กาฬสินธุ์ องคมนตรีเชิญสิ่งของพระราชทานมอบแก่ราษฎรที่ประสบวาตภัยพื้นที่กาฬสินธุ์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการเกิดเหตุวาตภัยในพื้นที่ จังหวัดกาฬสินธุ์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้องคมนตรี ร่วมกับมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เชิญสิ่งของพระราชทาน เครื่องอุปโภคบริโภค ไปมอบแก่ราษฎรที่ประสบวาตภัย
วันที่ 22 เมษายน 2566) เวลา 09.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อมให้ นายอำพน กิตติอำพน องคมนตรี ไปประชุมรับฟังการบรรยายสรุปสถานการณ์เหตุวาตภัยในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลหนองแวง อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยมีนายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวรายงานสถานการณ์ของการเกิดวาตภัยในพื้นที่ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ นายกอบจ.กาฬสินธุ์ นายกอบต.หนองแวง ผู้นำชุมชน และประชาชนให้การต้อนรับ
จากนั้น ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้นายอำพน กิตติอำพน องคมนตรี ร่วมกับมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เชิญสิ่งของพระราชทาน เครื่องอุปโภคบริโภค จำนวน 682 ชุด มอบแก่ราษฎรที่ประสบวาตภัย ณ หอประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลหนองแวง เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ราษฎร โอกาสนี้ องคมนตรี ได้เชิญพระราชกระแสทรงห่วงใยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ไปกล่าว กับราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการเกิดเหตุวาตภัยให้รับทราบ กับทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมมอบอาหารว่างและเครื่องดื่มพระราชทานให้แก่ราษฎรที่ประสบวาตภัย
และที่เดินทางมารับสิ่งของพระราชทาน ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่มาให้ความช่วยเหลือ ราษฎรต่างปลื้มปีติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น
จากนั้นองคมนตรี ได้เยี่ยมหน่วยแพทย์พระราชทาน และเชิญสิ่งของพระราชทานให้กับประชาชนที่ประสบวาตภัย ณ บ้านเรือนราษฎร จำนวน 5 ชุด ได้แก่ นางทองสา ไชยพิลา เลขที่ 81 ม.1 ต.หนองแวง นายบุญถม ผลสวิง เลขที่ 184 ม.1 ต.หนองแวง นายวิไล ฤทธิ์รุ่ง เลขที่ 223 ม.1 ต.หนองแวง นายสุเตียง น้อยหลุบเลา เลขที่ 233 ม.1 ต.หนองแวง และนางพุททา ไพบูลย์ เลขที่ 245 ม.1 ต.หนองแวง
สำหรับจังหวัดกาฬสินธุ์ เกิดเหตุวาตภัยเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2566 มีความเสียหายเกิดขึ้นรวม 7 อำเภอ 18 ตำบล 82 หมู่บ้าน ประชาชนเดือดร้อน 690 ครัวเรือน มีบ้านเรือนราษฎรเสียหาย บางส่วน 687 หลัง โรงเรือนเก็บพืชผลทางเกษตร 1 แห่ง คอกสัตว์ 1 แห่ง ยุ้งข้าว 5 แห่ง และ โรงเรียน 2 แห่ง ซึ่งพื้นที่อำเภอสมเด็จ มีบ้านเรือนของประชาชนได้รับความเสียหายมากที่สุด รวม 513 หลัง