23/11/2024

ทธ. แถลง “เปิดกรุสมบัติทรัพยากรแร่ของประเทศไทย”

ทธ. แถลง “เปิดกรุสมบัติทรัพยากรแร่ของประเทศไทย”

 

วันพุธที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๗ กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จัดแถลงข่าวสื่อมวลชน ในประเด็น “เปิดกรุสมบัติทรัพยากรแร่ของประเทศไทย” โดยมี นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะโฆษกกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน พร้อมด้วยนายพิชิต สมบัติมาก อธิบดี
กรมทรัพยากรธรณี และนางสาวกฤตยา ปัทมาลัย ผู้อำนวยการกองทรัพยากรแร่ ร่วมแถลงข่าวสื่อมวลชน
ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น ๑ อาคารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะโฆษกกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศที่มีการแข่งขัน
รุนแรงมากขึ้น ทำให้ประเทศต่าง ๆ ต้องปรับตัวเพื่อคว้าโอกาสในการพัฒนาและแสวงหาประโยชน์
จากระบบเศรษฐกิจโลก รวมถึงการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ที่ส่งผลให้มีการปรับตัวในการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน โดยอุตสาหกรรมแร่เป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

“ประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ในด้านทรัพยากรแร่ โดยข้อมูลของกรมทรัพยากรธรณีที่มีสำรวจข้อมูล พบว่า ประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรแร่ โดยพบมากถึง ๔๐ ชนิด ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ ๖๐ ล้านไร่หรือร้อยละ ๑๙ ของพื้นที่ประเทศ มีปริมาณทรัพยากรแร่ ๓๐ ล้านล้านตัน คิดเป็นมูลค่าเบื้องต้น ๔๔,๔๑๐ ล้านล้านบาท ซึ่งแร่เหล่านี้จะเป็นแหล่งสำรอง
เพื่อความมั่นคงทางวัตถุดิบของประเทศ ทั้งนี้ ปริมาณทรัพยากรแร่เป็นตัวเลขเบื้องต้นที่พิจารณาเฉพาะข้อมูลธรณีวิทยาเท่านั้น เพื่อให้รู้ว่าประเทศไทยมีปริมาณแร่เท่าไหร่หากภาคเอกชนลงทุน สำรวจรายละเอียดในพื้นที่ศักยภาพแร่ที่กรมทรัพยากรธรณีกำหนด จะได้ตัวเลขของปริมาณแร่สำรอง ซึ่งนำไปใช้ในการวางแผนการผลิตแร่ต่อไป”

นายพิชิต สมบัติมาก อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เผยว่า “กรุสมบัติดังกล่าวนี้นับเป็นวัตถุดิบต้นน้ำที่นำไปสู่การพัฒนาต่าง ๆ ทั้งอุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็น
หินอุตสาหกรรมที่นำมาใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ แร่เพื่อการเกษตร เช่น แร่โพแทชสำหรับเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตปุ๋ย โดโลไมต์และเพอร์ไลต์สำหรับปรับสภาพดิน ดินมาร์ลสำหรับแก้ปัญหาดินเค็ม หรือแม้กระทั่งแร่ที่มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนผ่านสู่อนาคตสังคมคาร์บอนต่ำ เช่น ธาตุหายาก ลิเทียม ควอตซ์ เพื่อใช้ในการผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ เช่น กังหันลม แผงเซลล์แสงอาทิตย์ ยานพาหนะไฟฟ้าและแบตเตอรี่กักเก็บ จากผลการสำรวจของกรมทรัพยากรธรณีพบแหล่งศักยภาพโพแทช

ที่น่าสนใจ ๑๐ แหล่ง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีปริมาณทรัพยากรแร่โพแทชอย่างน้อย ๑๐,๐๐๐ ล้านตัน มูลค่าแร่ประมาณ ๑๖๑ ล้านล้านบาท พบแหล่งศักยภาพธาตุหายาก ๓๐ แหล่ง เนื้อที่ประมาณ
๑๐ ล้านไร่ ใน ๙ จังหวัดมีปริมาณทรัพยากรธาตุหายาก รวมประมาณ ๗ ล้านตันโลหะ คิดเป็นมูลค่าประมาณ ๔.๔๐ ล้านล้านบาท หากมีการส่งเสริม สนับสนุน และผลักดันให้เกิดการแปรรูปวัตถุดิบแร่
ไปจนถึงอุตสาหกรรมปลายน้ำหรือมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องจะเป็นการสร้างโอกาสในการเพิ่มมูลค่าและต่อยอดการผลิตได้ เช่น แร่โมนาไซต์มีราคาเฉลี่ยประมาณ ๑๒๗,๐๐๐ บาท/ตัน (ณ ปี พ.ศ. ๒๕๖๗) จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า ๑๕ เท่า

 

หากนำไปสกัดแยกออกเป็นสารประกอบธาตุหายากออกไซด์ และจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า ๒๓ เท่า เมื่อนำไปถลุงเป็นโลหะธาตุหายาก (ประเมินเบื้องต้นจากการเฉลี่ยราคาฐาน ณ ปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ของโลหะธาตุหายากและสารประกอบธาตุหายากออกไซด์แต่ละชนิด)
หรือการผลิตแบตเตอรี่โซเดียมไอออนจากเกลือหินซึ่งเป็นแร่รองที่ได้จากการทำเหมืองแร่โพแทช
ที่สามารถนำมาต่อยอดโรงงานแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าได้”
ดังนั้น กรมทรัพยากรธรณีจึงมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการแร่ของประเทศ โดยการกำหนดพื้นที่สงวน พื้นที่อนุรักษ์และพื้นที่พัฒนาทรัพยากรแร่เพื่อให้มีการนำทรัพยากรแร่มาใช้ให้เกิดประโยชน์และมีความคุ้มค่าสูงสุด เสริมสร้างการตระหนักรู้และส่งเสริมการมีส่วนร่วมแก่ทุกภาคส่วนเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทรัพยากรแร่ให้ถูกต้องรวมถึงผลักดันกิจกรรมเหมืองแร่ตามหลักธรรมาภิบาลและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นกิจกรรมของคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ เพื่อให้ผู้ประกอบการเหมืองแร่และกิจการที่เกี่ยวข้องดำเนินกิจการสูงกว่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด และสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนและท้องถิ่นได้อย่างผาสุก

ข่าวที่น่าติดตาม