นายกฯ ประชุมวอร์รูมใหญ่แก้น้ำท่วม จ่อลงพื้นที่เชียงรายพรุ่งนี้ ย้ำข้าราชการไม่ต้องมาต้อนรับ ให้หน้างานอยู่กับประชาชนเป็นหลัก
นายกฯ ประชุมวอร์รูมใหญ่แก้น้ำท่วม จ่อลงพื้นที่เชียงรายพรุ่งนี้ ย้ำข้าราชการไม่ต้องมาต้อนรับ ให้หน้างานอยู่กับประชาชนเป็นหลัก สั่งการดูแลอพยพประชาชน-สัตว์เลี้ยง พร้อมวอนผู้ประสบภัยออกจากพื้นที่เสี่ยง ไม่ต้องกังวล หลังจากนี้เรื่องการเยียวยารัฐบาลจะขอรับไว้เอง
วันนี้ (12 กย.) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหารือการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและจังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม , นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม , นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ดิจิทัลเศรษฐกิจและสังคม , นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย , นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม , นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข , นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ , นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยทีมราชการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม
จากนั้น นายกรัฐมนตรี รับฟังรายงานสถานการณ์ และ การช่วยเหลือที่กำลังดำเนินการ จาก กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ส่วนหน้า) จ.เชียงราย , ปลัดกระทรวงมหาดไทย , ผู้บัญชาการทหารสูงสุด , ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย และ เชียงใหม่ , กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย , กรมชลประทาน , กองทัพบก , กรมทรัพยากรธรณี , กรมอุตุนิยมวิทยา , GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและ ภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
ช่วงท้าย นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการว่า ตามที่ได้รับรายงานสถานการณ์ และการช่วยเหลือของส่วนราชการในพื้นที่เบื้องต้น เพื่อให้การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเข้าถึงพี่น้องประชาชนโดยเร็วที่สุด ขอให้ทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน ดังนี้
1. กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดูแลเรื่องการอพยพประชาชน และสัตว์เลี้ยงให้มีความปลอดภัย ตลอดจนสนับสนุนด้านอาหาร และน้ำดื่ม รวมถึงอาหารสัตว์ให้เพียงพอ
2. กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และกระทรวงสาธารณสุข ดูแลเรื่องความเป็นอยู่ที่ศูนย์อพยพ และยารักษาโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเปราะบาง โดยให้แบ่งมอบพื้นที่ กำหนดภารกิจ และหน่วยปฏิบัติในการให้ความช่วยเหลือประชาชนในด้านต่าง ๆ ให้ชัดเจน เช่น การดูแลด้านการดำรงชีพ การจัดตั้งศูนย์พักพิง การประกอบอาหาร ถุงยังชีพ การแพทย์ และการสาธารณสุข โดยให้มีการใช้ทรัพยากร และอุปกรณ์เครื่องมือของแต่ละหน่วยงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด
3. ให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม บูรณาการร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการดูแลความปลอดภัยของทรัพย์สิน และบ้านเรือนของราษฎร
4. เมื่อน้ำลด ให้ทุกส่วนราชการตรวจสอบ ความเสียหายระบบสาธารณูปโภค ถนน สะพาน ระบบไฟฟ้า และประปา เพื่อสร้างความเข้าใจ รับฟังปัญหาความต้องการ และดำเนินการปรับปรุงให้เข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว พร้อมทั้งแสวงหาความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ เช่น หน่วยทหารพัฒนา เพื่อช่วยเหลือประชาชน ร่วมกันทำความสะอาดบ้านเรือน ถนน และพื้นที่สาธารณะที่ถูกน้ำท่วม
5. มอบหมายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย ตรวจสอบ และเสริมความมั่นคงแข็งแรงเชิงโครงสร้างให้กับคันกั้นน้ำ และระบบระบายน้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชน พื้นที่เขตเศรษฐกิจสำคัญ และเร่งรัดปรับปรุงให้สามารถใช้งานได้โดยเร็ว
ในเรื่องของงกลาง รัฐบาลได้กำหนดการที่จะมีส่วนช่วยเหลือประชาชน ไม่ใช่แค่ตอนเยียวยาแต่ช่วยตอนนี้ด้วย และอยากให้ทุกฝ่ายรักษาชีวิตประชาชนเป็นหลักโดยด่วน และอพยพออกมาจากพื้นที่น้ำท่วมให้เร็วที่สุด นี่คือเหตุจำเป็นและเร่งด่วน
6. ขอให้กรมทรัพยากรธรณี เร่งรัดการดำเนินงานเกี่ยวกับระบบเตือนภัยในพื้นที่เสี่ยงภัยสูงโดยด่วน เพื่อให้ประชาชนรับทราบล่วงหน้า และเตรียมการได้ทันเวลา ซึ่งแม้ว่าระบบเตือนภัยจะมีแล้ว แต่ประชาชนจำนวนหนึ่งยังไม่อยากออกมาจากบ้าน เพราะเสียดายทรัพย์สินซึ่ง เราก็เข้าใจว่าการจะทิ้งทรัพย์สินเป็นเรื่องที่เสียดาย แม้ระบบเตือนภัยได้ทำการเตือนแล้ว ซึ่งตนเองอยากบอกพี่น้องประชาชนว่า เราจะขอรับดูเรื่องการเยียวยาและดูแลประชาชน ดังนั้นขอให้ทุกท่านรักษาชีวิตตัวเองก่อน และ ออกมาจากพื้นทีีประสบภัยโดยเร็วที่สุด ส่วนเรื่องอื่นรัฐบาลจะช่วยได้ในรูปแบบไหนบ้าง จากนี้จะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะช่วยดูแลอย่างดีที่สุด
7. เนื่องจากประเทศไทยยังคงอยู่ในช่วงฤดูฝน ขอให้ส่วนราชการที่
ทำหน้าที่คาดการณ์สภาพอากาศ รวมทั้ง GISTDA ติดตามปริมาณฝน และระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงวิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์ แนวโน้ม และแจ้งเตือนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งแจ้งเตือนให้ประชาชนในชุมชนและหมู่บ้าน ทราบถึงแนวทาง การปฏิบัติตนอย่างปลอดภัย และช่องทางในการรับความช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมในการอพยพ
8. ให้พิจารณาการใช้เงินจากกองทุน และการตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย (หากมีผู้ประสงค์จะร่วมบริจาค) โดยมอบหมายสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
9. ขอมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำในระยะยาวต่อไป
ช่วงท้าย นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (13 ก.ย.) ตนและคณะรัฐมนตรีบางส่วน ได้วางแผนว่าจะไปลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย เพื่อไปดูสถานการณ์จริง และสั่งการได้อย่างเร่งด่วนกับผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยขอให้ทุกภาคส่วนดำเนินการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่อย่างปกติ ไม่ต้องมาต้อนรับ เพราะไม่อยากให้กระทบถึงพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่รอความช่วยเหลือ ตั้งใจที่จะไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ไม่ได้อยากเป็นเพิ่มภาระให้กับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่
“สุดท้ายนี้ ขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานผลการดำเนินงานต่อท่านเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นรายวัน หรือเร็วกว่านั้นหากมีสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อที่จะได้ประเมินสถานการณ์ได้ทันเวลา และเตรียมรับมือกับปัญหา ตลอดจนหามาตรการเยียวยาประชาชนได้อย่างเหมาะสม ซึ่งดิฉันจะเข้ามาติดตามงานด้วยตนเองอย่างใกล้ชิด” นายกรัฐมตรี กล่าวจบในที่สุด