สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตอบข้อสอบถาม “พรรคประชาธิปัตย์”
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตอบข้อสอบถาม “พรรคประชาธิปัตย์”
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้ทำหนังสือตอบข้อสอบถามกรณีพรรคประชาธิปัตย์
ได้ขอสอบถามเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติและแนวทางการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับ รวม 4 ประเด็น ดังนี้
1. ค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมสมาชิกพรรคเพื่อรับฟังความคิดเห็นการสรรหาผู้สมัคร
รับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคได้จ่ายให้ตัวแทนหรือสาขา
ของพรรคนั้น บันทึกเป็นค่าใช้จ่ายของพรรคหรือของผู้สมัครแบบแบ่งเขต (ถ้าหากเป็นค่าใช้จ่ายของพรรค
จะเป็นค่าใช้จ่ายที่นำไปบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 ในวงเงิน 44,000,000 (สี่สิบสี่ล้านบาทถ้วน) หรือไม่ และหากเป็นค่าใช้จ่ายของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภา
ผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตจะบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายของผู้สมัครในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
พ.ศ. 2566 ในวงเงิน 1,900,000 (หนึ่งล้านเก้าแสนบาทถ้วน) หรือไม่ อย่างไร)
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาแล้วเห็นว่า ไม่ถือเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง แต่เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมือง
2. การแต่งตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำหน่วยเลือกตั้งเพื่อสังเกตการณ์การออกเสียงลงคะแนนและนับคะแนนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตสามารถแต่งตั้งได้หรือไม่
2.1 กรณีผู้สมัครแบบแบ่งเขตแต่งตั้งได้นั้น ค่าใช้จ่ายในการอบรมตัวแทนและค่าเบี้ยเลี้ยงในวันปฏิบัติงาน เป็นค่าใช้จ่ายของผู้ใด จะบันทึกเป็นคำใช้จ่ายของผู้สมัครหรือของพรรคหรือของผู้ใด
มีรายละเอียดอย่างไร
2.2 การดำเนินการตามข้อ 2.1 กรณีผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต
แต่งตั้งได้ ขอเรียนถามว่าจะใช้แบบฟอร์มในการแจ้งหน่วยงานของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
โดยใช้แบบฟอร์มใด
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นหน้าที่ของพรรคการเมืองที่จะดำเนินการตามมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภา
ผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566
3. กรณีการติดตั้งป้ายของผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต ผู้สมัครแบบแบ่งเขต
ได้ติดตั้งป้ายหาเสียงตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว้จำนวน 2 เท่าของหน่วยเลือกตั้ง (เช่น มีหน่วยเลือกตั้ง
250 หน่วย ติดตั้งไว้ 500 ป้าย) โดยติดตั้งไว้ก่อนมีพระราชกฤษฎีกายุบสภา และติดตั้งไว้ต่อเนื่องมิได้ปลด
ออกจนถึงวันรับสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (3 เมษายน 2566) หลังจากได้เบอร์ผู้สมัครได้ทำการเปลี่ยนป้ายใหม่ โดยนำป้ายเก่าจำนวน 500 ป้ายออก และติดตั้งป้ายใหม่ จำนวน 500ป้ายแทนที่เดิม
(โดย ณ เวลาใด ๆ จำนวนป้ายจะไม่เกิน 500 ป้าย) กรณีขอเรียนถาม ดังนี้
3.1 ผู้สมัครสามารถดำเนินการได้หรือไม่ ผิดกฎหมาย ระเบียบหรือข้อบังคับใดหรือไม่อย่างไร
3.2 หากสามารถดำเนินการได้ การบันทึกค่าใช้จ่ายของป้ายเก่า 500 ป้ายและการบันทึกค่าใช้จ่ายของป้ายใหม่ 500 ป้าย จะมีวิธีการบันทึกค่าใช้จ่ายอย่างไร
3.3 กรณีเช่นนี้จะถือว่าผู้สมัครจัดทำป้ายหาเสียงเลือกตั้งเกินกว่าที่กำหนดหรือไม่
(ณ เวลาใด ๆ ป้ายของผู้สมัครจะไม่เกินจำนวน 2 เท่าของหน่วยเลือกตั้ง กรณีตัวอย่างนี้ ณ เวลาใด ๆ
ป้ายจะไม่เกิน 500 ป้าย)
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อสอบถาม 3.1 และ 3.3 สามารถกระทำได้ และข้อ 3.2 ให้บันทึกตามค่าใช้จ่ายที่ได้จ่ายจริง ตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566
4. สมาชิกสภากรุงเทพมหานครหรือสมาชิกสภาท้องถิ่นที่เป็นสมาชิกพรรค จะสามารถช่วยหาเสียงเลือกตั้งให้กับผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตได้หรือไม่ อย่างไร
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาแล้วเห็นว่า สามารถกระทำได้ เนื่องจากไม่เป็นการต้องห้ามตามกฎหมายแต่จะต้องไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายกระทำการใด ๆ เพื่อเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือพรรคการเมือง
ในการนี้ ผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการ
การเลือกตั้ง www.ect.go.th หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักกฎหมายและคดี สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือสายด่วน 1444
————————-