พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมสัมมนาพนักงานสอบสวนและทีมสหวิชาชีพ พัฒนาความรู้ด้านกฎหมายแรงงานที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมสัมมนาพนักงานสอบสวนและทีมสหวิชาชีพ พัฒนาความรู้ด้านกฎหมายแรงงานที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์
วันนี้ (8 พ.ค.66) เวลา 09.30 น. พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ในฐานะ ผอ.ศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง (ศพดส.ตร.) ได้เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมสัมมนาพนักงานสอบสวนและทีมงานสหวิชาชีพ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการคุ้มครองแรงงานต่างด้าว และการป้องกันการละเมิดสิทธิตามกฎหมายแรงงาน อันจะนำไปสู่ปัญหาการค้ามนุษย์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 รุ่นที่ 5 ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมรับการอบรมประกอบด้วยพนักงานสอบสวน เจ้าหน้าที่แรงงาน และเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ จำนวน 100 คน เข้าร่วมการสัมมนาเพื่อพัฒนาศักยภาพความรู้ในครั้งนี้
การอบรมสัมมนาเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายแรงงานเกี่ยวเนื่องกับการค้ามนุษย์ในครั้งนี้ นับเป็นรุ่นที่ 5 จากการจัดการอบรมสัมมนามาแล้วทั่วประเทศ ซึ่งปีนี้ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกระทรวงแรงงาน ให้จัดการอบรมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงานต่างด้าว ซึ่งมักตกเป็นเหยื่อของการบังคับใช้แรงงานและการละเมิดสิทธิต่างๆ ในการทำงาน นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ปฏิบัติงานซึ่งจะทำให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานสามารถบูรณาการร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อันจะนำไปสู้การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ระดับประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับแนวทางการแก้ไขในระดับสากล
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า การอบรมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายแรงงานที่เกี่ยวเนื่องกับการค้ามนุษย์นี้ สืบเนื่องมาจากการที่ประเทศไทยในปัจจุบัน พบปัญหาเกี่ยวกับการบังคับใช้แรงงานซึ่งนำไปสู่การค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นเหตุที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่แรงงาน และเจ้าหน้าที่สหวิชาชีพ ต้องมีความเข้าใจในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้ความช่วยเหลือคุ้มครองแรงงานต่างด้าว มิให้ถูกเอารัดเอาเปรียบหรือละเมิดสิทธิที่มิควรเป็น จึงได้จัดการอบรมสัมมนาเจ้าหน้าที่ร่วมกันในครั้งนี้ ซึ่งในปีงบประมาณนี้จัดอบรมไปแล้ว 5 รุ่น ทั่วประเทศ และในอนาคตจะมีการจัดการอบรมเช่นนี้อีก เพื่อให้ครอบคลุมกับเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ทั่วประเทศ ให้มีสามารถบูรณาการร่วมกันในการบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะเป็นผลดีต่อภาพรวมในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของประเทศไทยในระดับสากล