22/11/2024

(สุรินทร์)ชาวบ้านแห่ร่วมงานคับคั่ง งานประเพณีปราสาทภูมิโปน ส่องเลขเด็ดในพิธีบวงสรวงแบบเขมรโบราณ

(สุรินทร์)ชาวบ้านแห่ร่วมงานคับคั่ง งานประเพณีปราสาทภูมิโปน ส่องเลขเด็ดในพิธีบวงสรวงแบบเขมรโบราณ

 

ที่ บริเวณปราสาทภูมิโปน ตำบลดม อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ นายล้ำเลิศ พัวพัฒนโชติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุรินทร์ เขต6 นายอภิวัฒน์ พัวภัทรพงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนตําบลดม นางสาวณิชาภา พัวพัฒนโชติ สมาชิกสภาจังหวัดสุรินทร์ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน ประชาชนชายอำเภอสังขะ เข้าร่วมงานประเพณีสืบสานตำนานปราสาทภูมิโปน” ครั้งที่ 25 เพื่อสืบสานประเพณี วัฒนธรรมท้องถิ่นแบบเขมรโบราณ และร่วมประชาสัมพันธ์แหล่งโบราณสถาน “ปราสาทภูมิโปน” ซึ่งเป็นปราสาทหินที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย นายอภิวัฒน์ พัวภัทรพงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนตําบลดม กล่าวให้สัมภาษณ์ว่า การจัดงานในวันนี้ เป็นการสืบสานประเพณีและศิลปะวัฒนธรรมของตำบลดม ซึ่งเป็นประเพณีและวัฒนธรรมแบบเขมรโบราณ พิธีบวงสรวงเซ่นไหว้บรรพบุรุษ

เพื่อแสดงออกถึงความกตัญญูต่อบรรพชนที่ล่วงลับไปแล้ว มีการประกวดอาหารพื้นบ้าน ผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชนของดีตำบลดม โดยเฉพาะผ้าไหมลายภูมิโปน นายล้ำเลิศ พัวพัฒนโชติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุรินทร์ เขต6 กล่าวว่า ปราสาทภูมิโปน เป็นปราสาทหินที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยสร้างในราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 ศิลปะแบบไพรเกมร ประกอบด้วยโบราณสถาน 4 หลัง คือ ปราสาทอิฐหลังที่ 1 อยู่ทางด้านเหนือสุด มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมไม่ย่อมุม เหลือเพียงฐานกรอบประตูทางเข้า และผนังบางส่วน ปราสาทอิฐหลังที่ 2 อยู่ต่อจากปราสาทหินหลังแรกมาทางใต้ ปัจจุบันเหลือเพียงฐานและกรอบประตูทรายปราสาทอิฐหลังที่ 3 หรือปรางค์ประธานเป็นปราสาทหลังใหญ่ก่อด้วยอิฐไม่สอปูน แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสไม่ย่อมุม

มีบันไดและประตูทางเข้าทางทิศตะวันออก อีกสามด้านเป็นประตูหลอก เสาประดับ กรอบประตู และทับหลังทำด้วยหินทราย ใต้หน้าบันเหนือทับหลังขึ้นไปเป็นลายรูปใบไม้ม้วน รูปแบบและเทคนิคการก่อสร้าง เทียบได้กับปราสาทขอมสมัยก่อนพระนครร่วมสมัยกับปราสาทหลังที่ 1 ได้พบจารึกเป็นภาษาสันสกฤตด้วย อักษรปัสสวะ ซึ่งเคยใช้เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-13 ซึ่งสอดคล้องกับอายุของรูปแบบศิลปะของปราสาท นับเป็นปราสาทแบบศิลปะเขมรที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย และปราสาทอิฐหลังที่ 4 อยู่ต่อจากปราสาทประธานมาทางใต้ ปัจจุบันเหลือเพียงฐานเท่านั้น

ปราสาทภูมิโปน มีตำนานเล่าขานกันว่า กษัตริย์ขอมองค์หนึ่งได้สร้างเมืองลับไว้กลางป่า ชื่อว่าปราสาทภูมิโปน ต่อมาเมื่อเมืองหลวงเกิดความไม่สงบมีข้าศึกมาประชิตเมือง กษัตริย์ขอมจึงส่งพระราชธิดาพร้อมไพร่พลจำนวนหนึ่งมาหลบซ่อนลี้ภัยที่ภูมิ โปนพระราชธิดานั้นมีพระนามว่า พระนางศรีจันทร์ หรือ เนียง ด็อฮฺ ธม แต่คนทั่วไปมักเรียกนางว่า พระนางนมใหญ่ แต่ด้วยกิตติศัพท์ความงามของนางเป็นที่โจษขานไปทั่ว จึงเป็นที่หมายปองของพระราชาเมืองต่างๆ ที่ต้องการพระนางมาเป็นพระชายา แต่แล้วก็มีชายหนุ่มเพียง 2 คน คือเจ้าชายโฮลมา แห่งเมืองโฮลมา และนายบุญจันทร์ ทหารคนสนิท ที่มีโอกาสได้ใกล้ชิดและสร้างสายสัมพันธ์กับพระนาง

สุดท้ายแล้วพระนางศรีจันทร์ จะเลือกชายใดเป็นสามี และปริศนาของต้นลำเจียกที่ไม่เคยออกดอก จนเกิดเป็นตำนานปราสาทภูมิโปน “เนียง ด็อฮฺ ธม” ที่เล่าขานสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน องค์การบริหารส่วนตำบลดม ได้จัดงานประเพณีสืบสานตำนานปราสาทภูมิโปน ครั้งที่ 25 โดยในช่วงเย็น มีการเดินแบบแฟชั่นผ้าไหม การแสดงแสง สี เสียง ตำนานเนียง ด็อฮฺ ธม ที่จัดอย่างยิ่งใหญ่ตระการตา ทั้งนี้ในพิธีบวงสรวงปราสาทภูมิโปน ชาวบ้านได้จุดธูปเสี่ยงทาย ขอโชคลาภ เพราะที่ผ่านมานั้นเวลาจัดพิธีบวงสรวงชาวบ้านมักจะได้รับโชคลาภจากพิธีดังกล่าว ซึ่งการจุดธูปเสี่ยงทายในวันนี้ได้เลข 842

 

ปุรุศักดิ์ แสนกล้า รายงาน

ข่าวที่น่าติดตาม