22/11/2024

ชุมพร – รับมือภัยแล้งก่อนทุเรียนขาดน้ำ ยืนต้นตายเหมือนปีที่ผ่านมา

ชุมพร – รับมือภัยแล้งก่อนทุเรียนขาดน้ำ ยืนต้นตายเหมือนปีที่ผ่านมา


ศูนย์ฝนหลวงเข้ารับฟังปัญหาภัยแล้ง เตรียมส่งเครื่องบินปฏิบัติการช่วยเหลือเกษตรกร


เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 3 เม.ย.67 นายสินชัย พึ่งตำบล ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ พร้อมด้วยหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงชุมพร อาสาสมัครฝนหลวงชุมพร ประชาสัมพันธ์กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เข้ารับฟังปัญหาภัยแล้ง กลุ่มทุเรียนแปลงใหญ่บ้านบางกลอย ม.9 ต.หงษ์เจริญ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร โดยมีนายสุรพศ สุวรรณรักษา ประธานกลุ่มทุเรียนฯ นายธีระศักดิ์ ยมสวัสดิ์ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัด นายจักรขจร มณฑิราช ผู้ทรงคุณวุฒิสภาเกษตรกร นายเจริญ อาจประดิษฐ์ สมาชิกสภาเกษตรกรและผู้ช่วย ส.ส.สันต์ แซ่ตั้ง เกษตรอำเภอท่าแซะ หัวหน้าหน่วยทับอินทนิล เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อุทยาน เสด็จในกรม กรมหลวงชุมพร ด้านทิศเหนือ (ตอนล่าง) ตัวแทนเกษตรกรชาวสวนทุเรียน ตำบลหงษ์เจริญ ตำบลรับร่อ ตำบลสลุย และตำบลสองพี่น้อง เข้าร่วมให้ข้อมูลสภาพปัญหาภัยแล้ง


นายสินชัย พึ่งตำบล ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้รับหนังสือจากสภาเกษตรกรจังหวัดชุมพร ขอรับการสนับสนุนการทำฝนหลวงแก้ไขปัญหาภัยแล้ง จึงเดินทางมารับฟังปัญหาภัยแล้งพื้นที่ปลูกทุเรียน เพื่อจะได้ปฏิบัติการฝนหลวงให้เกิดประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างถูกต้อง แม่นยำตามความต้องการของเกษตรกร อีกทั้งจังหวัดชุมพรไม่มีอ่างเก็บน้ำซึ่งได้เคยเสนอในที่ประชุมกับชลประทานจังหวัดว่า ให้สร้างแหล่งเก็บน้ำไว้ให้มากพอ ที่จะรับน้ำจากการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อบริหารจัดการน้ำให้เกษตรกรได้ต่อเนื่อง
นายสุรพศ สุวรรณรักษา ประธานกลุ่มทุเรียนแปลงใหญ่บ้านบางกลอย เปิดเผยว่า ปัจจุบันเกิดปัญหาสภาพอากาศร้อนมาก บางครั้งมีความร้อนอยู่ระหว่าง 35-40 องศาเซลเซียส น้ำที่มีอยู่เกิดเป็นไอระเหยทำให้ระดับน้ำที่กักเก็บลดลงอย่างรวดเร็ว ห้วย หนอง คลอง บึง และสระเก็บน้ำแห้ง ไม่มีน้ำเพื่อการเกษตร ที่สำคัญคือทุเรียนซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัดชุมพร จึงต้องการให้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ เข้ามาช่วยเหลือให้เร็วขึ้นกว่าแผนเดิมที่มีอยู่


นายธีระศักดิ์ ยมสวัสดิ์ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดชุมพร กล่าวว่า ต้องการให้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง เข้าดำเนินการในพื้นที่โซนเหนือของจังหวัดก่อน เพราะโซนใต้ยังมีปัญหาเรื่องดอกทุเรียนกับดอกมังคุด เพราะกลัวจะเกิดความเสียหายหากฝนตกลงมาช่วงนี้ และต้องการให้เกษตรกรสร้างธนาคารน้ำใต้ดินเพื่อเก็บน้ำให้เกิดความชุ่มชื้น หัวหน้าจุดสกัดทับอินทนิน กล่าวว่า ขณะนี้ในพื้นที่อนุรักษ์น้ำแห้ง เกรงว่า ช้างป่าอาจจะออกมาหากินนอกเขต และเกรงว่าจะเกิดปัญหาไฟป่า นายเจริญ อาจประดิษฐ์ ผู้ช่วย ส.ส.สันต์ แซ่ตั้ง เผยความคืบหน้าจากการประสานงานสร้างฝายเก็บน้ำขนาดใหญ่ทับอินทนิน ขณะนี้ ชลประทานที่ 14 ได้ส่งนายช่างและผู้อำนวยการพิจารณาโครงการเข้ามาดูสภาพพื้นที่เพื่อดูความเป็นไปได้ในการสร้างฝายทับอินทนิน และอยู่ระหว่างการพิจารณาโครงการ
ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ กล่าวว่า แต่เดิมปฏิบัติการทำฝนหลวงจะเข้ามาชุมพรวันที่ 20 เมษายน 67 แต่จากการมารับทราบข้อมูลในครั้งนี้ จะเร่งดำเนินงานให้การช่วยเหลือเกษตรกรให้เร็วขึ้นกว่าเดิม ซึ่งอาจส่งเครื่องจากหัวหิน หรือสุราษฎรธานี เข้ามาก้อนที่จะตั้งหน่วยชุมพร

ธนากร โกศลเมธีรายงาน 0818923514

ข่าวที่น่าติดตาม