ชุมพร – ผู้ว่าฯชุมพร ตรวจเยี่ยมหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงในจังหวัดชุมพร
ชุมพร – ผู้ว่าฯชุมพร ตรวจเยี่ยมหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงในจังหวัดชุมพร
[embedyt] https://www.youtube.com/watch?v=a1mbd4uxf3g[/embedyt]
วันนี้(27 พ.ค. 66) ที่ท่าอากาศยานชุมพร ตำบลชุมโค อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร นายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง โดยมีนายเจริญโชค พรหมชุติมา นายอำเภอปะทิว และหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมลงพื้นที่ให้กำลังใจเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง ที่สนับสนุนการปฏิบัติภารกิจการทำฝนหลวงในพื้นที่จังหวัดชุมพร เพื่อช่วยเหลือพี่น้องชาวชุมพรในสถานการณ์ภัยแล้ง โดยจังหวัดชุมพร ร่วมกับ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ นำโดยนายสินชัย พึ่งตำบล ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ ดำเนินการตั้งศูนย์อำนวยการฝนหลวงที่ท่าอากาศยานชุมพร อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่จังหวัดชุมพร โดยจะเริ่มบินตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2566 เป็นต้นไป จนกว่าจังหวัดชุมพรจะพ้นวิกฤตภัยแล้ง
สำหรับจังหวัดชุมพรมีพื้นที่ทั้งหมด 3.75 ล้านไร่ เป็นพื้นที่การเกษตร 2.5๖ ล้านไร่ เป็นแหล่งผลิตไม้ผลที่มีชื่อเสียงของประเทศ โดยเฉพาะทุเรียน มังคุด และเป็นศูนย์กลางการตลาดทุเรียนของภาคใต้ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดชุมพร ปี 2563 มีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาประจำปีเท่ากับ 125,364 ล้านบาท เป็นลำดับที่ 5 ของภาคใต้ และลำดับที่ 23 ของประเทศ มีการผลิตภาคเกษตรเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัด โดยเฉพาะการผลิตทุเรียน ปาล์มน้ำมันและยางพารา มูลค่าผลิตภัณฑ์จังหวัดต่อหัวเท่ากับ 250,823 บาทต่อคนต่อปี เป็นลำดับที่ 1 ของภาคใต้ และลำดับที่ 12 ของประเทศ โดยจังหวัดชุมพรมีแหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญแยกตามลุ่มน้ำได้ 5 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำคลองท่าตะเภา ลุ่มน้ำคลองชุมพร ลุ่มน้ำคลองสวี-คลองตะโก ลุ่มน้ำคลองหลังสวน ลุ่มน้ำคลองละแม มีพื้นที่ในเขตชลประทานรวม 226,635 ไร่ ซึ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมาจังหวัดชุมพร ไม่เคยประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงหรือประสบภัยแล้งที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของราษฎรในจังหวัด แต่ในปี 2566จังหวัดชุมพรได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ จากปรากฏการณ์เอลนิโญ่ ส่งผลให้เกิดสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานานในหลายพื้นที่ของจังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่ปลูก ไม้ผลที่ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง
สำนักงานเกษตรจังหวัดชุมพร รายงานว่า มีพื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในปี 2566 จำนวน 261,296 ไร่ คาดว่าจะเสียหายจำนวน 69,831 ไร่ และหากสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงยังคงดำเนินต่อไปคาดว่าพื้นที่การเกษตรจะยิ่งได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรง ดังนั้น เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาดังกล่าวจังหวัดชุมพรร่วมกับกรมฝนหลวงและการบินเกษตรกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงในจังหวัดชุมพรขึ้นเป็นการเฉพาะกิจ เพื่อปฏิบัติการทำฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบภัยแล้งและเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนในพื้นที่จังหวัดชุมพร
ธนากร โกศลเมธีรายงาน 0818923514