เชียงใหม่-เอ็นไอเอ ร่วม ม.แม่โจ้ เปิดเวทีโชว์ศักยภาพ 10 สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีชีวภาพตั้งเป้าพลิกโฉมภาคเกษตรไทย ในงาน AgBioTech Incubation 2023 Demo Day
เชียงใหม่-เอ็นไอเอ ร่วม ม.แม่โจ้ เปิดเวทีโชว์ศักยภาพ 10 สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีชีวภาพตั้งเป้าพลิกโฉมภาคเกษตรไทย ในงาน AgBioTech Incubation 2023 Demo Day
วันที่ 27 ตุลาคม 2566 สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA และเครือข่ายหน่วยงานพันธมิตรทั้งย่านนวัตกรรมเกษตรและอาหารแม่โจ้ สถาบันนวัตกรรมเกษตรเพื่ออุตสาหกรรมสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่ายชีววิทยาสังเคราะห์ หรือ SynBio Consortium เปิดเวทีเป็นครั้งแรกให้ 10 สตาร์ทอัพสายเกษตรที่ผ่านการและพัฒนาศักยภาพอย่างเข้มข้นตลอดระยะเวลา 4 เดือน ภายใต้โครงการ AgBioTech Incubation 2023 ซึ่งเป็นโปรแกรม การเรียนรู้และฝึกปฏิบัติที่เฉพาะเจาะจงสำหรับสตาร์ทอัพสายเกษตรด้านเทคโนโลยีวภาพ ผนวกความร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรชั้นนำและที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ด้วยการลงมือปฏิบัติทดสอบแนวคิดและสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบโจทย์ปัญหาในภาคการเกษตรของประเทศ สร้างให้เกิดสตาร์ทอัพสายเกษตรรายใหม่ในระบบนิเวศ ก่อให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้า เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรไทยได้อย่างยั่งยืน
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาซน) กล่าวว่า “ภาคเกษตร”เป็นหนึ่งในอุตสากรรมเป้าหมายของ NIA เนื่องจากมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย โดยที่ผ่านมา NIA มุ่งเร่งสร้างและพัฒนาให้เกิดสตาร์ทอัพด้านเกษตรที่จะเป็นผู้สร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่เกษตรกรให้สามารถนำไปใช้งานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผ่านเครือข่ายความร่วมมือภายใต้การดำเนินงาน Accelerator Program และ Incubator Program เพื่อเร่งการเติบโตของธุรกิจและช่วยบ่มเพาะธุรกิจด้านการเกษตรให้มีโอกาสขยายตลาดให้เติบโตมากขึ้น ตลอดจนได้รับการร่วมลงทุน ซึ่งจะเห็นได้ว่าในปัจจุบันนานาชาติมีการนำเทคโนโลยีเชิงลึกมาใช้ในภาคการเกษตรเพิ่มขึ้น โดยมีการประยุกต์ใช้ทั้งเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีชีวภาพ หุ่นยนต์ และบล็อกเชน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและควบคุมคุณภาพการผลิตภาคเกษตรได้ดีขึ้น แต่สำหรับประเทศไทยยังมีไม่ถึง 15 ราย ดังนั้น จึงได้ริเริ่มโครงการ “AgBioTech Incubation 2023”
ขึ้น โดยมุ่งสร้างสตาร์ทอัพสายเกษตรรายใหม่ที่ใช้ทั้งเทคโนโลยีเชิงลึกและเทคโนโลยีชีวภาพเข้าสู่ระบบนิเวศให้มากขึ้น เพื่อนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาประยุกต์ให้เกิดแนวทางใหม่ในการแก้ไขปัญหาภาคการเกษตร เนื่องจากประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพการแข่งขันด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร เนื่องจากเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงเป็นอันดับ 8 ของโลก (อันดับ 3 ของอาเซียน) มีนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านนี้มากกว่า 900 ท่าน และมีผลงานวิจัยและ
พัฒนาในระยะ 5 ปี มากกว่า 2,500 ผลงาน
ทั้งนี้ จากข้อมูลของ AgFunder ในปี พ.ศ. 2565 พบว่า สตาร์ทอัพสายเกษตรด้านเทคโนโลยีชีวภาพเป็นสาขาที่มีมูลค่าการระดมทุนของทั่วโลกสูงถึง 79 พันล้านบาท แต่ในประเทศไทยยังมีมูลค่าเพียง
90 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.10 ของการลงทุนระดับโลกเท่านั้น ทำให้ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ดังนั้นNIA จึงเร่งส่งเสริมและสร้างให้เกิดสตาร์ทอัพสายเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีชีวภาพรายใหม่เข้าสู่ระบบนิเวศนวัตกรรมเทคโนโลยี เชิงลึกให้เพิ่มมากขึ้นผ่านโครงการนี้
รองศาสตราจารย์ ดร. วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้รับการสนับสนุนจากNIA และความร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และเทศบาลท้องถิ่นในการผลักดันและพัฒนา “ย่าน นวัตกรรมเกษตรและอาหารแม่โจ้” ให้กลายเป็น “ซิลิคอนวัลเลย์ด้านนวัตกรรมการเกษตรของไทย” และในปีนี้ได้ร่วมดำเนิน
“โครงการพัฒนาสตาร์ทอัพด้านการเกษตรที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพในระยะเริ่มต้นธุรกิจ” หรือ “AgBioTech Incubation” ซึ่งประกอบด้วย 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1) กิจกรรมพัฒนาที่ปรึกษาเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร ด้วยการ พัฒนาศักยภาพอาจารย์ นักวิจัย หรือผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตรให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการสร้างแนวคิดและทักษะการเป็นผู้ประกอบการ และเข้าใจการพัฒนาบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพทาง
การเกษตรให้กับอาจารย์ 42 ท่านจาก 15 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ 2) กิจกรรมพัฒนาสตาร์ทอัพสายเกษตรที่ประยุกต์ใช้ เทคโนโลยีชีวภาพ โดยมุ่งเน้นการบ่มเพาะผ่านกิจกรรมฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ การให้คำปรึกษาเชิงลึก และ การเป็นพี่เลี้ยงให้กับนักศึกษา นักวิจัยภาครัฐ หรือศิษย์เก่าจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ โดยมี 10 ทีมสตาร์ทอัพที่ผ่านการคัดเลือกมานำเสนอรูปแบบธุรกิจของผลิตภัณฑ์และบริการ ได้แก่ So Mush: การผลิตเชื้อเห็ดบริสุทธิ์แบบน้ำ MYCO GARDEN HOME: สารเสริมการเติบโตในพืชเศรษฐกิจมูลค่าสูงและไม้ดอกไม้ประดับจากอาร์บัสคูลาร์ไมคอร์ไรซ่า MaxBoost: สารป้องกันเชื้อวิบริโอและเชื้อไวรัสหัวเหลืองจากกลุ่มแอนไทเซนส์เสถียร Pure Plus: หัวเชื้อจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพสูงด้วยลำแสงไอออนพลังงานต่ำเพื่อยับยั้งและป้องกันเชื้อโรคเหี่ยวเน่าในพืชเศรษฐกิจ
Sentech Plus: สารชีวภัณฑ์ป้องกันการติดเชื้อแบบองค์รวมในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจาก Bacteriophages Bio Solution: ควบคุมศัตรูพืชด้วยศัตรูธรรมชาติ Gen- A-Tech: ระบบตรวจสอบเพศของพืชและลักษณะพิเศษด้านการเกษตรด้วย DNA Maker PLANTBIO:การผลิตสารสำคัญเชิงหน้าที่เพื่อใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางด้วยเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเซลล์พืช EverFresh:ผลิตภัณฑ์ไบโอโมเลกุลเปปไทด์สำหรับยืดอายุการเก็บรักษาสินค้าเกษตร และHappy Plant: ไมคอร์ไรซ่าที่มีความบริสุทธิ์ สูงจากระบบเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อเพิ่มอัตราการรอดเมื่อปลูกลงดิน และ 3) กิจกรรมสร้างให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือด้าน เทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร ผ่านการประสานงานและเชื่อมโยงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชนสถาบันการศึกษา และนักลงทุน ในการร่วมทำงานกับสตาร์ทอัพ”
นายธนารักษ์ พงษ์เภตรา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร กล่าวสนับสนุนว่า “ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพระดับแนวหน้าในการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารส่งออกอันดับที่ 13 ของโลก มีมูลค่าสูงถึง 1.3 ล้านล้านบาท ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาปรับใช้ เพื่อลดการสูญเสียและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมากขึ้น สตาร์ทอัพ
สายเกษตรจึงมีความสำคัญกับประเทศเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกมาแก้ปัญหาที่ซับซ้อนในภาคเกษตรทั้งในประเทศและขยายการใช้งานไปต่างประเทศ เพื่อรองรับความมั่นคงทางด้านอาหาร โดยโครงการนี้ได้สนับสนุนการเชื่อมต่อกับองค์กรที่มีเครือข่ายครอบคลุมอุตสาหกรรมการเกษตรของไทย เช่น อ้อย มะม่วง การเพาะเลี้ยงกุ้ง ทำให้สตาร์ทอัพเกิดการความเข้าใจที่แท้จริงในการประยุกต์นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปใช้แก้ปัญหาทางการเกษตร และเกิดการ
พัฒนาที่มีประสิทธิภาพตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมเกษตร ซึ่งจะทำให้สตาร์ทอัพสามารถขยายตลาดและเติบโตได้อย่างรวดเร็วขึ้น”
“AgBioTech Incubation 2023 เป็นการพัฒนาสตาร์ทอัพด้านเกษตรรายใหม่ ด้วยกระบวนการบ่มเพาะแบบเข้มข้น ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ซึ่งทั้ง 10 ทีมมีเทคโนโลยี นวัตกรรม โซลูชั่นที่โดดเด่น และสามารถตอบโจทย์การแก้ปัญหาให้กับภาคการเกษตรได้อย่างแท้จริง ที่เป็นความหวังของภาคการเกษตรไทย ให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้าและเป็นตัวขับเคลื่อนนวัตกรรมการเกษตรของประเทศให้เติบโตต่อไป” ดร. กริชผกา กล่าวทิ้งท้าย
พร้อมกันนี้ได้มีพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการเครือข่ายการขับเคลื่อนเทคโนโลยีเชิงลึกด้านการเกษตร (AgBiotech Consortium)ในงาน AgBioTech Incubation 2023 Demo Day “เปลี่ยนไอเดีย ต่อยอดเป็นธุรกิจ เพื่อแก้ปัญหาให้ภาคเกษตรสู่การเติบโต”อีกด้วย
พัฒนชัย/เชียงใหม่