23/11/2024

พระเครื่องสยาม สุดสัปดาห์ # กินลม ชมพระ

พระเครื่องสยาม สุดสัปดาห์ # กินลม ชมพระ

 

สวัสดีครับแฟนเพจผู้มีเกียรติทุกท่าน วันนี้กระผมได้กลับมาพบกับทุกท่านอีกครั้ง ครั้งนี้ผมจะขอนำพระสมเด็จของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี ซึ่งในวงการเรียกพระสมเด็จสองคลอง ที่ปัจจุบันหาชมได้ยากมากมาบรรยายให้ได้ศึกษากัน
พระสมเด็จสองคลองนั้นเป็นการกล่าวเรียกในภายหลัง เมื่อพระสมเด็จของท่านเจ้าประคุณสมเด็จโตได้รับความนิยมสูงมาก มูลค่าก็เพิ่มมากขึ้นอย่างเท่าทวีคูณ โดยพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม ซึ่งเป็นพระที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จโตได้สร้างขึ้นกี่ครั้ง ไม่มีหลักฐานประจักษ์ยืนยันแน่ชัด เช่นเดียวกับจำนวนการสร้างทั้งหมด ท่านเจ้าประคุณสมเด็จโตท่านสร้างพระสมเด็จวัดระฆังแล้วไม่ได้บรรจุลงในกรุพระเจดีย์ ท่านจัดแบ่งพระสมเด็จบางส่วนนำมาลงรักปิดทอง บางส่วนท่านก็ได้แจกจ่ายให้แก่ศิษยานุศิษย์ ตลอดจนชาวบ้านที่ทำบุญตักบาตร
ในขณะที่พระสมเด็จวัดบางขุนพรหมนั้น เป็นการสร้างขึ้นในคราวเดียว เพื่อนำพระสมเด็จบรรจุลงในกรุพระมหาเจดีย์ในวัดบางขุนพรหม ซึ่งการสร้างพระสมเด็จวัดบางขุนพรหมนี้ ได้มีการแกะแม่พิมพ์ขึ้นมาโดยเฉพาะอยู่หลายพิมพ์ ได้แก่พิมพ์ใหญ่ของวัดบางขุนพรหม พิมพ์เส้นด้าย พิมพ์สังฆาฏิ หรือพิมพ์อกครุฑเศียรบาตร เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ก็พบว่ามีพระสมเด็จซึ่งขุดขึ้นได้จากกรุพระมหาเจดีย์วัดบางขุนพรหมบางองค์ เป็นพระสมเด็จพิมพ์เดียวกับพระสมเด็จวัดระฆัง


ความแตกต่างอย่างแรกของพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม ซึ่งเป็นพิมพ์เดียวกับพระสมเด็จวัดระฆังก็คือ องค์พระจะมีขี้กรุจับบนองค์พระ เนื่องจากถูกฝังอยู่ในกรุพระเจดีย์เป็นระยะเวลานับร้อยปี
ตลอดเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา ที่พระสมเด็จของท่านเจ้าประคุณสมเด็จโตได้รับความนิยมศรัทธาสูงมากที่สุด มูลค่าขององค์พระแต่ละองค์ก็เพิ่มสูงมากขึ้น และที่มีความแตกต่างกันระหว่างพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตารามและพระสมเด็จวัดบางขุนพรหมในระดับสูงที่เป็นหลักล้านบาทขึ้นไป
ทำให้คนในวงการพระเครื่องที่มีความรู้ความชำนาญในการล้างและซ่อมตกแต่งพระ นำพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม ซึ่งเป็นพิมพ์เดียวกับพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม มาล้างขี้กรุออก ซึ่งถือเป็นกระบวนการที่ทำได้ยากมาก ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะ เพื่อให้พระสมเด็จวัดบางขุนพรหมกลายเป็นพระสมเด็จวัดระฆัง ด้วยเหตุผลเรื่องราคาเท่านั้น ดังนั้นในวงการเราจึงกล่าวเรียกกันว่าเป็นพระสมเด็จวัดสองคลอง
สำหรับพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์ใหญ่ที่ผมนำมาให้ชมครั้งนี้ เป็นพิมพ์พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่ พิมพ์ที่ 2 จะเห็นว่าองค์พระจะมีความลึกกว่าพิมพ์ของพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม ถึงแม้ว่าจะถอดแม่พิมพ์มาจากพิมพ์ของวัดระฆังโฆสิตารามก็ตาม องค์พระสมเด็จวัดบางขุนพรหมก็มักจะมีความตื้นกว่าพิมพ์วัดระฆัง
นอกจากนี้ขอบตัดทั้ง 4 ด้านของพระสมเด็จวัดระฆังก็มักจะมีลักษณะที่งุ้มลง เนื่องจากตัดปีกจากพิมพ์ด้านหลังไปด้านหน้า ในขณะที่ขอบตัดของพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม จะตัดจากด้านหน้าไปด้านหลัง ขอบตัดจะครูดขึ้น องค์พระจะดูห่อเข้าเล็กน้อย ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญ
ปัจจุบันจะพบว่าพระสมเด็จวัดสองคลองน่าจะถุกล้างข้ามคลองไปหมดแล้ว ถ้าเป็นพระที่ถูกล้างโดยช่างผู้ชำนาญแห่งงามวงศ์วาน จะใช้วิธีแช่น้ำหลายวันแล้วค่อย ๆ ขูดออกในน้ำ องค์พระจะเกลี้ยงสะอาด แต่ผิวจะชุ่มไปด้วยน้ำ มีความชื้นติดผิว


ถ้าองค์ไหนถูกล้างโดยเฮียท้าว ท่าพระจันทร์ จะนำองค์พระไปแช่ในน้ำมันรอนสัน และแช่ไว้นานมากหลายวัน จนพระมีผิวที่เริ่มเปื่อย แกจะใช้พู่กันปากเป็ดที่ตัดสั้น ค่อย ๆ แซะผิวออกจนคราบขี้กรุหายหมด องค์พระจะมีความแห้งสนิท กลายเป็นพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตารามที่สมบูรณ์แบบกว่า
พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์ใหญ่องค์นี้ เป็นพิมพ์ของพระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่ พิมพ์ที่ 2 ที่มีผิวคราบขี้กรุวัดบางขุนพรหม และที่สวยงามมากก็คือพระสมเด็จวัดบางขุนพรหมองค์นี้ พิมพ์จะลึกมากเทียบเท่ากับพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม นอกจากนี้องค์พระก็ยังมีมวลสารของพระสมเด็จวัดระฆัง คือมีรูพรุนเข็มปรากฏ ถึงแม้ว่าจะมีน้อยเพราะถูกคราบขี้กรุปิดทับก็ตาม รอบหนอนด้นยังมีให้เห็นอย่างสมบูรณ์ เม็ดพระธาตุองค์ใหญ่อยู่ที่กลางอกขององค์พระสมเด็จ ยังมีเม็ดพระธาตุองค์เล็ก ๆ อีกหลายองค์ และผมจะขอบรรยายสรุปตำหนิพุทธศิลป์ขององค์พระดังต่อไปนี้
1. กรอบแม่พิมพ์ องค์พระตัดปีกพอดีกรอบแม่พิมพ์ โดยกรอบแม่พิมพ์ด้านซ้าย เป็นเส้นตรงลงลงมาจรดซุ้มเรือนแก้ว ที่บริเวณข้อศอกขององคืพระประธาน ซึ่งเป็ฯตำหนิของพระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่ทุกพิมพ์ย่อย
2. รอยหนอนด้น เป็นร่องรอยซึ่งเกิดจากการเสื่อมสลายของมวลสารพุทธคุณของพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม มวลสารพุทธคุณที่เป็นอินทรีย์สารของดอกไม้บูชาพระ และเศษอาหารซึ่งผ่านกระบวนการละกิเลส ทั้งหมดได้ถูกนำไปตากแห้งผสมเป็นมวลสารพุทธคุณ และเมื่อองค์พระสมเด็จมีอายุนับร้อยปี อินทรีย์สารย่อมเสื่อมสลายหายไป หลงเหลือเป้นร่องรอยลักษณะเป็นโพรง ที่เราเรียกกันว่าเป็นรอยหนอนด้น อันเป็นเอกลักษณ์สำคัญที่ทรงคุณค่าของพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม
3. เม็ดพระธาตุเป็นมวลสารพุทธคุณ ที่เป็นปูนขาวเก่าซึ่งฉาบอยู่บนองค์พระประธานตามพระอุโบสถจากวัดต่าง ๆ ที่มีอายุหลายร้อยปี เมื่อมีการบูรณะองค์พระประธาน ก็ต้องมีการลอกปูนเก่าออก ท่านเจ้าประคุณสมเด็จโตท่านได้เก็บรวบรวมปูนเก่าเหล่านี้ และนำมาแบ่งตำให้เล็กลงเพื่อรวบรวมผสมปูนขาวใหม่เป็นมวลสารพระสมเด็จวัดระฆัง เมื่อองค์พระสมเด็จมีอายุเป็นร้อยปี แน่นอนว่าองค์พระย่อมมีการหดตัว ทำให้ปูนเก่าและปูนใหม่แยกออกจากกัน ร่องรอยการปริแยกตัวออกนั้นเราเรียกกันว่าเม็ดพระธาตุ ซึ่งเป็นเอกลักษณืสำคัญอีกอย่างของพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม จะมีพบในพระสมเด็จวัดบางขุนพรหมเพียงบางองค์ ที่มีมวลสารพุทธคุณผสมอยู่มาก จะไม่พบทุกองค์ สำหรับพระสมเด็จวัดบางขุนพรหมองค์นี้ จะมีเม็ดพระธาตุองค์ใหญ่ปรากฏอยู่ที่กลางอกขององค์พระ และมีองค์เล็กฝังอยู่ที่ใต้ตักขององค์พระ
4. คราบขี้กรุของพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม เมื่อพระสมเด็จพิมพ์พระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม พิมพ์ใหญ่ พิมพ์ที่ 2 องค์นี้นำมาบรรจุลงในกรุพระมหาเจดีย์ในวัดบางขุนพรหมตั้งแต่ครั้งแรก องค์พระจึงมีคราบขี้กรุปรากฏชัดเจนตามทฤษฎีของพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม คราบขี้กรุที่จับแน่น เป้นคราบแคลเซียมบาง ๆ เท่านั้น จึงถือเป็นพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์ใหญ่ที่งดงามมากที่สุดองค์หนึ่ง เป็นพระสมเด็จวัดสองคลองที่มีคุณค่าเทียบเท่าพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม
5. ซุ้มเรือนแก้วเป็นเส้นกลมเป็นหวายผ่าซีกและใหญ่นูนสูงมาก เป็นซุ้มในลักษณะของพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตารามที่สูงใหญ่และมีลักษณะที่หดตัวตั้งฉาก ถ้าเป็นพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์ใหญ่ เส้นซุ้มเรือนแก้วมักจะเล็กและตื้นกว่าพิมพ์ของสัดระฆังโฆสิตาราม
6. พระเศียรกลมรีและนูนสูง มีคางเล็กน้อย บนพระเศียรมีรอยหนอนดด้นเส้นเล็ก ๆ ปรากฏอยู่ 4 รอย พระเกศแหลมคม ยาวจรดซุ้มเรือนแก้ว มีพระกรรณเป็นเส้นรำไรนาวจรดบ่าทั้งสองด้าน
7. ร่องกลางอกเป็นร่องของสังฆาฏิ พาดจากบ่าข้างซ้ายยาวถึงหน้าตัก
8. แขนทั้งสองข้างกลมโตและที่สำคัญคือมีลักษณะที่หดตัวตั้งฉาก
9. ต้นแขนข้างซ้ายจะยุบลงเล็กน้อย ซึ่งเป็นตำหนิแม่พิมพ์ของพระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่ทั้ง 4 พิมพ์ย่อย
10. เส้นปลายจีวรใต้แขนข้างซ้ายเป็นเส้นเล็กยาวจรดเข่าข้างซ้าย
11. พระบาทข้างซ้ายแนบที่หน้าตัก ทรงพระบาทยาวเกือบจรดเข่าขวา
12. ฐานชั้นที่ 3 เป็นทรงหมอนหนุนกลมโตที่ยาวตลอดหน้าตัก
13. ฐานชั้นที่ 2 เป็นโต๊ะขาสิงห์ขอบแหลมมน
14. ฐานชั้นที่ 1 เป็นฐานเขียงหนาใหญ่ กลางฐานยุบลงเล็กน้อย ปลายฐานด้านขวาตัดเฉียงเป็นทรงหัวขวาน
พิมพ์หลังกระดาน มีขี้กรุสีน้ำตาลจับบาง ๆ ครับ สุดท้ายนี้กระผมหวังว่าท่านผู้อ่านจะได้จดจำตำหนิและนำหลักองค์ความรู้นี้ไว้เพื่อพิจารณา เผื่อท่านบังเอิญได้ประสบพบเจอองค์พระของเจ้าประคุณสมเด็จโตนี้ และในครั้งถัดไป กระผมจะนำทุกท่านไปชมพระที่บ้านของ คุณยศพัทธ์ พิภพสิทธิโภคิณ ซึ่งท่านนี้สะสมแต่พระหลักๆที่สวยงามและหายากมากๆในปัจจุบันนี้ และกระผมรับรองว่าทุกท่านจะต้องตื่นตาตื่นใจ สมกับการรอคอยอย่างแน่นอน…
# ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รังสรรค์ ต่อสุวรรณ