การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนอกราชอาณาจักรในกรณีใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนทางไปรษณีย์
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนอกราชอาณาจักรในกรณีใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนทางไปรษณีย์
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ย้ำผู้มีสิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ต้องติดตามข้อมูลข่าวสารทางสื่อสังคมออนไลน์ อาทิเช่น Facebook Page ของสถานเอกอัครราชทูตที่ตนพำนักอยู่ ว่าได้กำหนดวิธีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ด้วยวิธีการใด และได้กำหนดระยะเวลาการออกเสียงลงคะแนนไว้อย่างไร ทั้งนี้เนื่องจากในแต่ละประเทศที่ตนมีสิทธิเลือกตั้งอย่างใกล้ชิด เนื่องจากแต่ละประเทศจะกำหนดให้มาใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนแตกต่างกันไปตามความเหมาะสมของประเทศนั้น เช่น บางประเทศเปิดให้ลงคะแนนทางไปรษณีย์หรือบางประเทศมีการเปิดคูหาที่สถานเอกอัครราชทูต หรือสถานกงสุลใหญ่ และสถานที่อื่นๆ
ซึ่งในกรณีการใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งทางไปรษณีย์เอกอัครราชทูตจะส่งบัตรเลือกตั้งทั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และแบบบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง รวม 2 บัตร พร้อมเอกสารรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งและรายชื่อพรรคการเมืองไปให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และซองเปล่าอีก 2 ซอง คือ
1. ซองใส่บัตรเลือกตั้ง (ส.ส. 5/2) ซึ่งเป็นซองขนาดเล็ก สำหรับใส่บัตรเลือกตั้ง โดยเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายได้จ่าหน้าซองพร้อมรหัสเขตเลือกตั้ง 5 ตัว (ซึ่งไม่ใช่รหัสไปรษณีย์) โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องนำ
บัตรเลือกตั้งที่ (กากบาท) ลงคะแนนเลือกตั้งแล้วทั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และแบบบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง ทั้ง 2 บัตร พับใส่ในซอง แล้วปิดผนึก
2. ซองใส่เอกสาร (ส.ส. 5/21 (นร)) ซึ่งเป็นซองขนาดใหญ่ สำหรับใส่ซองบัตรเลือกตั้ง
(ตามข้อ 1) และใส่สำเนาหลักฐานที่ใช้ประกอบการลงคะแนนเลือกตั้งที่ได้ลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้อง เช่น สำเนาหนังสือเดินทาง สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน เป็นต้น บรรจุในซองใส่เอกสาร พร้อมกับปิดผนึกและลงลายมือชื่อกำกับตรงรอยต่อผนึกแล้วส่งคืนแก่เอกอัครราชทูตภายในเวลาที่กำหนด
3. หลังจากสถานเอกอัครราชทูต หรือผู้ได้รับมอบหมายได้รับซองใส่เอกสาร (ตามข้อ 2) กลับคืนจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งแล้วโดยกรรมการประจำที่เลือกตั้งจะลงลายมือชื่อกำกับตรงรองต่อผนึกเพื่อมาคัดแยกเป็นรายจังหวัดและรายเขตเลือกตั้ง แล้วใส่ในถุงวัสดุใสในถุงเมล์การทูตหรือหีบบัตรเลือกตั้งเพื่อนำส่งไปนับคะแนน ณ สถานที่นับคะแนนของแต่ละเขตเลือกตั้งในจังหวัดที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน
ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยประการใด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้ที่สถานเอกอัครราชทูต และสถานกงสุลใหญ่ ของแต่ละประเทศที่ตนพำนักอยู่เพื่อรักษาสิทธิของท่านในการออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566
————————–