22/11/2024

ยโสธร วัดต่างๆกวนข้าวทิพย์คึกคัก

ยโสธร วัดต่างๆกวนข้าวทิพย์คึกคัก

เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2567จังหวัดยโสธร ก่อนถึงวันออกพรรษา ตามวัดในคุ้มต่างๆ ในเขตเทศบาลเมือง ก็ได้มีประชาชนออกไปจัดเตรียมวัตถุดิบกวนข้าวทิพย์ โดยเฉพาะวัดกลางศรีไตรภูมิคุ้มบ้านกลาง ตามที่สื่อของเราได้ออกตะเวนดู พบบรรยากาศเต็มไปด้วยความคึกคัก มีนาง จันทร์แปลง จันทร์ทอง เป็นประธาน และเป็นผู้บริหารจัดการด้านงบประมานของวัดและบริจาคสมทบจากชาวคุ้ม ผู้เข้าร่วมมีทั้งคนเฒ่าคนแก่ วัยกลางคน ออกมาร่วมแรงร่วมใจร่วมมือกัน จัดเตรียมวัตถุดิบอันเป็นส่วนประกอบของการผลิตหรือกวนเป็นข้าวทิพย์ จะเห็นได้ว่าวัตถุต่างๆประกอบด้วย น้ำตาล น้ำกะทิสดมะพร้าว มัน ข้าวโพด มันสระคู และอื่นๆผักหลากหลายชนิด ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นพืชผักสมุนไพร ไม่เป็นอันตราย เกิดผลดีต่อด้านสุขภาพร่างกาย การผลิตหรือกวนข้าวทิพย์ นาง จันทร์แปลง ประธานชาวคุ้มบอกว่า หลังจากจัดเตรียมวัตถุดิบ แล้วนำมาตำโดยใช้ครกตำข้าวแบบโบราณ ( ชาวอีสานเรียกว่าครกมอง ) ยังเป็นการอนุรักษ์สืบทอดประเพณีมาแต่บรรพบุรุษดึกดำบัน

     

สำหรับการทำหรือผลิตข้าวทิพย์ นอกจากจะมีการจัดเตรียม ช่วยกันลงมือไปคนละหน้าที่ ชาวคุ้มวัดศรีไตรภูมิ จะใช้ครกตำข้าว หรือ อันหนึ่งเรียกว่า ครกมองตำข้าวแบบโบราณ ใช้แรงงานคนล้วนๆ ไม่ว่าจะมีคนเยียบหางสากครกมอง มีคนคอยพลิกวัตถุขึ้นไปมาทำกันแบบไม่รู้จักเหนื่อย จะดูได้สีหน้าผู้ที่มาร่วม ต่างก็ยิ้มแย้มแจ่มใสพากันเสียสละเงินกำลังกายช่วยเหลือคนละไม้คนละมือ การทำกวนข้าวทิพย์ไม่ได้เป็นของง่าย ต้องใช้เวลากวนกันทั้งคืน บางวัดจะมีพระสงฆ์สวดพุทธมนต์ควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้ได้ข้าวทิพย์ศักดิ์สิทธิ์อย่างสมชื่อ การทำกวนข้าวส่วนใหญ่จะทำคล้ายคลึงกัน จะแตกต่างออกไปก็เล็กน้อย ใช้ไฟจากถ่านไม้อย่างดี ไฟต้องร้อนอยู่ตลอดเวลา แต่ก็ไม่ให้ร้อนแรงจนเกินไป เริ่มกวนตั้งแต่ส่วนผสมที่เป็นน้ำ กวนกันไปจนกว่าน้ำที่กลั่นออกมากลายเป็นเนื้อเดียวข้นๆเหนียวๆเหมือนขนมทั่ว ข้าวทิพย์นอกจากนำไปถวายต่อพระสงฆ์แล้ว ยังได้จัดเตรียมแจกจ่ายให้ผู้มาร่วมงานวันออกพรรษา จะบริจาคเงินหรือไม่ก็ตามก็ถือทุกคนได้รับประทานข้าวทิพย์ ที่มีรสชาติแซบกลิ่นหอมหวานอร่อย ผู้ใดได้กินข้าวทิพย์ถือว่าได้บุญได้กุศลเป็นสิริมงคล ตามขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของชาวอีสานอย่างแท้จริง

     

การกวนข้าวสำมะปิ หรือ ข้าวทิพย์ หรือ ข้าวมธุปายาส เป็นอีกประเพณีหนึ่งที่จะทำในงานประเพณีออกพรรษาตามความเชื่อของชาวอีสาน ซึ่งได้ปฏิบัติต่อเนื่องมาเป็นประจำทุกปี
ส่วนประวัติของการทำข้าวสำมะปิ หรือข้าวทิพย์ ในพุทธประวัติเรียกว่า ข้าวมธุปายาส เป็นข้าวทิพย์ที่นางสุชาดา บุตรีกฏุมพี ในสมัยพุทธกาล จัดปรุงขึ้นแล้วนำไปถวายพระมหาบุรุษก่อนที่จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ซึ่งหลังจากพระองค์ได้เสวยข้าวมธุปายาสของนางสุชาดา ก็ได้ทรงบรรลุอภิสัมโพธิญาณในย่ำรุ่งของคืนนั้นเอง

เหตุนี้ ชาวบ้านจึงเชื่อว่าข้าวมธุปายาสเป็นอาหารทิพย์ช่วยให้สมองดี เกิดปัญญาแก่ผู้บริโภค

 

ชัยพร พันสาย รายงานจากจังหวัดยโสธร 0806944636

 

ข่าวที่น่าติดตาม