22/11/2024

“ลุงป้อม” สั่งการ “กรมทะเลชายฝั่ง” เร่งกำหนดมาตรการทางกฎหมาย คุ้มครองวาฬบรูด้าจากกิจกรรมท่องเที่ยว พร้อมสำรวจติดตามแหล่งหญ้าทะเล ยกระดับความสมบูรณ์ของระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง

“ลุงป้อม” สั่งการ “กรมทะเลชายฝั่ง” เร่งกำหนดมาตรการทางกฎหมาย คุ้มครองวาฬบรูด้าจากกิจกรรมท่องเที่ยว พร้อมสำรวจติดตามแหล่งหญ้าทะเล ยกระดับความสมบูรณ์ของระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง

วันพุธที่ 19 เมษายน 2566 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2566 โดยมี นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปกท.ทส.) พร้อมด้วยนายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (รรท.อทช.) ดร.พรศรี สุทธนารักษ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตลอดจนคณะกรรมการฯ และผู้ทรงคุณวุฒิ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด


พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ (กทช.) กล่าวภายหลังการประชุมว่า การประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งนี้ ได้ร่วมกันพิจารณาเรื่องการกำหนดสถานีสำรวจติดตามสถานภาพทรัพยากรหญ้าทะเลประจำปีของประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยพบแหล่งหญ้าทะเลครอบคลุมพื้นที่ 17 จังหวัดชายฝั่ง โดยมีพื้นที่ประมาณ 160,628 ไร่ แบ่งออกเป็นฝั่งอ่าวไทย 54,148 ไร่ และฝั่งทะเลอันดามัน 106,480 ไร่ ซึ่งหญ้าทะเลถือเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเลเป็นอย่างยิ่ง เป็นทั้งแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของสัตว์ทะเล รวมถึงเป็นระบบนิเวศแรกที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทั้งที่เกิดจากมนุษย์และจากธรรมชาติ

จึงต้องมีการศึกษาสำรวจเพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลให้คงอยู่อย่างยั่งยืน โดยการกำหนดสถานีสำรวจติดตามสถานภาพแหล่งหญ้าทะเลประจำปีของประเทศไทย จำนวน 128 สถานี ตนได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) สำรวจติดตามสถานภาพฯ นอกเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเลและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า 80 สถานี และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) สำรวจติดตามสถานภาพฯ ในเขตอุทยานฯ 48 สถานี พร้อมทั้งได้กำชับให้กรม ทช. รวบรวมข้อมูลที่ได้จากการสำรวจดังกล่าวบรรจุในรายงานสถานการณ์ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และ การกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทยประจำปีอีกด้วย


นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าว่าภายในที่ประชุม พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะประธาน กทช. ได้แสดงความห่วงใยในเรื่อง “สัตว์ทะเลหายาก” เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งถือว่าเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญและมีความจำเป็นต้องเร่งหาแนวทางในการอนุรักษ์ไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “วาฬบรูด้า” ซึ่งกำลังได้รับความสนใจและเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว การท่องเที่ยวชมวาฬบรูด้าได้สร้างรายได้ให้กับชุมชนและประเทศปีละประมาณ 26.7 ล้านบาท มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมมากกว่า ปีละ 8,000 คน มีผู้ประกอบการการท่องเที่ยวและเรือนำเที่ยวมากกว่า 38 ลำ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดผลกระทบกับวาฬบรูด้า เนื่องจากวาฬบรูด้าเป็นสัตว์ที่ไม่ชอบการถูกรบกวน แต่จากการที่มีเรือนำเที่ยวเข้าไปเที่ยวชมเป็นประจำทุกวัน ทำให้วาฬเกิดความคุ้นเคย

ซึ่งหลายครั้งพบว่าเรือนำเที่ยวเข้าไปใกล้ในระยะที่อาจเป็นอันตราย หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบและรบกวนพฤติกรรมของวาฬในธรรมชาติ ซึ่งนอกจากจะประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ และสร้างความเข้าใจให้ผู้ประกอบการแล้ว ควรมีมาตรการทางกฎหมายในการคุ้มครองวาฬบรูด้าจากกิจกรรมการท่องเที่ยว ตนจึงมอบหมายให้ รรท.อทช. ติดตามและกำชับหน่วยงานในสังกัดให้ดำเนินการตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายและให้เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ โดยให้ออกเป็นประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง มาตรการคุ้มครองวาฬบรูด้าจากกิจกรรมท่องเที่ยว พ.ศ. … ต่อไป

นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รรท.อทช. กล่าวเสริมว่า กรม ทช. ได้ดำเนินการศึกษารวบรวมข้อมูลสถานการณ์สภาพปัญหาและผลกระทบจากการท่องเที่ยวชมวาฬบรูด้า พร้อมทั้ง ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ จากการประชุมมีความเห็นให้กำหนดมาตรการคุ้มครองวาฬบรูด้าจากกิจกรรมท่องเที่ยวเพื่อให้เป็นกติกาที่มีผลบังคับตามกฎหมาย ทั้งนี้ ตนจะเร่งดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายตามแนวนโยบายของรัฐบาลและ กทช. อย่างเต็มกำลังความสามารถ รวมถึงส่งเสริมการมีส่วนร่วม สร้างเครือข่าย ขยายความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อนำไปสู่การอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในทุกมิติ

 

ข่าวที่น่าติดตาม