกิดจากการทำกายภาพเป็นระยะๆ ซึ่ง ช่วงเวลานี้จะใช้เวลานานหลายเดือน หรืออาจเป็นปี ขึ้นกับความรุนแรงของอาการผู้ป่วย เป็นสำคัญ
3. การฉีดยาเข้าข้อไหล่ โดยยาที่ใช้ฉีด มี 2 กลุ่ม หลักๆ ได้แก่
– ฉีดยาแก้อักเสบกลุ่มสเตียรอยด์เฉพาะจุดเพื่อลดอาการอักเสบ ส่วนใหญ่ใช้ในระยะข้อไหล่อักเสบเฉียบพลัน
– ฉีดน้ำไขข้อเทียม เพื่อเพิ่มความหล่อลื่นในข้อไหล่
ลดแรงกะแทกภายในข้อ และอาจช่วยเพิ่มพิสัยการเคลื่อนไหวของข้อ ร่วมกับการทำกายภาพบำบัด
4. การผ่าตัด ถือเป็นวิธีสุดท้ายในการรักษา โดยมีวิธีการผ่าตัดหลากหลาย ขึ้นกับสาเหตุของโรค อาทิ เช่น การผ่าตัดส่องกล้อง ล้างข้อไหล่ ร่วมกับการเย็บซ่อมแซมเส้นเอ็นภายในไหล่ที่ฉีกขาด , การผ่าตัดเปลี่ยนข้อไหล่เทียม ในกรณีข้อไหล่เสื่อมอย่างรุนแรง
กล่าวโดยสรุปคือ ภาวะปวดไหล่ ควรรับการรักษาโดยแพทย์ตั้งแต่เริ่มมีอาการ เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดภาวะไหล่ติด ที่จะส่งผลร้ายต่อการรักษาได้ในอนาคต

 

นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา

ข่าวที่น่าติดตาม