23/11/2024

ทำไม ? สพฐ. ต้องจัดสภานักเรียนทั่วประเทศทุกๆปี

ทำไม ? สพฐ. ต้องจัดสภานักเรียนทั่วประเทศทุกๆปี

//จากการปรับโครงสร้างการบริหารงานกระทรวงศึกษาธิการ ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งถือเป็นกฎหมายการศึกษาฉบับแรกของไทยที่กำหนดแนวทางการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน แก่ประชาชนชาวไทยให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ มาตรา 10 ระบุว่า “การจัดการศึกษาต้องจัดให้บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอกัน ในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี” เพื่อเป็นการตอบสนองตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2540 และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ กรมสามัญศึกษา และกรมวิชาการ เป็นหน่วยงานที่จะต้องมารวมกันเป็นสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จากการรวมหน่วยงาน “กิจกรรมเสียงแห่งอนาคต” กรมสามัญศึกษาเป็นผู้ดำเนินการ จึงเปลี่ยนเป็น “กิจกรรมสภานักเรียน” ดำเนินงานโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 ถึงปัจจุบัน มีบางปีที่ไม่ได้จัดกิจกรรมตามสถานการณ์บ้านเมือง

“สภานักเรียน” จึงเป็นกิจกรรมที่ฝึกให้นักเรียนได้เรียนรู้บทบาท หน้าที่ตนเอง ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ถูกต้อง นักเรียนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการเรียนรู้ การทำงานร่วมกับสังคม ตั้งแต่สังคมระดับเล็ก ครอบครัว โรงเรียน ชุมชน จนถึงสังคมใหญ่ระดับประเทศ ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น เคารพกฎ กติกา มีความเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี รู้บทบาทหน้าที่ความเป็นพลเมืองตามวิถีประชาธิปไตย ได้แก่ คารวธรรม สามัคคีธรรม และปัญญาธรรม มีจิตอาสา ใช้หลักธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ เพื่อให้เติบโตเป็นพลเมืองดีของประเทศชาติ

ปี 2567 เป็นอีกปีหนึ่งที่ “สพฐ.” ได้จัดสภานักเรียนอย่างต่อเนื่อง ระหว่างวันที่ 10-13 มกราคม 2567 ณ โรงแรมเดอะพาลาสโซ กรุงเทพฯ โดยมี นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการอบรมสัมมนาสภานักเรียน ระดับประเทศ ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด “สภานักเรียน สพฐ. สานต่อแนวคิดที่สร้างสรรค์ เรียนรู้อย่างเท่าทัน มุ่งมั่นพัฒนาประชาธิปไตย” โดย นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อพัฒนานักเรียนให้เรียนรู้บทบาทหน้าที่ตามวิถีประชาธิปไตย กิจกรรมสภานักเรียนจะช่วยให้นักเรียนเกิดความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ทางสังคม มีกลไกกระบวนการดำเนินงานของสภานักเรียน รวมทั้งการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการในโรงเรียน ด้วยกระบวนการอย่างสร้างสรรค์ นักเรียน ทุกคนได้รับการปลูกฝังทัศนคติ ค่านิยมความเป็นประชาธิปไตย

ด้าน น.ส.อรอนงค์ อุทารเวสารัช รอง ผอ.สำนักพัฒนากิจกรรมนักเรียน สพฐ. กล่าวว่า สำหรับปี 2567 ผู้เข้ารับการอบรมสัมมนาเป็นตัวแทนสภานักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4 หรือ มัธยมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 78 คน พร้อมครูที่ปรึกษาสภานักเรียน จำนวน 78 คน จากทุกจังหวัดทั่วประเทศ คณะวิทยากรและคณะทำงาน จำนวน 66 คน รวมทั้งสิ้น 222 คน สำหรับการอบรมสัมมนาในครั้งนี้ มีกิจกรรมประกอบด้วย 1) สภานักเรียนกับความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย 2) การเรียนทำให้มีงานทำ กิจกรรมทำให้ทำงานเป็น รวมทั้งกฎหมายที่เด็กและเยาวชนควรรู้ 3) ทักษะที่จำเป็นสำหรับนักเรียนในยุคดิจิทัล 4) ประวัติศาสตร์กับความรุ่งเรืองในยุคปัจจุบัน 5) การเลือกตั้งคณะกรรมการสภานักเรียน ระดับประเทศ ประจำปี พ.ศ. 2567

พร้อมกันนี้ สภานักเรียน สพฐ. ได้มีการเลือกตั้งประธานสภานักเรียน ระดับประเทศ ประจำปี 2567 โดยได้รับความอนุเคราะห์การจัดกระบวนการเลือกตั้งเสมือนจริงจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. มาแนะนำสาธิตการเลือกตั้งแบบอัตโนมัติ (ชนิดกดแทนกากบาท) เพื่อการเลือกตั้งตามหลักประชาธิปไตย จนสามารถเลือกประธานสภานักเรียน สพฐ.คนใหม่ ประจำปี 2567 ได้แก่ นายธาม พิพัฒน์รัตนกุล (น้องธาม) นักเรียนโรงเรียนสันกำแพง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เชียงใหม่ พร้อมเสนอวิสัยทัศน์การนำหลักการของการขับเคลื่อนสภานักเรียน สู่สภานักเรียนในระดับเขตพื้นที่การศึกษา/สถานศึกษา ด้วยหลัก 4ว. (วาจา/วิสัยทัศน์/เวลา/วางตัว) 2ท. (ทักษะ/ทัศนคติ) 1อ. (โอกาส)

ซึ่งการจัดอบรมสัมมนาในครั้งนี้ ยังได้สรุปประเด็นแนวคิดและความต้องการของเด็กและเยาวขน สานต่อแนวทางที่สร้างสรรค์ เรียนรู้อย่างเท่าทัน มุ่งมั่นประชาธิปไตย เพื่อเสนอต่อคณะรัฐบาล ในวันเด็กแห่งชาติ วันเสาร์ที่ 13 มกราคม 2567 ต่อไป

///ทีมข่าวเครือข่าย ปชส.สพฐ.(เฉพาะกิจ) -รายงาน

ข่าวที่น่าติดตาม