ชุมพร – รับฟังความคิดเห็น การเปิดช่องทางผ่านแดนไทย – เมียนมา ช่องหินดาด
ชุมพร – รับฟังความคิดเห็น การเปิดช่องทางผ่านแดนไทย – เมียนมา ช่องหินดาด
ชุมพร – จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็น การเปิดช่องทางผ่านแดนไทย – เมียนมา ช่องหินดาด
วันนี้(22 ส.ค.) พ.อ. โชติ ยิกุสังข์ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดชุมพร พร้อมด้วย นายสุทธิภัทร วัฒนพงศ์ไพบูลย์ ป้องกันจังหวัดชุมพร และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่บ้านสันตินิมิตร ตำบลรับร่อ อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร เพื่อร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ตามโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนแผนบริหารจัดการชายแดนด้านความมั่นคงจังหวัดชุมพร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ซึ่งในที่ประชุมได้หารือในประเด็นการเปิดช่องทางผ่านแดน ในเขตอำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร กับอำเภอปกเปี้ยน จังหวัดมะริด สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา โดยใช้เส้นทางผ่าน บริเวณ ช่องหินดาด หมู่ที่ 10 ตำบลรับร่อ อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร โดยพี่น้องประชาชนในพื้นที่ยกมือเห็นด้วยในการเปิดจุดผ่านแดนไทย – เมียนมา ดังกล่าว
สำหรับพื้นที่ชายแดนด้านอำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร ที่ติดต่อกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา มีระยะทางประมาณ 58 กิโลเมตร นับว่าเป็นแนวเขตชายแดนที่มีความยาวสามารถพัฒนายกระดับความสำคัญเปิดเป็นช่องทางติดต่อไปมาหาสู่ระหว่างประชาชนทั้ง 2 ประเทศ ในการค้าขาย ทำธุรกิจ รวมถึงแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ประเพณี ระหว่างกัน และคาดว่าในอนาคตช่องทางนี้อาจเป็นช่องทางสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรม การเกษตรปศุสัตว์ การประมง ตลอดจนอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
โดยก่อนหน้านี้ จังหวัดชุมพรได้จัดการประชุมเพื่อขับเคลื่อนแผนบริหารจัดการชายแดน ด้านความมั่นคงจังหวัดชุมพร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และ เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ โรงแรมนานาบุรี อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร และได้ข้อสรุป ซึ่งมีความเห็นว่า การเปิดช่องทางผ่านแดน ในเขตอำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร กับอำเภอปกเปี้ยน จังหวัดมะริด สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา จะเป็นโอกาสที่ดีของจังหวัดชุมพร ในการพัฒนาเศรษฐกิจ ส่งเสริมการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกัน จะเกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องในภาคต่างๆ อย่างมากมายเป็นการสร้างโอกาส สร้างรายได้ให้กับภาคธุรกิจการค้าและภาคประชาชนของทั้ง 2 ประเทศ ในบริเวณพื้นที่ชายแดน ภายใต้การมีข้อตกลงร่วมมือกันทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของทั้ง 2 ประเทศ รวมถึงการวางแผนงาน และงบประมาณในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ถนน ไฟฟ้า ประปา อินเทอร์เน็ต และสถานที่ทำการของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการเปิดช่องทางผ่านแดนของทั้ง 2 ประเทศต่อไป
ธนากร โกศลเมธีรายงาน 0818923514