23/11/2024

กาฬสินธุ์ทอดผ้าป่าตั้งธนาคารขยะรีไซเคิลแก้ปัญหาขยะล้นเมือง

สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภาคีเครือข่าย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดกิจกรรมโครงการผ้าป่าขยะรีไซเคิล เพื่อสนับสนุนการจัดตั้งธนาคารขยะรณรงค์สร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และจิตสำนึกให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการลดปริมาณขยะ เพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการแก้ปัญหาขยะล้นเมือง พร้อมตั้งเป้าท้องถิ่นมีการจัดตั้งธนาคารขยะให้ครบทุกแห่งอย่างน้อย 1 อปท. 1 ธนาคารขยะ ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2567

 


วันที่ 19 มกราคม 2567 ที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา หน้าศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์ (หลังเก่า) นายสนั่น พงษ์อักษร ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานจัดกิจกรรมโครงการผ้าป่าขยะรีไซเคิล เพื่อสนับสนุนการจัดตั้งธนาคารขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จ.กาฬสินธุ์ ประจำปี 2567 โดยมีนายธวัชชัย รอดงาม รองผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ นายผดุงศักดิ์ อิ่มเอิบ ปลัด จ.กาฬสินธุ์ พ.จ.ต.สำเนียง หวังเจริญ ท้องถิ่น จ.กาฬสินธุ์ นางเฉลิมขวัญ หล่อตระกูลนายก อบจ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยอัยการ หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอทุกอำเภอ ผู้บริหารองค์กรครองส่วนท้องถิ่น นักเรียน นักศึกษา ร่วมงานเป็นจำนวนมาก
โดยกิจกรรมนายสนั่น พงษ์อักษร ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ ได้นำผู้ร่วมงานทุกคนจากส่วนราชการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกว่า 1,500 คน ที่ได้นำขยะรีไซเคิลและขยะทุกประเภทมาร่วมในงาน ได้จัดริ้วขบวนและร่วมแห่ขยะรีไซเคิล

นำโดยขบวนนางรำและเซิ้งกลองยาว จากบริเวณหน้าศาลาลางจังหวัดหลังเก่า มารวบรวมภายในหอประชุม จากนั้นประกอบพิธีทางสงฆ์ พิธีถวายผ้าป่าขยะรีไซเคิลสามัคคี รูปแบบเหมือนการทำบุญทอดผ้าป่าสามัคคีทั่วไป บรรยากาศเต็มไปด้วยสีสัน และความคึกคักเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆยังนำขยะที่ผ่านการคัดแยกมาขายนำรายได้เข้ากองทุนอีกด้วย
นายสนั่น พงษ์อักษร ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า กิจกรรมโครงการผ้าป่าขยะรีไซเคิลเป็นการสนับสนุนการจัดตั้งธนาคารขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จ.กาฬสินธุ์ สืบเนื่องจากขยะมูลฝอยในปัจจุบันเพิ่มมากขึ้นและนับวันจะทวีความรุนแรงเรื่อยๆ จนก่อให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และอาจนำมาซึ่งปัญหาด้านสุขภาพอนามัยของประชาชน ถือเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมด้วยช่วยกันลดปริมาณขยะให้น้อยลง โดยการคัดแยกขยะให้ถูกวิธี รับผิดชอบในการบริหารจัดการขยะมูลฝอย ที่แหล่งกำเนิดที่ต้นทางด้วยตนเอง


นายสนั่นกล่าวอีกว่า การขับเคลื่อนเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีการจัดตั้งธนาคารขยะให้ครบทุกแห่ง อย่างน้อย 1 อปท. 1 ธนาคารขยะ ภายในเดือน กุมภาพันธ์ 2567 ตามที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด และให้มีการขยายผลให้ครบทุกหมู่บ้าน/ชุมชน ภายในปี 2567 เป็นวิธีการหนึ่งที่จะสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้มีการบริหารจัดการขยะในพื้นที่ของตนอย่างครบวงจร ซึ่งในการบริหารจัดการขยะเปียก เราได้มีการคัดแยกและทิ้งลงถังขยะเปียกลดโลกร้อนครบทุกครัวเรือนแล้ว ต่อไปขยะรีไซเคิลก็นำไปขายเพื่อสร้างรายได้ จะเหลือแต่ขยะทั่วไปที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องเก็บ และนำไปกำจัดตามอำนาจหน้าที่ ทำให้ประหยัดงบประมาณของทางราชการในการจัดเก็บขยะ ประชาชนมีรายได้จากการจัดตั้งธนาคารขยะ


“รวมทั้งเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนคัดแยกขยะรีไซเคิลในครัวเรือน และสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นำแนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยภายใต้หลักการ 3 Rs คือ ใช้น้อย (Reduce) ใช้ซ้ำ (Reuse) นำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) และรณรงค์สร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และจิตสำนึกให้ประชาชนมากขึ้น ที่มีส่วนร่วมในการลดปริมาณขยะ เพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการขยะที่ยั่งยืนต่อไป” นายสนั่นกล่าว
ด้าน พ.จ.ต.สำเนียง หวังเจริญ ท้องถิ่น จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า กิจกรรมนี้เริ่มจากมอบหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งใน จ.กาฬสินธุ์ ทั้ง 18 อำเภอ รวบรวมและคัดแยกขยะที่มีมูลค่ามาจำหน่ายภายในงาน โดยจะมีผู้ประกอบการมารับซื้อถึงที่ ในราคาซื้อขายที่เป็นธรรม และเป็นราคากลางตามท้องตลาด นกจากนี้ยังมีการจัดขบวนขวนแห่ผ้าป่าขยะสามัคคี มีการแต่งกายด้วยชุดแฟนตาซี และผลิตภัณฑ์สิ่งของเครื่องใช้ เครื่องประดับ ที่ได้จากการการแปรรูปขยะ จากนั้นร่วมถวายผ้าป่าขยะและปัจจัยไทยทาน เพื่อความเป็นสิริมงคล


พ.จ.ต.สำเนียง กล่าวอีกว่า สำหรับกองบุญผ้าป่าขยะรีไซเคิลสามัคคี เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่จะช่วยขับเคลื่อนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ทุกแห่ง จัดตั้งธนาคารขยะครบทุกแห่งภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ดังกล่าว และนำไปสู่การบริหารจัดการขยะที่ยั่งยืนต่อไป และนอกจากนี้ในปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้จัดทำโครงการปลูกต้นไม้ 720,000 ต้น เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติแด่พระองค์ จึงได้ขอความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งได้ ให้ความร่วมมือในการปลูกต้นไม้ยืนต้นบริเวณถังขยะเปียกลดโลกร้อนทุกครัวเรือนที่มีการจัดทำถังขยะเปียกด้วย ซึ่งจะเป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ของชาวกาฬสินธุ์สืบต่อไปอีกด้วย

ข่าวที่น่าติดตาม