ขอนแก่น – งานสัมมนา ธปท. สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประจำปี 2567
ขอนแก่น – งานสัมมนา ธปท. สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประจำปี 2567
ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท. สภอ.) ได้จัดงานสัมมนาประจำปี 2567 หัวข้อ “แก้หนี้เกษตรอีสานอย่างไร ให้ยั่งยืน” เมื่อเวลา 08.30 -12.00 น. วันอังคารที่ 9 กรกฏาคม 2567 ณ ห้อง Convention 2-3 โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จังหวัดขอนแก่น เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาซึ่งประกอบด้วย ภาคธุรกิจ ภาคเกษตร สถาบันการเงิน การศึกษา หน่วยงานราชการ และประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) ได้รับทราบสถานการณ์เศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของคนอีสาน ตลอดจนรับฟังมุมมองเกี่ยวกับหนี้เกษตรกรซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ฉุดรั้งการพัฒนาภาคเกษตรและเศรษฐกิจอีสานโดยรวม เพื่อให้แก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด มีประสิทธิผล และยั่งยืน โดยงานสัมมนาแบ่งเป็น 5 ช่วง ในช่วงแรกได้รับเกียรติจาก ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวสุนทรพจน์ ในหัวข้อ “การเงินกับความกินดีอยู่ดีของคนอีสาน” เป้าหมายสุดท้ายของการดำเนินนโยบายของ ธปท. คือ ความกินดีอยู่ดีอย่างยั่งยืนของประชาชน โดยความกินดีอยู่ดีมีองค์ประกอบ 2 เรื่อง คือ 1) รายได้ต้องเพียงพอกับรายจ่ายโดยรวม ถ้าดูภาพรวมประเทศ ศักยภาพไทยเดิมเคยโต 4-5% ช่วงหลังโตช้าลงอยู่ที่ 3% จากปัญหาเชิงโครงสร้าง ทำให้รายได้สูงไม่พอ นอกจากนี้ การเติบโตของรายได้แรงงานจะช้ากว่าการเติบโตกำไรบริษัท สะท้อนการฟื้นตัวที่ไม่ทั่วถึง ทั้งในแง่ครัวเรือนและภายในกลุ่มธุรกิจเองก็ไม่ทั่วถึงโดยเฉพาะครัวเรือนอีสาน รายได้โตช้า ไม่พอสำหรับรายจ่าย เราจึงเห็นครัวเรือนอีสานพึ่งพาเงินช่วยเหลือมากที่สุด เนื่องจากแรงงานส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรที่มีรายได้ก้อนใหญ่เพียงรอบเดียวต่อปี
2) หนี้สินต้องน้อยกว่าทรัพย์สิน ครัวเรือนไทยมีภาระหนี้สูง โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงถึง 90.8% ในไตรมาส 1 ปี 2567 และที่น่าเป็นห่วงคือหนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่ไม่ได้สร้างรายได้ เช่น หนี้ส่วนบุคคลและหนี้บัตรเครดิต หากดูรายจ่ายเทียบกับรายได้ที่มาจากการทำงาน จะเห็นว่า ครัวเรือนอีสานมีปัญหารายจ่ายสูงกว่ารายได้มานานแล้ว และปัญหาหนักขึ้น สะท้อนจากส่วนต่างระหว่างรายจ่ายกับรายได้ที่ถ่างขึ้น สิ่งที่ตามมา คือ หนี้ แม้จะแก้หนี้ที่มีอยู่ได้ แต่ปัญหาจะไม่จบ เพราะจะมีหนี้ใหม่เพิ่มเข้ามาต่อเนื่อง สะท้อนว่าการแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนต้องแก้ให้ครบวงจร ต้องแก้ปัญหาทั้งรายได้ และรายจ่ายด้วย ธปท. จึงให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาทุกด้าน โดยมี 3 แนวทางที่จะนำไปสู่ความกินดีอยู่ดีอย่างยั่งยืน ได้แก่ 1) ด้านรายจ่าย หน้าที่ ธปท. ดูแลเสถียรภาพราคา ไม่ให้เงินเฟ้อและค่าครองชีพของคนสูงเกินไป 2) ดูแลรายได้ให้โตอย่างยั่งยืน ต้องมาจากประสิทธิภาพของแรงงาน ธปท. จึงให้ความสำคัญกับการปฏิรูปเรื่องโครงสร้าง ผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพของแรงงาน การวางโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อได้ และวางโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินอื่น ๆ ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างโอกาสให้คน คือ โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และระบบการชำระเงิน
3) แก้ปัญหาหนี้สิน ธปท. ได้มีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ตั้งแต่ช่วงโควิด ตอนนี้มีมาตรการที่เรียกว่าการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ซึ่งเป็นวิธีแก้หนี้แบบครบวงจร ช่วงที่ 2 นำเสนอหัวข้อ “จับชีพจรความเป็นอยู่ชาวอีสาน” โดย ดร.ทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท. สภอ. ให้ภาพแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจอีสาน (Gross Regional Product: GRP) ในปี 2567-68 ว่าจะค่อย ๆฟื้นตัวแต่อัตราการเติบโตยังต่ำกว่าประเทศ อย่างไรก็ตาม ความกินดีอยู่ดีของคนอีสานที่เป็นเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาไม่สามารถสะท้อนผ่านตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวม เนื่องจาก 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจอีสานเติบโตเฉลี่ย 4% แต่รายได้ครัวเรือนเติบโตเพียง 1% ยิ่งไปกว่านั้นครัวเรือนอีสานยังมีรายได้เฉลี่ยน้อยที่สุดในประเทศอยู่ที่ 184,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี และมีสัดส่วนครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยสูงถึง 67% สาเหตุจากโครงสร้างกำลังแรงงานและเศรษฐกิจที่ไม่สอดคล้องกัน เนื่องจากแรงงานอีสานส่วนใหญ่กระจุกอยู่ในภาคเกษตร 53% แต่กลับสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพียง 1 ใน 5 เท่านั้น ดังนั้น การเข้าใจถึงความกินดีอยู่ดีของคนอีสาน จึงควรพิจารณาในมิติรายได้ครัวเรือนมากขึ้น ในด้านรายจ่าย พบว่า ภาคอีสานมีสัดส่วนการใช้จ่ายในหมวดที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบริโภคสูงถึง 13% ส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายเกี่ยวกับการชำระหนี้เงินกู้ เสี่ยงโชค เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น ซึ่งเป็นรายจ่ายที่สามารถลดได้
อย่างไรก็ดี นอกจากมิติรายได้ และรายจ่ายครัวเรือนแล้ว การที่คนอีสานจะมีความกินดีอยู่ดีจะต้องมีทัศนคติและความรู้ทางการเงินที่ดีด้วย ที่ผ่านมา ธปท. สภอ. ได้เผยแพร่ความรู้ทางการเงินผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ เสริมแกร่งการเงินกองทุนหมู่บ้าน ชวนน้องท่องโลกการเงิน รวมทั้งร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร เช่น สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พัฒนาชุมชน สำนักงานกองทุนหมู่บ้าน ผู้ประกอบการ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรมีทัศนคติและพฤติกรรมทางการเงินที่ดี ควบคู่กับการยกระดับรายได้ภาคเกษตรผ่านการถอดบทเรียนจากผู้ที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งจากการติดตามผลพบว่า เกษตรกรกว่าร้อยละ 40 มีพฤติกรรมการเงินที่ดีขึ้น
ช่วงที่ 3 นำเสนอหัวข้อ “วัฒนธรรมหนี้แบบไทย ๆ” โดย ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายพฤติกรรมการก่อหนี้ของคนไทยว่ามีความเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมและความสัมพันธ์ของคนในสังคม “วัฒนธรรมหนี้” ช่วยให้เกิดดุลยภาพเชิงสังคมภายใต้ระบบเศรษฐกิจที่กระจายทางเลือกให้ทุกคนอย่างไม่เป็นธรรม หนี้จึงเป็นปลายทางของปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น ความเหลื่อมล้ำ และปัญหาหนี้นอกระบบ การแก้ปัญหาหนี้จึงต้องแก้ทั้งระบบไปพร้อมกับการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง เช่น การยกระดับรายได้และสร้างสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการแข่งขันมากกว่าการออกนโยบายที่แก้ปัญหาเป็นครั้งคราว
ช่วงที่ 4 นำเสนอหัวข้อ “พาเบิ่ง พฤติกรรมการก่อหนี้ของเกษตรกรอีสาน” โดย คุณอภิชญาณ์ จึงตระกูล และคุณพรวิภา แสงศิริวิวัฒน์ ผู้วิเคราะห์อาวุโส ธปท. สภอ. ได้ฉายภาพสถานการณ์หนี้เกษตรอีสานที่น่ากังวล เนื่องจากเกษตรกรอีสานมากกว่าครึ่งเป็นหนี้เรื้อรัง ชำระได้เพียงดอกเบี้ย และมีโอกาสสูงที่จะส่งต่อมรดกหนี้ให้ลูกหลาน โดยมี 3 สาเหตุที่ทำให้เกษตรกรเป็นหนี้เรื้อรัง ได้แก่ 1) รายได้และรายจ่ายไม่สอดคล้องกัน
2) มีทัศนคติทางการเงินที่อาจนำไปสู่พฤติกรรมการหมุนหนี้ การผิดนัดชำระหนี้ และการเป็นหนี้เรื้อรัง เช่น เห็นด้วยกับการกู้หนี้ใหม่ไปใช้หนี้เก่า การใช้หนี้ช้ากว่ากำหนดเล็กน้อยเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ และคิดว่าการกู้เงินจากสถาบันการเงินเป็นสิทธิที่จำเป็นต้องกู้ทุกปี และ 3) นโยบายที่ไม่จูงใจให้เกิดการชำระหนี้ เช่น มาตรการพักหนี้ในอดีตที่ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ดี มาตรการพักหนี้เกษตรในปัจจุบันมีการสร้างแรงจูงใจให้ลูกหนี้ยังรักษาวินัยในการจ่ายหนี้ กล่าวคือ การชำระหนี้รอบนี้ สามารถตัดเงินต้นได้ทันที เนื่องจากรัฐบาลจ่ายดอกเบี้ยให้ จึงเป็นโอกาสที่เกษตรกรจะปลดหรือลดหนี้ได้ แต่การใช้ชื่อมาตรการพักหนี้อาจทำให้เกษตรกรยังคงเข้าใจแบบเดิมได้ ทั้งนี้ ผลการศึกษาชี้ว่าการสื่อสารข้อมูลให้เกษตรกรรับรู้และเข้าใจข้อดีของการชำระหนี้มากขึ้นผ่านช่องทางเครือข่ายทางสังคมท้องถิ่น (Social Network) ที่เกษตรกรมีความคุ้นเคยไม่ว่าจะเป็น ผู้ใหญ่บ้าน ร้านค้าในชุมชน และคนในชุมชนที่ชาวบ้านเชื่อถือ (Local Influencer) สามารถกระตุ้นให้เกษตรกรมีพฤติกรรมการชำระหนี้ที่ดีขึ้นได้
ในช่วงสุดท้าย เป็นการเสวนาหัวข้อ “แก้หนี้เกษตรอีสานอย่างไร ให้ยั่งยืน” ผ่านการเสวนากับผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน ได้แก่ ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ คุณจักรพงษ์ เมษพันธุ์ (โค้ชหนุ่ม) ผู้ก่อตั้งและโค้ชการเงินของ The Money Coach และคุณพสธร หมุยเฮบัว เกษตรกรและผู้ใหญ่บ้านนักพัฒนา บ้านแฝก-โนนสำราญ จ.นครราชสีมา โดยมี ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เป็นผู้ดำเนินรายการ จากการเสวนาสรุปประเด็นสำคัญ แนวทางการแก้ปัญหาหนี้เกษตรกรให้เกิดความยั่งยืนได้ 4 ข้อ ดังนี้ 1) เพิ่มรายได้ เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ปัจจุบันได้เกิดขึ้นแล้วในหลายพื้นที่ผ่านการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ เช่น การทำนาหยอดแทนนาหว่านที่สามารถช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตได้จริง แต่ยังขาดปัจจัยสนับสนุนที่จะนำไปสู่การขยายผลในวงกว้าง 2) ความรู้และทัศนคติทางการเงิน แม้จะสำคัญแต่อาจไม่เพียงพอ จำเป็นต้องเปลี่ยนความรู้ไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมด้วย เริ่มจากการทำบัญชีรายรับ รายจ่าย เพื่อให้รู้กำไรหรือขาดทุน รวมทั้งการจัดสรรรายได้ก้อนใหญ่รายปีจากการทำเกษตรให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายรายเดือน และกันเงินสำหรับเป็นเงินทุนในการเพาะปลูกรอบถัดไปก่อนนำไปใช้จ่ายอย่างอื่น อีกทั้งควรเปลี่ยนทัศนคติด้านการเงินที่ไม่ถูกต้อง เช่น การกู้ยืมเงินเพื่อไปใช้หนี้เก่าเป็นเรื่องปกติ หรือการมีหนี้ติดตัวดีกว่าการเอาทรัพย์สินไปขายเพื่อชำระหนี้ 3) การสร้างกลไกที่เหมาะสม ให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงนวัตกรรมเพื่อยกระดับการผลิตได้ง่ายขึ้น เช่น เกษตรกรที่นำเทคโนโลยีมาใช้สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ สามารถเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำได้ หรือเข้าถึงสินเชื่อลีสซิ่งดอกเบี้ยต่ำสำหรับเกษตรกรที่ซื้อเครื่องจักรมาใช้เพื่อยกระดับการผลิต 4) นโยบายภาครัฐ ควรเป็นตัวกลางช่วยสร้างแรงจูงใจให้เกษตรช่วยเหลือตนเองได้ เอื้อให้เกิดความยั่งยืนในภาคเกษตร เช่น นโยบายการปล่อยกู้ไม่ให้เกินศักยภาพของเกษตรกร ไม่สร้างภาระหนี้เกินความจำเป็น รวมถึงออกแบบนโยบายในการกระตุ้นให้เกษตรกรมีพฤติกรรมการชำระหนี้ดีขึ้น ตัวอย่างเช่น “นโยบายธนาคารใกล้บ้าน” และ “ชำระดีมีโชค”.