22/11/2024

พิจิตร-ชลประทานพิจิตรใช้แพสูบน้ำต่อท่อส่งน้ำช่วยข้าวนาปรังกว่า1หมื่นไร่พื้นที่ลุ่มน้ำยมรอดภัยแล้ง

พิจิตร-ชลประทานพิจิตรใช้แพสูบน้ำต่อท่อส่งน้ำช่วยข้าวนาปรังกว่า1หมื่นไร่พื้นที่ลุ่มน้ำยมรอดภัยแล้ง
สถานการณ์ภัยแล้งเริ่มคุกคามพื้นที่การเกษตรเมืองชาละวันแต่นาข้าวฝั่งตะวันตกของลุ่มน้ำยมในพื้นที่ 2 ตำบล นาข้าวกว่า 1 หมื่นไร่ ที่เป็นข้าวนาปรัง 1 เกษตรกรยิ้มหน้าบาน ปีนี้น้ำในแม่น้ำยมโดยการบริหารจัดการของชลประทานพิจิตร ที่มีฝายไฮดรอลิก พับได้ช่วยกักเก็บน้ำในแม่น้ำยม โดยให้กลุ่มผู้ใช้น้ำช่วยกันบริหารจัดการแพสูบน้ำด้วยพลังงานไฟฟ้าสูบน้ำส่งตามคลองซอยและส่งตามระบบท่อให้เปิดก๊อกน้ำทำนาและได้เก็บเกี่ยวผลผลิตแน่นอน ส่วนแกนนำเกษตรกรให้ข้อมูลนาปรัง 2 ทำแล้วไม่คุ้ม จึงควรหยุดเป็นการพักหน้าดิน

วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 นายเอกฉัตร เอี่ยมตาล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพิจิตร ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่นาข้าวฝั่งตะวันตกลุ่มน้ำยมที่ทำนาปรัง 1 ซึ่งขณะนี้ข้าวกำลังตั้งท้องออกรวงและต้องใช้น้ำเพื่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว เพราะข้าวนาปรัง 1 ฤดูกาลนี้จะเก็บเกี่ยวภายในเดือน มีนาคม 67 นี้ ดังนั้นแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรจึงได้ประสานงานกับกลุ่มผู้ใช้น้ำที่ใช้น้ำจากสถานีสูบน้ำด้วยพลังงานไฟฟ้าที่มีอยู่ในแม่น้ำยมกว่า 10 แห่ง ในพื้นที่ ต.สามง่าม ต.กำแพงดิน อ.สามง่าม ครอบคลุมพื้นที่นาข้าวกว่า 1 หมื่นไร่ ซึ่งขณะนี้เกษตรกรมีการจัดรอบเวรเพื่อส่งน้ำไปตามคลองซอยและส่งน้ำไปตามระบบท่อให้ถึงแปลงนาที่อยู่ห่างจากแพสูบน้ำประมาณ 2 กม. ให้ได้สามารถมีน้ำหล่อเลี้ยงต้นข้าวด้วยวิธีเปิดก๊อกน้ำทำนาได้อย่างไม่ขาดแคลน

โดย นายอำนาจ เขียวพุ่มพวง กำนันตำบลสามง่าม ซึ่งเป็นประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่ดังกล่าวได้ให้ข้อมูลว่า ปีนี้ปริมาณน้ำในแม่น้ำยมมีเพียงพอให้แพสูบน้ำได้สูบน้ำหล่อเลี้ยงต้นข้าวครอบคลุมพื้นที่นาข้าวกว่า 1 หมื่นไร่ ซึ่งมั่นใจว่าอีกไม่เกิน 1 เดือน ชาววนาแถบนี้ก็จะเกี่ยวข้าวนาปรัง 1 แล้วเสร็จ ในส่วนของการที่จะทำนาปรังรอบ 2 คือต้องเริ่มต้นปลายเดือน มี.ค. – เม.ย. –พ.ค. ซึ่งเป็นช่วงฤดูแล้งฤดูร้อน ต้นทุนการสูบน้ำจะมีสูงมากซึ่งไม่คุ้มกับการลงทุน ซึ่งจากการประชุมกลุ่มชาวนา 90% บอกว่าจะไม่ทำนาปรังรอบ 2 ทั้งนี้เพราะสู้อากาศร้อนและค่าไฟฟ้าสูบน้ำไม่ไหว รวมถึงจะได้เป็นการพักหน้าดินตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่อีกด้วย สำหรับเกษตรกรผู้ใช้น้ำด้วยแพสูบน้ำดัวพลังงานไฟฟ้าจะต้องเสียค่าบริการหรือร่วมด้วยช่วยกันจ่ายค่าไฟฟ้าไร่ละ 150 บาท ต่อ 1 ฤดูกาลทำนา ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติและข้อตกลงของกลุ่มผู้ใช้น้ำที่บริหารจัดการตนเองร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ช่วยสนับสนุนอีกด้วย

นายเอกฉัตร เอี่ยมตาล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพิจิตร กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำยมกรมชลประทานกักเก็บน้ำด้วยประตูระบายน้ำซึ่งในอนาคตแม่น้ำยมจะมีประตูระบายน้ำจาก ปตร.ท่านางงาม พิษณุโลก , ปตร.กำแพงดิน , ปตร.สามง่าม , ปตร.วังจิก (ยังสร้างไม่เสร็จมีปัญหาผู้รับเหมาทิ้งงาน) , ปตร.โพธิ์ประทับช้าง (กำลังดำเนินการก่อสร้าง) , ฝายยางพญาวัง , ฝายยางบางคลาน ซึ่งคาดว่าเร็วๆนี้จะสร้างเสร็จสมบูรณ์พื้นที่ลุ่มน้ำยมนาข้าวอีกหลายหมื่นไร่ก็จะสามารถมีน้ำทำนาปี ,นาปรัง ได้อย่างอุดมสมบูรณ์ แต่ก็ยอมรับว่าพื้นที่ฝั่งตะวันออกของพิจิตรแถบ อ.สากเหล็ก , อ.วังทรายพูน ,อ.ทับคล้อ ,อ.ดงเจริญ , อ.บางมูลนาก(บางตำบล) ที่อยู่นอกเขตชลประทานพื้นที่ดังกล่าวนี้ยังคงประสบกับปัญหาหากเกษตรกรทำนาปรังอีกด้วย

สิทธิพจน์/พิจิตร

 

ข่าวที่น่าติดตาม