23/11/2024

กาฬสินธุ์-ธรรมาภิบาลแฉกลางอากาศ ทวงกรมโยธาฯ เยียวยาสุขภาพจิต-เศรษฐกิจประชาชน ขยี้ซ้ำส่ออุ้มรับเหมาขาใหญ่ได้ทั้งเงินแถมงานไม่ต้องทำ

กาฬสินธุ์-ธรรมาภิบาลแฉกลางอากาศ ทวงกรมโยธาฯ เยียวยาสุขภาพจิต-เศรษฐกิจประชาชน ขยี้ซ้ำส่ออุ้มรับเหมาขาใหญ่ได้ทั้งเงินแถมงานไม่ต้องทำ

 

ชาวบ้าน และผู้ประกอบการใน จ.กาฬสินธุ์ ผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างท่อระบายน้ำป้องกันปัญหาน้ำท่วมเมืองฯ งบ 148 ล้านบาท ส่งสาส์นบอกผ่านความทุกข์ระทมต่อคณะกรรมการธรรมาภิบาล จ.กาฬสินธุ์ เพื่อให้ถึงหูนายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.กระทรวงมหาดไทย และอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กรณีได้รับความเดือดร้อน สุขภาพจิตเสีย ตัวบ้านแตกร้าว ธุรกิจค้าขายทุกอย่างขาดทุนย่อยยับ เศรษฐกิจในภาพรวมเสียหายกว่า 750 ล้านบาท ใครจะรับผิดชอบ ระบุต้องมีมาตรการเร่งรัดผู้รับเหมาออกมารับผิดชอบ อย่าปล่อยให้ลอยนวลเหมือนเสียค่าปรับจากการทำงานล่าช้าเกินกำหนดเป็น 0 บาท แล้วจะมาเมินเฉยจ่ายค่าชดเชยเยียวยาความเสียหายเป็น 0 บาทไม่ได้ ชาวบ้านไม่ยอมเด็ดขาด


จากกรณีประธานคณะทำงานเครือข่ายภาคประชาสังคมในการต่อต้านการทุจริต ปปท.เขต 4. จ.กาฬสินธุ์ และที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการ คณะกรรมาธิการ จ.กาฬสินธุ์ (กธจ.) พร้อมด้วยอนุกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน จ.กาฬสินธุ์ ติดตามความคืบหน้าแนวทางแก้ปัญหาโครงการรับเหมาก่อสร้างระบบท่อระบายน้ำแก้ปัญหาน้ำท่วมเมืองกาฬสินธุ์ งบ 148 ล้านบาท และอีก 7 โครงการงบประมาณรวมกว่า 500 ล้านบาท ขณะที่โยธาฯ จ.กาฬสินธุ์ เผยผลการประชุมคอนเฟอร์เรนซ์กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องของกรมโยธาธิการฯ สรุปเบื้องต้นยกเลิกสัญญา 1 โครงการ คือโครงการรับเหมาก่อสร้างระบบท่อระบายน้ำแก้ปัญหาน้ำท่วมเมืองฯ งบ 148 ล้านบาท ขณะที่ชาวบ้านเรียกร้องให้กรมโยธาฯ โชว์หลักฐานเลิกสัญญาต่อสาธารณชน รวมทั้งให้ขึ้นแบล็คลิสต์ และยกเลิกโครงการสร้างตลิ่งหน้าวัดใต้โพธิ์ค้ำ งบ 108 ล้านอีก 1 โครงการ เนื่องจากเป็นผู้รับเหมารายเดียวกัน และทำงานไม่เสร็จ เกินกำหนดสัญญาอีกด้วย


วันที่ 6 เมษายน 2567 นายชาญยุทธ โคตะนนท์ ประธานคณะทำงานเครือข่ายภาคประชาสังคมในการต่อต้านการทุจริต ปปท.เขต 4. จ.กาฬสินธุ์ และที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการ คณะกรรมาธิการ จ.กาฬสินธุ์ (กธจ.) กล่าวว่า ตามที่กรมโยธาฯ จะได้ยกเลิกสัญญาโครงการ 148 ล้าน และชาวบ้านต้องการให้กรมโยธาฯ ยกเลิกอีก 1 โครงการ งบ 108 ล้านบาทนั้น โดยทั้ง 2 โครงการงานยังไม่เสร็จ แต่ผู้รับเหมาซึ่งเป็นรายเดียวกันเบิกไปแล้วกว่า 130 ล้านบาท เป็นประเด็นที่ชาวบ้านชาวเมืองกาฬสินธุ์วิพากษ์วิจารณ์กันมาก และอยากจะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น เพื่อให้ภาพลักษณ์ของ จ.กาฬสินธุ์หลุดพ้นจากคำว่าเป็นเมืองที่กำลังจะพัฒนา ได้เจริญและก้าวข้ามปัญหาที่เต็มไปด้วยหลุม บ่อ วัสดุก่อสร้าง ที่ผ่านมา 5 ปีเต็ม เพื่อมุ่งไปสู่ความเจริญก้าวหน้า ตามจุดประสงค์ของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย ที่ได้จัดสรรงบประมาณลงมาเพื่อพัฒนาเมืองกาฬสินธุ์


นายชาญยุทธกล่าวอีกว่า หลังทราบว่าทางกรมโยธาฯ จะได้ยกเลิกสัญญากับผู้รับเหมาดังกล่าว ชาวเมืองกาฬสินธุ์ต่างรู้สึกดีใจมาก ที่จะได้ผู้รับเหมารายใหม่เข้ามาดำเนินการต่อให้แล้วเสร็จ แต่สิ่งที่คาใจชาวบ้านยังมีอีกหลายประเด็น ที่นอกจากอยากจะให้กรมโยธาฯ โชว์คำสั่งยกเลิกฯ อย่างเป็นทางการต่อสาธารณชนแล้ว ยังอยากจะทราบรายละเอียดต่างๆ เช่น จะมีการปรับเปลี่ยนสัญญาอย่างไร กำหนดระยะเวลาการก่อสร้างแค่ไหน งบประมาณเท่าไหร่ การควบคุมงานอย่างไร จะมีการปรับอะไรหรือไม่หากการทำงานไม่เป็นไปตามแผนงาน เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น เพราะเชื่อแน่ว่าไม่มีใครอยากให้ประวัติเลวร้ายซ้ำรอยอีก


“ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการธรรมาภิบาล จ.กาฬสินธุ์และเครือข่าย ที่ได้ติดตามการแก้ไขหา และสอดส่องการก่อสร้างทุกโครงการฯ ที่เป็นปัญหาอยู่ รวมทั้งจากการ “จัดรายการกรรมการธรรมาภิบาลพบประชาชน” ทาง สวท.กาฬสินธุ์ มีพี่น้องประชาชนโทรศัพท์เข้ามาสอบถาม และเสนอแนะข้อคิดเห็นกับโครงการก่อสร้างฯ และการยกเลิกสัญญา ของกรมโยธาฯ เป็นจำนวนมาก หลายเสียงยังต้องการอยากทราบ อยากเห็น ความชัดเจนของกรมโยธาฯ ในการยกเลิกสัญญาและขึ้นแบล็คลิสต์ผู้รับเหมาดังกล่าว และยังฝากประเด็นคำถามต่อเนื่องไปถึงในส่วนของการเยียวยาสภาพจิตใจ สภาพถนน อาคารบ้านเรือน และการเสียโอกาสสร้างรายได้ของผู้ประกอบการร้านค้าต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างด้วย มีลู่ทางที่ผู้ได้รับกระทบ จะได้รับการชดเชยหรือเยียวยาหรือไม่ ใครเป็นผู้รับผิดชอบตรงนี้ ผู้รับเหมาหรือกรมโยธา ฯ หรือจะให้ชาวบ้านไปร้องเรียนส่วนไหน เพื่อนำไปสู่กระบวนการบังคับให้มีการเยียวยาเกิดขึ้น” นายชาญยุทธกล่าว


นายชาญยุทธกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากนี้ ชาวบ้านยังฝากถามไปถึงนายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย และอธิบดีกรมโยธาฯว่า ในส่วนที่เบิกจ่ายไป 2 โครงการ คือโครงการก่อสร้างระบบท่อประปาป้องกันน้ำท่วมเมืองฯ งบ 148,200,000 บาท เบิกจ่าย 80,000,000 บาท โดยจะสิ้นสุดสัญญาวันที่ 25 ก.พ.68 และโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งหน้าวัดใต้โพธิ์ค้ำ งบ 108,800,000 บาท เบิกจ่าย 50,377,600 บาท สิ้นสุดสัญญาไปแล้ว 3 เดือน เมื่อวันที่ 5 ม.ค.67 ที่ผ่านมา รวมเบิกจ่ายไปทั้งหมด 130,377,600 บาท โดย 2 โครงการเป็นผู้รับเหมาเป็นรายเดียวกัน ที่จะถูกกรมโยธาฯยกเลิกสัญญานั้น ทางกรมโยธาฯ จะเรียกเก็บคืนเข้าแผ่นดินหรือไม่ ชาวบ้านอยากทราบ


“จึงส่งสาร์นแห่งความทุกข์ระทมของชาวบ้าน ที่ จ.กาฬสินธุ์ รวมทั้งข้อสงสัยผ่านคลื่น สวท.กาฬสินธุ์ เพื่อให้ไปถึงหูนายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย รวมทั้งอธิบดีกรมโยธาฯด้วย เพราะชาวบ้าน ผู้ประกอบการ เดือดร้อนจริงๆ เศรษฐกิจพังเสียหายจริงๆ ทราบว่าผู้รับเหมามีตัวตน ต้องแสดงสปิริตรับผิดชอบในสิ่งที่ตนเองก่อขึ้น เบิกเงินไปใช้กว่า 130 ล้าน สบายตัวแล้วอย่าลอยนวย ขอให้หันกลับมาดูชาวบ้านตาดำๆที่เขาเดือดร้อนบ้าง แล้วคุณก็จะได้รับการอภัยจากสังคมและคนกาฬสินธุ์ เพราะคนกาฬสินธุ์มีความเอื้อเฟื้อโอบอ้อมอารี มีน้ำใจ พร้อมที่จะให้อภัยเสมอ” นายชาญยุทธกล่าวในที่สุด

ข่าวที่น่าติดตาม