23/11/2024

ปทุมธานี มทร.ธัญบุรี จับมือ สพฐ. พัฒนาครูทั่วประเทศ 15,000 ราย ด้วยเทคโนโลยีเมตาเวิร์ส

ปทุมธานี มทร.ธัญบุรี จับมือ สพฐ. พัฒนาครูทั่วประเทศ 15,000 ราย ด้วยเทคโนโลยีเมตาเวิร์ส

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2566 รศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) เผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับทาง มทร.ธัญบุรี ได้ดำเนินโครงการ “การพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้รูปแบบ Metaverse โลกเสมือนจริง สู่ห้องเรียนเสมือนจริง” โดยมีเป้าหมายที่ต้องการจะส่งเสริม และพัฒนาความรู้ด้านนวัตกรรมที่รองรับการศึกษาแห่งอนาคต ให้กับครู
ในทุกระดับการศึกษาตั้งแต่ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา เพื่อให้ครูสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้กับการสร้างห้องเรียน หรือสร้างบทเรียนรูปแบบ Metaverse โลกเสมือนจริงให้กับผู้เรียน ให้พร้อมรับกับโลกแห่งอนาคต ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำคัญที่มุ่งพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้มีศักยภาพในการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้รูปแบบ Metaverse

รวมถึงสามารถบูรณาการใช้เครื่องมือในการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้รูปแบบ Metaverse ให้เข้ากับ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ตลอดจนสามารถสร้างสื่อการสอนด้าน Metaverse เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนการสอน ให้มีความน่าสนใจและสอดคล้องกับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โดยโครงการที่จัดขึ้นนี้มุ่งเน้นการพัฒนาและการเสริมทักษะทางด้านเทคโนโลยีแก่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัด สพฐ. ใน 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวนมากกว่า 15,000 ราย จากนั้นได้จัดกิจกรรมฝึกอบรมด้วยหลักสูตรพิเศษ แล้วจึงให้ครูทำผลงานด้าน Metaverse เพื่อส่งเข้าประกวด โดยทางโครงการจะเป็นผู้พิจารณาคัดเลือกครูจำนวน 1,500 ราย เข้าอบรมด้วยหลักสูตรเฉพาะทางต่อไป พร้อมทั้งจัดให้เข้าสอบมาตรฐานสากล หลักสูตร Microsoft Certified Educator: MCE ซึ่งเป็นการทดสอบความรู้ทางเทคโนโลยี สำหรับนักการศึกษาระดับกลางที่ถูกต้อง เชื่อถือได้ตามกรอบแนวคิดการออกแบบการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 และเป็นการการันตี ความสามารถด้านเทคโนโลยีอีกด้วย


ด้าน ผศ.ดร.พงศ์พิชญ์ ต่วนภูษา รองอธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าวเสริมว่า Metaverse เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมของโลกแห่งความจริงและเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน จนกลายเป็นชุมชนโลกเสมือนจริง และมีบทบาทมากยิ่งขึ้น ครูผู้สอนหรือบุคลากรทางการศึกษา จึงจำเป็นต้องรู้จัก เข้าใจ และประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการจัดการเรียนการสอนในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งโครงการที่เกิดขึ้นนี้ได้รับความสนใจจากครูผู้สอนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก และได้จัดให้มีพิธีมอบรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวดผลงาน รวมถึงมอบรางวัล แก่ครูที่มีผลงานดีเด่น Top Ten จาก 8 กลุ่มสาระ รวม 80 ราย และรางวัล Top Ten ในแต่ละกลุ่มสาระ รวม 8 ราย ณ ศูนย์นวัตกรรมและความรู้ มทร.ธัญบุรี ดีดีมอลล์ จตุจักร เชื่อมั่นว่าโครงการนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นแรงบันดาลใจในการพัฒนาและเสริมทักษะ รวมถึงต่อยอดเทคโนโลยีนำไปปรับใช้ในการเรียนการสอนต่อไป และขอขอบคุณ สพฐ. ที่มอบทุนสนับสนุนในโครงการที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้


ขณะที่ นายฐณรินทร์ หวายฤทธิ์ธนกุล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สพฐ. กล่าวว่า โครงการการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้รูปแบบ Metaverse โลกเสมือนจริงสู่ห้องเรียนเสมือนจริง หรือเรียกสั้น ๆ ว่า Metaverse Go to School เราได้ร่วมกันกับทาง มทร.ธัญบุรี เพื่อทำให้โครงการเกิดขึ้นเป็นรูปเป็นร่าง เป็นกระบวนการพัฒนาอย่างเป็นระบบ ภายใต้มาตรฐาน โดยมุ่งเน้นไปที่ครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้ได้สัมผัส เรียนรู้ รู้จัก เข้าใจขอบเขตความสามารถและประโยชน์ต่อการนำไปใช้ บูรณาการในรายวิชา สามารถเลือกเครื่องมือเพื่อมาต่อยอดสำหรับการพัฒนาหรือเสริมกิจกรรมการเรียนรู้ กระตุ้นและสร้างความสนใจ อีกทั้งจูงใจให้ผู้เรียน เกิดการมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ กระทั่งเกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเองในท้ายที่สุด และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการนี้จะได้รับการสนับสนุน ต่อยอดและขยายความสำเร็จ เพื่อเป็นต้นแบบ เป็นแนวทางต่อการพัฒนาการศึกษาของประเทศต่อไปได้

ภาพ/ข่าว ประภาพพรณ ขาวขำ/รายงาน

ข่าวที่น่าติดตาม