กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ร่วมกับ บริษัท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือในการส่งเสริม เผยแพร่ และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมผ่านเกม
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ร่วมกับ บริษัท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือในการส่งเสริม เผยแพร่ และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมผ่านเกม
วันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๖๖ เวลา ๐๙.๓๐ น. นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.)
ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการส่งเสริม เผยแพร่ และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมผ่านเกม กับ ดร. ศรุต วานิชพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส Sea (ประเทศไทย) ในฐานะผู้แทนจาก บริษัท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยมี นางสาวลิปิการ์ กำลังชัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม นางสาววราพรรณ ชัยชนะศิริ รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ผู้บริหาร สวธ. และนายดนุภณ ศรีเมฆ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามดังกล่าว ณ ห้องประชุมชั้น ๔ สำนักพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กล่าวว่า สืบเนื่องจากในปี พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้มีบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับ สำนักบริหารคณะกรรมการจัดระดับเกมแห่งสาธารณรัฐเกาหลี (Game Rating and Administration Committee – GRAC) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและสร้างวินัยในการเล่นวีดิทัศน์ (เกม) และได้มีโอกาสเข้าร่วมงานจัดแสดงเกมนานาชาติ G – Star และเยือนภาคส่วนต่างๆ ในอุตสาหกรรมเกมของสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการจัดระดับเกมและอุตสาหกรรมเกม ระหว่างวันที่ 19 – 23 พฤศจิกายน 2565 ณ เมืองปูซาน และ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี โดยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมเกมในสาธารณรัฐเกาหลีที่ผ่านมานั้น สามารถนำองค์ความรู้และวิธีการต่างๆ มาประยุกต์ใช้ในราชอาณาจักรไทยได้
ดังนั้น กรมส่งเสริมวัฒนธรรม จึงได้มีการดำเนินตามนโยบายหลัก 8 ด้าน ของรัฐบาลไทย ข้อที่ 3 ว่าด้วยเรื่องการทำนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม ข้อ 3.1 ส่งเสริมวัฒนธรรม และเอกลักษณ์ของชาติ รัฐบาลไทยนั้นให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้สถาบันทางสังคมร่วมปลูกฝังค่านิยมและวัฒนธรรมที่ดี รวมทั้งการทำนุบำรุงศาสนา การอนุรักษ์ ฟื้นฟู ศิลปวัฒนธรรมไทยและการยอมรับประเพณี วัฒนธรรมที่ดีที่มีความหลากหลาย เพื่อสร้างสังคมให้มีคุณภาพ คุณธรรม และอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข โดยสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงวัฒนธรรม Paradigm Shift เปลี่ยนฉากทัศน์วัฒนธรรม สู่ก้าวที่มั่นคงและยั่งยืน กรมส่งเสริมวัฒนธรรม จึงได้นำเนื้อหาจากการหารือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของสาธารณรัฐเกาหลี นำมาใช้เพื่อส่งเสริมมิติทางวัฒนธรรม (Soft Power) ที่สามารถสร้างมูลค่าและเผยแพร่ค่านิยมและวัฒนธรรมความเป็นไทยผ่านอุตสาหกรรมเกม
ในนามกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้บรรลุข้อตกลงบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือในการส่งเสริม เผยแพร่ และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมผ่านเกม ระหว่าง กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กับ บริษัท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมเกมของประเทศ และมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยการส่งเสริม พัฒนาศักยภาพ และองค์ความรู้ให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชน ในการเรียนรู้วัฒนธรรมไทยผ่านเกม อันนำไปสู่การต่อยอดระดับอาชีพในอุตสาหกรรมเกม หรือทักษะต่างๆ ในการประกอบอาชีพอื่นๆได้ อธิบดี สวธ. กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน ดร. ศรุต วานิชพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส Sea (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในปัจจุบันมีการปรับตัวในการใช้เทคโนโลยีออนไลน์กันอย่างแพร่หลายในชีวิตประจำวัน จากสถิติในประเทศไทยพบว่ามีผู้เล่นเกมมากถึง ๓๐ ล้านคน โดยมีสัดส่วนของกลุ่มผู้เล่นเพื่อความสนุกสนานผ่อนคลาย และผู้ที่เล่นเกมเป็นกีฬาอีสปอร์ต
จนสามารถพัฒนาตนเองจนเป็นนักกีฬามืออาชีพเข้าแข่งขันในรายการระดับโลกต่างๆและสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีกลุ่มผู้รับชมกีฬาอีสปอร์ตซึ่งเปรียบได้กับผู้ชื่นชอบรับชมกีฬาประเภทอื่นๆ เช่น ฟุตบอล อยู่เป็นจำนวนมากทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ที่สามารถรับชมร่วมกันในเวลาเดียวกันได้ ทำให้เราสามารถนำเสนอคอนเทนต์ต่างๆส่งตรงไปยังคนกลุ่มเหล่านี้ได้อย่างทั่วถึง ซึ่งจะเป็นช่องทางที่มีประสิทธิภาพในการนำเสนอ เผยแพร่เนื้อหาที่สอดแทรกประยุกต์ความเป็นไทยเข้าไปในลักษณะการเผยแพร่ที่เป็น Soft Power รวมทั้งการรณรงค์ส่งเสริมค่านิยมพฤติกรรมการเล่นเกมที่ดีที่สามารถนำไปต่อยอดพัฒนาศักยภาพความสามารถของผู้เล่นให้เกิดประโยชน์ในแง่ต่างๆได้ ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่เราจะร่วมกันใช้ความเชี่ยวชาญของทั้งสองหน่วยงานในการร่วมกันต่อยอดการนำเสนอวัฒนธรรมไทยมิติใหม่ที่มีรูปแบบที่นำเอาความสร้างสรรค์ของนวัตกรรมมาผนวกเข้ากับเทคโนโลยี เพื่อให้สื่อสารถึงความเป็นไทยวัฒนธรรมไทยในรูปแบบที่เข้ากับยุคสมัยปัจจุบันมากขึ้นและยังกระตุ้น ให้เกิดแรงบันดาลใจในรูปแบบ Digital Inspiration ให้กับกลุ่มเป้าหมายเพื่อพัฒนาตนเอง ไปพร้อมๆกับการพัฒนาของอุตสาหกรรมดิจิทัลเอ็นเตอร์เทนเมนต์ซึ่งจะเป็นการยกระดับอีโคซิสเต็มของทั้งอุตสาหกรรมให้มีการเติบโตต่อไปในอนาคต
จากนั้น นางสาวลิปิการ์ กำลังชัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า พิธีลงนามความร่วมมือครั้งนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม เล็งเห็นความสำคัญของการเชื่อมโยงมิติทางวัฒนธรรมเข้ากับเกม โดยเฉพาะการนำ Soft power ที่สามารถผสมผสานผ่านเกมได้ เพื่อให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อยู่ร่วมกับเกมได้อย่างสร้างสรรค์ เปลี่ยนจากผู้เล่นให้เป็นผู้สร้างที่มีคุณภาพ มีจรรยาบรรณ และจริยธรรม สามารถนำความรู้ทางวัฒนธรรมเชิงเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ในอาชีพที่สนใจ ทั้งในและนอกวงการ ของอุตสาหกรรมเกม ซึ่งเป็นประโยชน์กับสังคมในภาพรวม และเป็นการสอดแทรกการส่งเสริมวัฒนธรรมไทยให้เข้ากับสื่อสมัยใหม่ ในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนไทยรู้จักปรับตัว ในยุคที่มีความหลากหลายทางสังคมได้ จึงได้ประสานความร่วมมือกับบริษัท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นหน่วยงานภาคเอกชนที่เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเกมและดิจิทัลคอนเทนต์ของไทย จัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือในการส่งเสริม เผยแพร่ และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมผ่านเกม ฉบับนี้ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
1. เพื่อร่วมกันดำเนินงานในการส่งเสริม เผยแพร่ และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมผ่านเกม
2. เพื่อส่งเสริม พัฒนาศักยภาพ และองค์ความรู้ให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชน ในการเรียนรู้วัฒนธรรมไทยผ่านเกม
3. เพื่อสร้างเครือข่ายภาคประชาชนและภาคธุรกิจให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาและร่วมผลักดันต่อสังคมในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเกมให้เป็นไปในแนวทางที่ดี
4. เพื่อเสริมสร้างค่านิยมและพฤติกรรมที่ดีในการเล่นเกมของเด็ก เยาวชนและประชาชน
5. เพื่อเป็นการส่งเสริมและเผยแพร่ค่านิยมและความเป็นไทย โดยเรียนรู้วัฒนธรรมไทย ผ่านดิจิทัลคอนเทนต์ (Soft Power)
การลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือในการส่งเสริมเผยแพร่และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมผ่านเกม ในวันนี้ จึงถือเป็นการขับเคลื่อนที่สำคัญในการส่งเสริมรักษา พัฒนา และต่อยอดมิติทางวัฒนธรรมผ่านเกม ให้ประชาชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนสามารถอยู่ร่วมกับเกมได้อย่างสร้างสรรค์ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาสังคมและประเทศชาติต่อไป
เจนกิจ นัดไธสง รายงาน