สุโขทัย-“เรือบก” ประเพณีเก่าแก่ วิถีถิ่นมรดกทางวัฒนธรรมศรีสัชนาลัย
สุโขทัย-“เรือบก” ประเพณีเก่าแก่ วิถีถิ่นมรดกทางวัฒนธรรมศรีสัชนาลัย
ในช่วงเทศกาลออกพรรษาของแต่ละปี จะมีการแข่งขันชนิดหนึ่ง ที่ชาวบ้านเรียกว่า การแข่งขันเรือบก ซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวศรีสัชนาลัย จะจัดขึ้นในวัดที่ไม่ได้มีพื้นที่ติดกับริมแม่น้ำยม ประกอบด้วยวัดชัยสิทธาราม และวัดเชิงคีรี(วัดตีนเขา) การแข่งขันเรือบกนั้นมีหลายประเภท ประกอบด้วย ประเภทสวยงาม ประเภทความคิดสร้างสรรค์ ประเภทตลกขบขัน และประเภทเรือเร็ว
การแข่งขันเรือบก ริเริ่มขึ้นในสมัยหลวงพ่อนาคสังวโร ซึ่งเป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดชัยสิทธาราม เมื่อราวปี พ.ศ. 2520 จะจัดในช่วงเทศกาลออกพรรษา เป็นการละเล่นพื้นบ้านที่มุ่งเน้นสร้างความสามัคคี ความร่วมแรงร่วมใจให้กับชุมชน โดยชาวบ้านจะรวมตัวกัน ตกแต่งเรือบก หากเป็นประเภทสวยงาม บางลำก็ใช้กระดาษฉลุลาย บ้างก็ใช้ทางมะพร้าวนำมาถักเรียงร้อยเป็นลำเรือ หรือบางลำก็เป็นหยวกกล้วยฉลุลายสวยงาม บางลำเป็นไม้อัดนำมาแกะสลักประดับตกแต่งด้วยดอกไม้ใบไม้ในท้องถิ่น ให้สวยงามแล้วแต่ประเภทที่จะส่งแข่งขัน ส่วนมากจะเป็นชาวบ้าน ที่เป็นรุ่นหนุ่ม สาว มาร่วมกันรำ ร้อง ขณะแข่งขัน การแข่งก็ใช้ลานด้านหน้าวัด ขีดเส้นเสมือนเป็นร่องน้ำ
แล้วเรือแต่ละลำที่ลงแข่งขันก็จะประจำร่องน้ำของตนเอง ขยับเดินหน้าโดยก้าวเท้าพร้อมกัน มีการร่ายรำและร้องเพลงประกอบระหว่างเดินหน้าไปเรื่อย ๆ การให้คะแนนจะพิจารณาที่ความสวยงามของผู้เข้าร่วมแข่งขัน การประดับตกแต่งลำเรือที่สวยงาม ท่าร่ายรำที่พร้อมเพรียงและสวยงาม เนื้อร้อง ทำนองเพลงที่เข้าจังหวะกับการก้าวเดินของผู้ร่วมทีม ประเภทความคิดสร้างสรรค์ จะพิจารณาเป็นพิเศษเกี่ยวกับรูปแบบการนำเสนอล้อเลียนการเมือง ละครดัง ในแต่ละยุคแต่ละสมัย ประเภทตลกขบขัน เกณฑ์ให้คะแนน จะเน้นทีมที่เรียกเสียงหัวเราะจากผู้ชมได้มากที่สุด สร้างรอยยิ้มและความคิดในการนำเสนอให้ถูกใจผู้ชมรอบ ๆ สนาม
หลังจากหลวงพ่อนาคสังวโรมรณภาพ เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2527 ประเพณีเรือบกก็ค่อย ๆ เลือนหายไปจากชุมชนท่าชัย และพึ่งจะรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2555 การแข่งขันเรือบก นอกจากจะเป็นการสืบสานประเพณีอันดีงามแล้ว ชาวบ้านยังมีโอกาสได้ทำกิจกรรมร่วมกัน แสดงออกถึงความรัก ความสามัคคีในชุมชน รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย ได้มีโอกาสมาพบปะกัน เพราะช่วงเวลาที่ไม่มีเทศกาล ก็ต่างคนต่างทำมาหากิน พบเจอกันบ้าง แต่ไม่ได้มีโอกาสทำกิจกรรมร่วมกัน
ประเพณีการแข่งขันเรือบก นับได้ว่าเป็นการแสดงออกถึงความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ ระหว่างเทศบาล วัด ชุมชนและโรงเรียน ในการร่วมกันรื้อฟื้น อนุรักษ์ และสืบสานประเพณีอันดีงามให้กลับฟื้นคืนอีกครั้ง เพื่อสร้างความรัก ความสามัคคี สร้างความสนุกสนาน สร้างรอยยิ้มให้กับชุมชน เพื่อแสดงออกถึงเอกลักษณ์ วิถีถิ่นของคนศรีสัชนาลัย ซึ่งประเพณีนี้จะเป็นมรดกทางวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่นสืบไป