23/11/2024

นราธิวาส – กรมทางหลวงจัดประชุมเปิดพื้นที่ฟังเสียงสะท้อนชาวบ้านในพื้นที่ปัตตานี

นราธิวาส – กรมทางหลวงจัดประชุมเปิดพื้นที่ฟังเสียงสะท้อนชาวบ้านในพื้นที่ปัตตานี

ปรับปรุงทางหลวงหมายเลข 42 กับทางหลวงหมายเลข 4356 (แยกบานา) เพื่อความสะดวกสบายในการสัญจรเพิ่มขึ้น และประสิทธิภาพโครงข่ายเส้นทางในการเดินทางล่องใต้ให้กับประชาชนในอนาคต
ที่หอประชุม อบจ.ปัตตานี นายสมัคร เลือดวงหัด ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงปัตตานี เป็นประธานเปิดการประชุมปฐมนิเทศโครงการ(การประชุมสัมมนา ครั้งที่ 1) โครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสํารวจและออกแบบทางแยกต่างระดับ จุดตัดทางหลวงหมายเลข 42 กับทางหลวงหมายเลข 4356 (แยกบานา) และตัดถนนรามโกมุท เพื่อนําเสนอข้อมูลรายละเอียดโครงการ แผนการศึกษา และแผนการดําเนินงาน และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการพัฒนาโครงการ พร้อมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการศึกษาของโครงการฯ จากทุกภาคส่วน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 67

ทางหลวงหมายเลข 42 เป็นเส้นทางคมนาคมสายหลักสําคัญ ที่เชื่อมโยงภาคใต้ตอนล่างเข้าไว้ด้วยกัน โดยปัจจุบันทางหลวงหมายเลข 42 ช่วงที่พาดผ่านจังหวัดปัตตานี มีชุมชนที่ประชาชนอาศัยอยู่กันหนาแน่น มีสถานที่สําคัญ เป็นพื้นที่ธุรกิจและท่องเที่ยวสําคัญ ขณะเดียวกันยังมีจุดตัดทางแยกใกล้กันจํานวน 2 จุดตัด ทําให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดอย่างมากโดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน เกิดความไม่สะดวกและล่าช้าในการเดินทาง รวมถึงเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ดังนั้นจึงจําเป็นต้องมีการแก้ไขปัญหาการจราจรบนทางหลวงหมายเลข 42 ในช่วงดังกล่าวและโครงข่ายทางหลวงใกล้เคียงอย่างเร่งด่วน

กรมทางหลวง จึงได้ดําเนินการว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท วิศวกร 31 จํากัดบริษัท อินฟรา พลัส จํากัด บริษัท เคพีเอ็มอี จํากัด และบริษัท สิ่งแวดล้อมสยาม จํากัด ดําเนินการศึกษาโครงการฯ เพื่อสํารวจและออกแบบปรับปรุงและแก้ไขปัญหาการจราจร ตลอดจนจัดเตรียมเอกสารข้อมูลประกอบการประกวดราคาและประเมินราคา และเพื่อศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับโครงการตามประกาศกระทรวงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและดําเนินการด้านการมีส่วนร่วมกับประชาชน ในพื้นทีโครงการจำนวน 11 หมู่บ้าน 3 ตำบล(บานา ตะลุโบะ ตันหยงลุโละ) โดยมีระยะเวลาการศึกษา ตั้งแต่ 26 มิ.ย.67-18 ก.ย. 68 รวม 450 วัน

สําหรับพื้นที่โครงการฯ อยู่ที่ทางหลวงหมายเลข 42 ช่วงกิโลเมตรที่ 107+777 (แยกบานา) ถึงกิโลเมตรที่ 107+173 หรือช่วงแยกรามโกมุท ตั้งอยู่ในเขตตําบลบานา อําเภอเมือง จังหวัดปัตตานี โดยมีแนวคิดในการแก้ปัญหาเบื้องต้นของทางแยกให้เหมาะสมและสอดคล้องกับหลักวิศวกรรม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด เช่น ทางแยกระดับดิน สะพานต่างระดับข้ามทางแยก วงเวียน การติดตั้งไฟสัญญาณจราจร เป็นต้น เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดและเพิ่มประสิทธิภาพของโครงข่ายทางหลวงใกล้เคียง ให้ประชาชนสามารถเดินทางได้สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย รวมทั้งเป็นการเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจการค้า การลงทุนการท่องเที่ยวและช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนอีกด้วย

นายสมัคร เลือดวงหัด ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงปัตตานี กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 60 ถึงปัจจุบันของปัตตานี ได้มีการศึกษาหลายโครงการ เพื่อให้มีความสมบูรณ์แบบ สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของพี่น้องในพื้นที่ “ปัตตานีโชคดีที่ได้ถนนสี่เลน อานิสงค์มาจากทางหลวงสาย 418 ซึ่งกรมทางหลวงกำหนดโครงข่ายในชายแดนใต้และการเสนอของพี่น้องประชาชน องค์ประกอบของโครงการเพื่อความสะดวก ปลอดภัย ความเจริญและสอดคล้องกับพื้นที่ ให้ความมั่นใจว่ากรมทางหลวงได้รับการผลักดันจากกระทรวงมหาดไทยและนักการเมืองในพื้นที่ได้นำเสนอไปบยังกรมทางหลวง เป็นการคมนาคมในอนาคตที่ช่วยเสริมสร้างศักยภาพของปัตตานีได้เป็นอย่างดี โดยให้บริษัทที่ปรึกษานำข้อมูลไปออกแบบได้ตรงใจพี่น้องในพื้นที่มากที่สุด”“เราศึกษาด้านวิศวกรรมจราจร การมีส่วนร่วมของประชาชน ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มาสรุปความก้าวหน้าเพื่อให้ได้โครงการที่ดีต่อพี่น้องมากที่สุด โดยมีการรับฟังความคิดเห็น 5 ครั้ง ประชุม 5 ครั้ง ซึ่งถนนเส้นนี้เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่รองรับการจราจรของปัตตานี คนที่รู้ดีที่สุดคือในพื้นที่ มีขอบเขตการสำรวจ การประกวดราคา การประเมินราคาค่าก่อสร้าง ว่าคุ้มค่าหรือไม่ โดยเริ่มจากหน้าห้างอาเซียนมอลล์ สิ้นสุดที่แยกมัสยิดกรือเซะ” นายโอสธี เรืองสว่าง ที่ปรึกษาด้านวิศวกรรม กล่าว

นายธีรวีร์ ปาติปา ที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม บอกถึงความต่อเนื่องของโครงการนี้ที่มาจากทางแยกต่างระดับตะลุโบะ ในด้านการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมขั้นรายละเอียด(EIA) ว่า “โครงการจัดการศึกษาด้านกายภาพ ชีวภาพ คุณค่าการใช้ประโยชน์ คุณค่าต่อคุณภาพชีวิต นำข้อคิดเห็นมากำหนดเป็นมาตรการแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้วยปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม 37 ปัจจัย รวบรวมเสนอต่อผู้ขำนาญการต่อไป ทำเป็นระยะๆ 5 ครั้ง โดยพื้นทีไม่อยู่ในเขตห้ามล่า ชายทะเล หากอยู่ในเขตโบราณสถาน 5 แห่ง มีแผนการเก็บตัวอย่าง น้ำ อากาศ ต้นไม้ ฝุ่น pm2.5 การสั่นสะเทือนของเครื่องจักร เป็นต้น เพื่อประโยชน์ของพี่น้องในพื้นที่มากที่สุด”

สำหรับแนวทางการดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน ด้วยการให้ข้อมูลข่าวสาร ปรึกษาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในกลุ่มเป้าหมาย 7 กลุ่มคือ กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ กลุ่มหน่วยงานผู้รับผิดชอบจัดทำรายงาน EIA กลุ่มหน่วยงานที่ทำหน้าที่พิจารณา EIA หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ องค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม/พัฒนาเอกชน/สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน และประชาชนที่สนใจโครงการ

โดยมีการประชุมปฐมนิเทศโครงการ(สัมมนา ครั้งที่ 1) ก.ย. 67 ประชุมกำหนดรูปแบบทางเลือก(กลุ่มย่อยครั้งที่ 1) ต.ค. 67 สรุปผลการคัดเลือกรูปแบบ(สัมมนาครั้งที่ 2) ม.ค. 68 หารือ มาตรการลดผลกระทบ(กลุ่มย่อยครั้งที่ 2) พ.ค. 68 และสรุปผลการศึกษาโครงการ(สัมมนา ครั้งที่ 3) สำหรับข้อเสนอแนะของผู้เข้าร่วมสัมมนา“กังวลเสียงจากการก่อสร้าง รวมทั้งพื้นที่โรงเรียนที่อยู่ต่ำที่มีน้ำท่วมขัง ให้ศึกษาว่าจะช่วยแก้ไขในจุดเหล่านี้ได้ยังไงบ้าง” นางรัตนา ณ ปัตตานี ผู้อำนวยการ รร.ชุมชนบ้านกรือเซะ เสนอข้อห่วงใย

ด้าน ปลัด อบต.ตันหยงลุโละ บอกถึงความคุ้มค่าของโครงการและเห็นด้วยกับการออกแบบแบบที่ 1 รวมทั้งควรออกแบบให้ประชาชนมีส่วนร่วมและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์โดยยกระดับเป็นการเปิดพื้นที่การท่องเที่ยว

นายรอสดี เงาะ นายก อบต.บานา กล่าวถึงความคุ้มทุนและความสะดวกแก่พี่น้องในพื้นที่และสังคม ลดและแก้ปัญหาการจราจรที่มีอยู่ให้หมดไปภายหลังการประชุมครั้งนี้ กรมทางหลวง จะรวบรวมข้อมูลความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนนํามาพิจารณาประกอบการศึกษาและออกแบบรายละเอียดของโครงการให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งจะดําเนินการจัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อประชาสัมพันธ์รายละเอียดข้อมูลโครงการไปสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่โครงการได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง โดยผู้สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าและรายละเอียดของโครงการฯ ได้ที่ เว็บไซต์www.ทางแยกต่างระดับบานา-รามโกมุท.com และ แฟนเพจเฟซบุ๊ก : ทางแยกต่างระดับบานา-รามโกมุท

ข่าว.แวดาโอ๊ะ หะไร จ.นราธิวาส

ข่าวที่น่าติดตาม