22/11/2024

เชียงใหม่-คณะพัฒนาการท่องเที่ยว ม.แม่โจ้ ต่อยอดโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ฯ จัดเสวนาพร้อมโชว์เคสผลงานผู้ผ่านการฝึกอบรม รุ่น 2 

คณะพัฒนาการท่องเที่ยว ม.แม่โจ้ ต่อยอดโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ฯ จัดเสวนาพร้อมโชว์เคสผลงานผู้ผ่านการฝึกอบรม หลักสูตรการจัดการท่องเที่ยว เชิงสุขภาพและนวัตกรรมฯ รุ่น 2 ตามนโยบายการปฏิรูปอุดมศึกษาไทย
https://youtu.be/Y-ewFN8cCaE
คณะพัฒนาการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จัดงานเสวนาวิชาการ “Transitioning from Journeys to Growth: Enhancing Tourism via Shared Experiences” เพื่อเผยแพร่ผลงานผู้ผ่านการฝึกอบรมโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร การจัดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและนวัตกรรม ภายใต้โครงการผลิตบัณทิตพันธุ์ใหม่ เพื่อสร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะสูงสำหรับอุตสาหกรรม New Growth Engine ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และปฏิรูปการอุดมศึกษาไทย เน้นผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยว เกษตรกร ตัวแทนผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน มุ่งพัฒนาทักษะด้านการคิดเชิงสร้างสรรค์ ต่อยอดธุรกิจด้านการเกษตร อาหาร สุขภาพ การท่องเที่ยว และนวัตกรรมบริการ นำไปสู่โอกาสในการพัฒนาผลงานต้นแบบไปสู่ธุรกิจเชิงพาณิชย์ พร้อมพัฒนาภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
อาจารย์ ดร.กีรติ ตระการศิริวานิช คณบดีคณะพัฒนาการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เปิดเผยว่า โครงการการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตรการจัดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและนวัตกรรมในครั้งนี้ เป็นการ ต่อยอดโครงการผลิตบัณทิตพันธุ์ใหม่ฯ ที่จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2566 โดยผู้เข้ารับการฝึกอบรมครั้งนี้ถือเป็นรุ่นที่ 2 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรม มีความรู้ ความเข้าใจ ในองค์ประกอบของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ พฤติกรรมการท่องเที่ยวที่มีการเปลี่ยนแปลง รวมถึงสามารถพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวและออกแบบกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพบนฐานความรู้ความเข้าใจสุขภาวะแบบองค์รวม ให้สอดคล้องกับความต้องการของนักท่องเที่ยว โครงการการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการฯ ในครั้งนี้ มีผู้เข้ารับการฝึกอบรมจำนวน 40 คน
ประกอบด้วย ผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยว เกษตรกร ตัวแทนผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน โดยตลอดระยะเวลาการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเป็นเวลา 4 เดือนนั้น นำมาสู่การจัดงานเสวนาวิชาการและนิทรรศการเผยแพร่ผลงานผู้ผ่านการฝึกอบรม เพื่อนำเสนอผลการเรียนรู้ของผู้ผ่านการฝึกอบรมตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด โดยมีการจัดแสดงผลงานจำนวน 35 ผลงานในรูปแบบนิทรรศการ ซึ่งเป็นการถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้เพื่อต่อยอดธุรกิจด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจากผู้ประกอบธุรกิจโดยตรง อันจะนำไปสู่โอกาสในการพัฒนาผลงานต้นแบบไปสู่ธุรกิจเชิงพาณิชย์ อีกทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายให้กับกลุ่มผู้ประกอบการที่อาจมีความสนใจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่เป็นผลงานการเรียนรู้ของผู้ผ่านการฝึกอบรมของหลักสูตรต่อไป
ผู้ช่วยศาสตราจารย์พาวิน มะโนชัย รักษาการแทนรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ประธานในพิธีเปิด กล่าวว่า โครงการการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการฯ นี้ จะเป็นประโยชน์ต่อผู้เข้ารับการฝึกอบรมที่จะสามารถนำความรู้ไปต่อยอดธุรกิจ พัฒนาสร้างสรรค์ผลงานของตนเอง ซึ่งหลักสูตรการจัดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและนวัตกรรม เป็นหลักสูตรที่จะสามารถสร้างบุคลากรทางการท่องเที่ยวให้เป็นผู้มีคุณสมบัติเหมาะสม สามารถสนองตอบต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไป
โดยมุ่งเน้นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพซึ่งเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่จะสามารถพลิกฟื้นสร้างการเปลี่ยนแปลงในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย ผู้ที่จบการศึกษาจากหลักสูตรนี้จะเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในตัวแปรสำคัญของภาคธุรกิจการท่องเที่ยว เข้าใจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะคุณภาพแพลตฟอร์มด้านการท่องเที่ยวสมัยใหม่ เป็นผู้ที่ผ่านกระบวนการ Upskill/Reskill พร้อมต่อการทำงานเพื่อพัฒนาภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน
สำหรับงานจัดงานเสวนาวิชาการ “Transitioning from Journeys to Growth: Enhancing Tourism via Shared Experiences” เพื่อเผยแพร่ผลงานผู้ผ่านการฝึกอบรมโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร การจัดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและนวัตกรรม ภายใต้โครงการผลิตบัณทิตพันธุ์ใหม่ เพื่อสร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะสูงสำหรับอุตสาหกรรม New Growth Engine ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และปฏิรูปการอุดมศึกษาไทย จัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2567 ณ ศูนย์การศึกษาและฝึกอบรมนานาชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้
 
กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย  พิธีเปิดโครงการฯ การจัดนิทรรศการแสดงผลงานการเรียนรู้และต้นแบบผลงานของผู้ผ่านการฝึกอบรม,  การเสวนา หัวข้อ “เกษตร อาหาร สุขภาพ ท่องเที่ยว: กุญแจสำคัญสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานการจัดการอย่างรับผิดชอบ” โดย คุณศิริวิมล กิตะพาณิชย์ ผู้ก่อตั้งไร่รื่นรมย์, การนำเสนอผลงาน การทำงานเชิงพื้นที่จากการลงพื้นที่ศึกษาเรียนรู้ ณ ตำบลบ่อแก้ว อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ โดย นักศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ร่วมกับ นักศึกษาจากคณะพัฒนาการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และพิธีมอบประกาศนียบัตรสำหรับผู้ผ่านการฝึกอบรมฯ นักศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา และนักศึกษาจากคณะพัฒนาการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยแม่โจ้  โดยมีผู้เข้าร่วมอบรม คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ร่วมงานกว่า 80 คน
ภาพ-ข่าว นภาพร  ขัติยะ

ข่าวที่น่าติดตาม