กาฬสินธุ์จัดบุญบั้งไฟล้านลุยทะเลโคลนซอฟต์พาวเวอร์หนึ่งเดียวในอีสาน
เทศบาลตำบลคำเหมือดแก้ว อำเภอห้วยเม็ก จังหวัดกาฬสินธุ์ พื้นที่นอกเขตชลประทาน ที่ประสบภัยแล้งซ้ำซาก ร่วมกับฝ่ายปกครอง สถานศึกษา และทุกภาคส่วนในพื้นที่ จัดเล็กๆ พอเพียง ขบวนแห่บั้งไฟ แต่ยิ่งใหญ่ระดับภาคอีสาน สุดอลังการหนึ่งเดียวในโลก กับการจุดบั้งไฟล้านทะยานขึ้นฟ้าบูชาพญาแถน พร้อมโปรยฝนเทียม ให้เด็ก ผู้ใหญ่ ละเล่นน้ำฝนและทะเลโคลน เป็นสัญลักษณ์เรียกฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล
ที่ ต.คำเหมือดแก้ว อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ วันนี้เริ่มมีเมฆฝนก่อตัวอย่างหนาแน่น และเริ่มมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง หลังจากก่อนหน้านี้ นางสาวลำพรรณ คำแหงพล นายกเทศมนตรีตำบล (ทต.) คำเหมือดแก้ว ได้ร่วมกับสมาชิกสภา ทต.คำเหมือดแก้ว ผู้นำชุมชน ผู้บริหารสถานศึกษา และภาคเอกชน ร่วมกันจัดงานสืบสานประเพณีบุญบั้งไฟ ประจำปี 2567 โดยตั้งขบวนที่ลานเอนกประสงค์ ทต.คำเหมือดแก้ว และบริเวณตั้งฐานจุดบั้งไฟ ที่ริมอ่างเก็บน้ำห้วยวังลิ้นฟ้า ทั้งนี้ มีนายชุมพล หลักคำ เลขานุการนายก อบจ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานเปิดงาน บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก สนุกสนาน ท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนจัด
นางสาวลำพรรณ คำแหงพล นายก ทต.คำเหมือดแก้ว กล่าวว่า พื้นที่อยู่นอกเขตชลประทาน หลายปีที่ผ่านมาประสบภัยแล้งซ้ำซาก แหล่งเก็บน้ำธรรมชาติหมดไป โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำห้วยวังลิ้นฟ้า ที่เปรียบเสมือนเป็นเส้นโลหิตหล่อเลี้ยงชาว ต.คำเหมือดแก้ว 9 หมู่บ้าน และแหล่งเก็บน้ำบนดินอีกหลายแห่ง ที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับผลิตน้ำประปา เพื่อการอุปโภค บริโภค การเกษตรและเลี้ยงสัตว์แห้งขอด เนื่องจากฝนทิ้งช่วง
นางสาวลำพรรณ กล่าวอีกว่า หลายปีที่ผ่านมาในช่วงเดือน 6 ก่อนเข้าสู่ฤดูทำนา ทต.คำเหมือดแก้ว ได้ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ จัดงานประเพณีบุญบั้งไฟต่อเนื่องทุกปี แต่ในปี 62-66 ได้ว่างเว้นไป 4 ปีเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 พอปีนี้สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ จึงได้ร่วมกับทุกภาคส่วนในพื้นที่จัดงานบุญบั้งไฟประจำปี 2567 ขึ้น เพื่ออนุรักษ์ สืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม ปลุกจิตสำนึกเด็ก เยาวชน มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ สืบสานภูมิปัญญา เกิดความรัก สามัคคีในชุมชนและในหมู่คณะ รวมทั้งส่งเสริมและสืบสานศิลปะการฟ้อนรำแบบเซิ้งบั้งไฟ การตกแต่งบั้งไฟและขบวนรถแห่บั้งไฟแบบประยุกต์ ในรูปแบบของความแบบพอเพียงตามแนวพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียง และรำบูชาพญาแถน สิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งฝนตามความเชื่อ เพื่อดลบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล
ด้านนายสนิท ราชสีโสม อายุ 65 ปี ชาวบ้านคำเหมือดแก้ว หมู่ 1 ต.คำเหมือดแก้ว อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่างานประเพณีบุญบั้งไฟ ถือเป็นงานประจำปีที่สำคัญของชาวอีสาน เพื่อบูชาสิ่งศักดิ์แห่งฝนคือพญาแถนตามความเชื่อ และเป็นงานบุญตามฮีต 12 คอง 14 นิยมจัดระหว่างเดือน 6-7 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นฤดูฝน ซึ่งชาวอีสานมีความผูกพันกับธรรมชาติ และการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำไร่ โดยอาศัยน้ำจากฟ้าหรือน้ำฝนเป็นปัจจัยหลักในการหล่อเลี้ยงพืชผล สัตว์เลี้ยง และการอุปโภค บริโภค ของชาวบ้าน
“การจุดบั้งไฟขึ้นฟ้า ซึ่งบั้งไฟประดิษฐ์จากภูมิปัญญาชาวบ้าน มีการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ถือเป็นการการส่งสัญญาณถึงเทวดาหรือพญาแถน ว่าถึงฤดูกาลทำนาแล้ว เพื่อที่ท่านจะได้ดลบันดาลให้มีฝนตกลงมาตามฤดูกาล ให้สรรพสัตว์ และพืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ ผลผลิตเต็มเม็ดเต็มหน่วย สำหรับปีนี้ ตั้งแต่เริ่มต้นเตรียมการจัดงานบุญประเพณี พบว่ามีฝนตกลงมาในพื้นที่ สร้างความชุ่มฉ่ำให้กับสรรพชีวิตในพื้นที่ ต.คำเหมือดแก้ว ที่เคยประสบภัยแล้ง ให้มีความสุข มีชีวิตชีวากว่าที่ผ่านมาเป็นอย่างมาก หลังจากฝนทิ้งช่วงมานานกว่า 6 เดือน” นายสนิทกล่าว
ขณะที่ด้านนายพิบูรณ์ คำแหงพล อดีตนายก ทต.คำเหมือดแก้ว กล่าวว่า เพื่อการมีส่วนร่วมของเด็ก เยาวชน ผู้ปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ให้มีความคึกคักในการจัดงานบุญบั้งไฟ ท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนจัด ยังได้มีการจัดกิจกรรมประกอบในงานที่หลากหลาย เช่น ตกแต่งบั้งไฟประยุกต์และสร้างสรรค์ ในรูปแบบความพอเพียง การประกวดขบวนแห่บั้งไฟ การประกวดผาแดง-นางไอ่ รำบวงสรวงพญาแถน โดยเฉพาะที่สร้างสีสันเป็นอย่างมากคือการจุดบั้งไฟหมื่น บั้งไฟแสน บั้งไฟล้าน จำนวน 11 บั้ง ทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าอย่างสวยงาม นอกจากนี้ยังมีการโปรยฝนเทียม โดยใช้รถดับเพลิงฉีดน้ำกระชายทั่วบริเวณจัดงาน ให้ผู้ร่วมงานได้เล่นน้ำฝนอย่างชื่นฉ่ำ และเล่นทะเลโคลนอย่างสนุกสนาน การจัดงานบุญบั้งไฟที่ ทต.คำเหมือดแก้วครั้งนี้ จึงเป็นการสร้างซอฟต์พาวเวอร์แห่งการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ โดยการจัดงานบุญบั้งไฟที่เล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่อลังการอีกแห่งหนึ่งในภาคอีสาน