“พิชัย” ถกร่วมองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ในเวทีอาเซียน ยืนยันไทยพร้อมร่วมใช้ AI จดสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญาร่วม10ประเทศ ช่วย MSMEs แข่งขันในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล
รมว.พิชัย ร่วมประชุมหารือกับรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน 10 ประเทศ ในประเด็นความร่วมมือกับองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ในการส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูลร่วมกันในอาเซียน เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ MSMEs ไทย ที่เป็นกลุ่ม Startup ในการใช้ AI ช่วยตรวจสอบในการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา และช่วยปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของตน รวมถึงการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล
วันที่ 18 กันยายน 2567 เวลา 10.00 น. ณ นครหลวงเวียงจันทร์ สปป.ลาว นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน 10 ประเทศ ได้ร่วมกันหารือกับผู้อำนวยการใหญ่องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ในประเด็นความร่วมมือการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาเชิงพาณิชย์ การร่วมมือกันระหว่างอาเซียนสร้างมาตรฐาน เพิ่มขีดความสามารถของอาเซียนในเศรษฐกิจดิจิทัล และผลักดันการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาในเศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจสีฟ้า ทั้งยังส่งเสริมและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะ SMEs ที่ช่วยในการเข้าถึงการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจของตนได้“
นายพิชัย กล่าวว่า ”ไทยจะร่วมผลักดันประเด็นความร่วมมือกับองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ในการพัฒนาเสริมสร้างนวัตกรรม ด้วยการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการสร้างระบบค้นหาข้อมูลการจดสิทธิบัตร และเครื่องหมายการค้าอย่างเต็มที่ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงฐานข้อมูลทรัพย์สินทางปัญญาของทุกประเทศสมาชิกอาเซียนได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น ซึ่งจะช่วยยกระดับขีดความสามารถของภาคเอกชน
โดยเฉพาะกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) เยาวชน สตรี และผู้พิการ ในการนำทรัพย์สินทางปัญญาเชิงพาณิชย์ ไปจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาให้ง่ายและรวดเร็ว การปกป้องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของตน และการเพิ่มมูลค่างานของตนในการได้รับความคุ้มครองจากการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลนี้ในการผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัล การใช้นวัตกรรม และเศรษฐกิจสร้างสรรค์”
โดยคาดว่าความร่วมมือดังกล่าวจะยกระดับขีดความสามารถด้านทรัพย์สินทางปัญญาภายในภูมิภาคอาเซียน ช่วยให้การเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียนจะมีมูลค่าถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2573 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากระบบทรัพย์สินทางปัญญาที่มีความก้าวหน้าและสามารถปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีใหม่ ๆ