22/11/2024

เชียงใหม่ -เศรษฐกิจภาคเหนือ ไตรมาส 1 ปี 2566 ชะลอลงเล็กน้อย แม้ฟื้นตัวดีในช่วงต้นปี

เชียงใหม่ -เศรษฐกิจภาคเหนือ ไตรมาส 1 ปี 2566 ชะลอลงเล็กน้อย แม้ฟื้นตัวดีในช่วงต้นปี

เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2566 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ (ธปท. สภน.) โดยนางพรวิภา ตั้งเจริญมั่นคง ผู้อำนวยการอาวุโส แถลงข่าว “ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือ ไตรมาส 1/2566” โดยภาพรวมภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือไตรมาส 1/2566 ชะลอลงเล็กน้อย แม้ฟื้นตัวดีในช่วงต้นปี แต่ชะลอลงหลังพ้นฤดูกาลท่องเที่ยว ประกอบกับสถานการณ์หมอกควันในช่วงปลายไตรมาส กระทบการท่องเที่ยวและบริโภค อย่างไรก็ดี ภาพรวมเศรษฐกิจยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว

ภาคท่องเที่ยวชะลอลง จากนักท่องเที่ยวไทยปรับลดลงหลังเร่งจัดกิจกรรมไปในไตรมาสก่อนและเทศกาลท่องเที่ยวหมดลง รวมทั้งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์หมอกควันในช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค. สะท้อนจากอัตราการเข้าพัก และการเดินทางทางอากาศปรับลดลง ด้านนักท่องเที่ยวต่างชาติยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตามการเพิ่มเที่ยวบินตรงและการเปิดประเทศของจีน โดยส่วนใหญ่เป็นชาวเกาหลีใต้ จีน ไต้หวัน และมาเลเซีย ซึ่งได้ประโยชน์จากเที่ยวบินตรงมายังเชียงใหม่

รายได้เกษตรกรขยายตัวต่อเนื่อง จากด้านผลผลิตที่ปรับดีขึ้น ทั้งข้าวนาปรังและอ้อยโรงงาน ตามปริมาณน้ำชลประทานและสภาพอากาศเอื้ออำนวย ด้านราคาชะลอลงจากราคาอ้อยโรงงาน ส่วนหนึ่งจากฐานสูงในปีก่อน และปริมาณอ้อยไฟไหม้เพิ่มขึ้นทำให้ราคารับซื้อลดลง อย่างไรก็ดี ราคาข้าว และมันสำปะหลังเพิ่มขึ้นตามความต้องการจากต่างประเทศ

ด้านผลผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับดีขึ้น จากการผลิตหมวดอาหารที่ขยายตัวหลังจากปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบเกษตรคลี่คลาย และความต้องการยังมีต่อเนื่อง

ด้านหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ปรับดีขึ้นจากชิ้นส่วนยานยนต์ ส่วนการผลิตเพื่อส่งออกกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย อาทิ เฟอร์นิเจอร์ ผลิตภัณฑ์ไม้ เซรามิก และกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ยังหดตัวตามอุปสงค์คู่ค้าที่ชะลอตัว

การบริโภคภาคเอกชนปรับดีขึ้น แม้การใช้จ่ายหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคลดลงบ้างจากสถานการณ์หมอกควันในพื้นที่ แต่การใช้จ่ายหมวดบริการโดยรวมยังขยายตัวจากการเร่งตัวในช่วงต้นปี

นอกจากนี้ หมวดสินค้าคงทนปรับดีขึ้นจากความต้องการรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์ รวมถึงการส่งมอบที่ปรับตัวดีขึ้น การลงทุนภาคเอกชนหดตัว ตามการนำเข้าสินค้าทุน จากผลของฐานสูงในปีก่อนที่โรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มีการเร่งนำเข้า

ขณะที่ทิศทางการลงทุนในหมวดยานยนต์และเครื่องจักรกลปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน ประกอบกับการลงทุนก่อสร้างปรับดีขึ้น สะท้อนจากยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง การใช้จ่ายภาครัฐกลับมาขยายตัว ตามการเบิกจ่ายที่เพิ่มขึ้นทั้งงบประจำและงบลงทุน

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจภาคเหนือ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากไตรมาสก่อน ตามหมวดอาหารสดและพลังงาน ตลาดแรงงานฟื้นตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนมาตรา 33 ในระบบประกันสังคมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และจำนวนผู้ว่างงานที่ปรับลดลง

แนวโน้มเศรษฐกิจภาคเหนือไตรมาส 2/2566 อยู่ในทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับสู่ภาวะปกติ ประกอบกับตลาดแรงงานปรับดีขึ้นต่อเนื่อง และรายได้เกษตรกรขยายตัวดี เป็นปัจจัยสนับสนุนการบริโภคแม้มีแรงกดดันจากค่าครองชีพที่ยังสูง ด้านนักท่องเที่ยวต่างชาติยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง การผลิตภาคอุตสาหกรรมคาดว่าขยายตัวจากอุตสาหกรรมอาหาร แต่กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยยังคงฟื้นตัวได้ช้าตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

ประเด็นที่ต้องติดตาม(1)การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและต้นทุน(2)อุปสงค์ต่างประเทศที่อาจชะลอตัวมากกว่าคาด(3)ความเสี่ยงจาก ภาวะแล้งที่เพิ่มขึ้น

มาตรการทางการเงินและภัยการเงิน แม้กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมฟื้นตัวเข้าใกล้ระดับก่อนการแพร่ระบาดของโควิด 19 แล้ว แต่ยังไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะในภาคบริการบางสาขาที่ยังมีกิจกรรมในระดับต่ำ ดังนั้น ธปท. ร่วมกับกระทรวงการคลัง โดยความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี จึงมีมติให้

(1) ขยายระยะเวลามาตรการสินเชื่อฟื้นฟู รวมถึงสินเชื่อเพื่อการปรับตัว ต่อไปอีก 1 ปี จนถึงวันที่ 9 เม.ย. 2567
(2) ไม่ขยายอายุโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ เนื่องจากเห็นว่ากลุ่มผู้ประกอบการที่มีอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกันกับสถาบันการเงินโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม เริ่มฟื้นตัวจากการเปิดประเทศแล้ว อย่างไรก็ดี ลูกหนี้ยังสามารถเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินได้
(3) โอนวงเงินคงเหลือของโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ หลังสิ้นสุดมาตรการ มารวมไว้เป็นวงเงินภายใต้มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูต่อไป
นอกจากนี้ คลินิกแก้หนี้ปรับเกณฑ์คุณสมบัติให้ลูกหนี้ที่มีหนี้ที่ไม่มีหลักประกันที่ค้างชำระมากกว่า 120 วันขึ้นไป สามารถเข้าร่วมโครงการได้ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2566 เป็นต้นไป

ในช่วงนี้ จะเห็นภัยการเงินใกล้ตัวเรามากขึ้น จึงมี 3 เรื่องที่ประชาชนต้องรู้ หลังจาก พรก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี มีผลบังคับใช้ คือ 1) เมื่อถูกหลอกหรือมีเหตุสงสัยว่าตกเป็นเหยื่อ ให้รีบแจ้งธนาคารต้นทางทันทีผ่านเบอร์ศูนย์รับแจ้งเหตุ hotline หรือที่สาขา เพื่อให้ระงับธุรกรรมชั่วคราว ซึ่งช่วยตัดตอนเส้นทางการโอนเงินได้ไม่เกิน 72 ชั่วโมง และให้รีบแจ้งตำรวจโดยเร็ว โดยหากพบว่ามีการกระทำความผิดจริง ตำรวจจะแจ้งให้ธนาคารสามารถระงับธุรกรรมต่อไปได้ 2) โทษบัญชีม้าและซิมม้าหนักขึ้น ต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 3) หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งธนาคาร ตำรวจ DSI ปปง. และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์และโทรคมนาคมสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันโดยไม่ติดข้อกฎหมายด้านข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ทั้งนี้เพื่อช่วยลดบัญชีม้า และซิมม้า ป้องกันหรือจำกัดความเสียหาย และช่วยเหลือได้รวดเร็ว รวมถึงป้องกันมิจฉาชีพเข้าถึงประชาชนและติดตามลงโทษผู้กระทำผิด

ธปท. ยังมีมาตรการป้องกันความเสี่ยงและปิดช่องโหว่ภัยการเงิน ตามมาตรการจัดการภัยธุรกิจทางการเงิน โดย ธปท. ได้กำหนดแนวปฏิบัติขั้นต่ำให้ทุกสถาบันการเงินปฏิบัติตาม เช่น งดส่งลิงก์ผ่าน SMS และอีเมล ปิด SMS และเบอร์ call center ที่แอบอ้างเป็นธนาคาร ปิดเว็บไซต์หลอกลวง เพื่อลดช่องทางที่มิจฉาชีพจะเข้าถึงประชาชน และเพิ่มความมั่นใจในการใช้บริการทางการเงินดิจิทัล ประชาชนสามารถโทรแจ้งเหตุได้ตลอด 24 ชั่วโมง ที่เบอร์ศูนย์รับแจ้งเหตุภัยทางการเงินจากมิจฉาชีพ ซึ่งเผยแพร่ทางเว็บไซต์ ธปท.

นอกจากนี้ ธปท. ขอเตือนภัยการเงินจาก 1) มิจฉาชีพหลอกลงทุน ทั้งแอบอ้างสร้างความน่าเชื่อถือด้วยการใช้โลโก้ธนาคาร หน่วยงานรัฐ หลอกล่อให้อยากลงทุนด้วยผลตอบแทนสูงเกินจริง ได้ผลตอบแทนช่วงแรก และลงทุนเพิ่มอีก จากนั้นจึงบ่ายเบี่ยง ไม่จ่ายผลตอบแทน อ้างระบบมีปัญหา และหนีหายไป 2) มิจฉาชีพแอบอ้างชื่อ

ผู้ให้บริการทางการเงินที่ได้รับอนุญาตจาก ธปท. โดยประชาชนสามารถตรวจสอบรายชื่อแอปและชื่อผู้ให้บริการ จากเว็บไซต์ ธปท. ในหัวข้อ “เช็กแอปเงินกู้” และยังมีลิงก์ไปยังเว็บไซต์กระทรวงการคลัง ซึ่งรวบรวมรายชื่อผู้ให้บริการสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ไว้ในที่เดียว
<https://www.bot.or.th/Thai/ConsumerInfo/Fraud/Pages/BOTLicensedLoan.aspx>

ขอย้ำว่า ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ได้ยกเลิกการส่งลิงก์ให้ประชาชนคลิกหรือกรอกข้อมูลแล้ว หากได้รับ SMS หรือไลน์แอบอ้างชื่อธนาคารพาณิชย์ส่งลิงก์ให้ ให้สงสัยไว้ก่อนว่าเป็นมิจฉาชีพ และในส่วนของ ธปท. ก็ไม่มีการติดต่อประชาชนให้ติดตั้งแอปพลิเคชันบนมือถือเพื่อโอน หรือโทรศัพท์เพื่อขอให้แชร์หน้าจอทุกกรณี อย่าหลงเชื่อ ไม่กด ไม่โอน และปกป้องข้อมูลส่วนตัว
นภาพร/เชียงใหม่