”ภูมิธรรม“ ขยายผล “เศรษฐา” จับมือมาเลฯ ดันเป้า 1 ล้านล้านบาท ภายในปี 70 พร้อมเชื่อมโยงชายแดนใต้ด้วย Twins City
ภูมิธรรม เดินหน้าผลักดันให้มาเลเซียอำนวยความสะดวกและเปิดตลาดนำเข้าสินค้าเกษตรจากไทย ตลอดจนยกระดับความเชื่อมโยงเศรษฐกิจชายแดนใต้ให้เป็นรูปธรรม หนุนการค้าสองฝ่ายขยายตัว พร้อมขยายความร่วมมือฮาลาล ดันแฟรนไชส์ไทยไปยังมาเลเซียมากขึ้น
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า ไทย -มาเลเซีย (Thailand -Malaysia Joint Trade Committee :JTC) ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ว่า ทั้งสองฝ่ายมีความสัมพันธ์อันดีในทุกระดับโดยเฉพาะผู้นำประเทศโดยท่านนายกรัฐมนตรีประเทศมาเลเซีย อันวาร์ อิบราฮิม กับนายกรัฐมนตรีประเทศไทย เศรษฐา ทวีสิน ได้มีการพบปะหารือเกี่ยวกับด้านเศรษฐกิจกันอย่างบ่อยครั้ง โดยมีการปรึกษาเกี่ยวกับเศรษฐกิจการค้าอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งการมาเยือนมาเลเซียของผมในครั้งนี้ ผมได้มาสานต่อให้กับท่านผู้นำทั้งสองประเทศ ซึ่งจะมีผลที่สามารถนำไปกำหนดทิศทางอย่างเป็นรูปธรรม
“การมาครั้งแรกหลังจากที่ได้รับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากประเทศมาเลเซียเป็นเพื่อบ้านใกล้ชิดและเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ในอาเซียนของไทย โดยการประชุมในครั้งนี้ ทั้ง 2 ประเทศ จะเดินหน้าทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่เพื่อส่งเสริมการค้าให้บรรลุเป้าหมาย 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือ 1 ล้านล้านบาทภายในปี 2570 ตามที่นายกรัฐมนตรีสองฝ่ายตั้งเป้าหมายไว้ โดยจะอำนวยความสะดวกในการเปิดตลาดสินค้าเกษตรของทั้งสองฝ่ายให้รวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งไทยได้ขอให้มาเลเซียเร่งอนุญาตนำเข้าเนื้อโค เนื้อสุกร และนกเขาชวาเสียง รวมทั้งตรวจรับรองผู้ผลิตสินค้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งของไทยในการส่งออกไปยังมาเลเซีย”
นายภูมิธรรมเสริมว่า ทั้งสองฝ่ายจะเดินหน้าเชื่อมโยงเศรษฐกิจชายแดนและเพิ่มตัวเลขการค้าชายแดน โดยเร่งรัดให้คณะทำงานด้านการค้าชายแดน และการค้าการลงทุนที่นายกรัฐมนตรีสองฝ่ายได้จัดตั้งขึ้นทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ซึ่งมาเลเซียจะเป็นเจ้าภาพการประชุมคณะทำงานครั้งแรกปลายเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อเป็นกลไกส่งเสริมและแก้ไขปัญหาการค้าและการลงทุนชายแดน และไทยได้เสนอการเชื่อมโยงเศรษฐกิจท้องถิ่นระหว่าง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย กับ 5 รัฐตอนเหนือของมาเลเซียในรูปแบบเมืองคู่แฝดทางการค้า ระหว่างจังหวัดนราธิวาส-รัฐกลันตัน สงขลา-รัฐเคดาห์ สตูล-รัฐเปอลิส ยะลา-รัฐเปรัก และปัตตานี-รัฐตรังกานู ตลอดจนได้ผลักดันให้เร่งหาข้อสรุปในการจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารข้ามพรมแดนระหว่างไทย-มาเลเซีย เพื่อให้ลงนามได้ภายในปีนี้ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยินดีต่อความคืบหน้าการก่อสร้างถนนเชื่อมด่านสะเดาแห่งใหม่และด่านบูกิตกายูฮิตัมฝั่งมาเลเซียที่กำหนดจะแล้วเสร็จในปี 2568 ซึ่งจะทำให้การขนส่งสินค้าและการเดินทางของนักท่องเที่ยวข้ามพรมแดนสะดวกมากยิ่งขึ้น
นายภูมิธรรม กล่าวด้วยว่า ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะส่งเสริมความร่วมมือใหม่ๆ โดยเฉพาะการส่งเสริมผู้ประกอบการด้านฮาลาล และธุรกิจแฟรนไชส์ที่ไทยมีศักยภาพไปยังมาเลเซีย รวมถึงความร่วมมือด้านดิจิทัลและดาต้าเซนเตอร์ที่รัฐบาลทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการสร้างสภาพแวดล้อม ที่เอื้ออำนวยต่อการค้า ดึงดูดการลงทุน และเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล
โดยในช่วงท้าย นายภูมิธรรม ได้ประชาสัมพันธ์เชิญชวนฝ่ายมาเลเซียเข้าร่วมงานมหกรรมการค้าชายแดน ณ จังหวัดสงขลา รวมทั้งกิจกรรมส่งเสริมการค้าของไทยในปี 2567 ที่จะจัดขึ้นในประเทศมาเลเซีย เช่น งาน Thailand Week 2024 และงานแสดงสินค้านานาชาติในประเทศไทยด้วย
ในนามรัฐบาลไทยขอขอบคุณอีกครั้งที่ได้ร่วมกันผลักดันการประชุมในวันนี้ให้สำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพในส่วนของฝ่ายไทยของจะนำผลประชุมในครั้งนี้ไปกราบเรียนนายกรัฐมนตรีให้ทราบถึงการผลักดันเศรษฐกิจร่วมของทั้งสองประเทศในครั้งนี้เพื่อ
ผมจะรอต้อนรับคณะรัฐตรีและผู้บริหารของมาเลเซียในการประชุม JTC ครั้งที่ 4 ที่ไทย
ทั้งนี้ มาเลเซียเป็นประเทศเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยในอาเซียน และอันดับที่ 4 ของไทยในโลก และเป็นคู่ค้าชายแดนอันดับ 1 ของไทย ในปี 2566 การค้ารวมไทย-มาเลเซีย มีมูลค่า 25,118.03 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (-7.14%) สำหรับในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2567 (ม.ค.-พ.ค.) การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 10,787.02 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (-0.54%) โดยเป็นการส่งออก 5,046.26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 5,740.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐ