01/11/2024

สำนักงานตำรวจแห่งชาติแถลงปฏิบัติการจับกุม 2 แม่ลูก “นัทตี้ ไดอารี่” กลางเมืองอินโดนีเซีย หลอกเหยื่อลงทุนหุ้นกว่า 6,000 ราย เสียหายกว่า 2,000 ล้าน

สำนักงานตำรวจแห่งชาติแถลงปฏิบัติการจับกุม 2 แม่ลูก “นัทตี้ ไดอารี่” กลางเมืองอินโดนีเซีย หลอกเหยื่อลงทุนหุ้นกว่า 6,000 ราย เสียหายกว่า 2,000 ล้าน

ตามที่ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยกำหนดนโยบายเร่งด่วน 10 ข้อ ซึ่งนโยบายข้อที่ 9 กำหนดว่า “รัฐบาลจะเร่งแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ มิจฉาชีพ และอาชญากรรมข้ามชาติ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน โดยผนึกกำลังกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อรับมือกับอาชญากรรมออนไลน์อย่างรวดเร็ว เพื่อให้ความช่วยเหลือและเยียวยาเหยื่อได้อย่างทันท่วงที”

วันนี้ (ศุกร์ที่ 25 ตุลาคม 2567) เวลา 13.30 น. พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) มอบหมายให้ พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร. พร้อมด้วย พล.ต.ต.ภาณุมาศ บุญญลักษม์ รอง ผบช.สตม., พล.ต.ต.อรรถสิทธิ์ สุดสงวน รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.เชิงรณ ริมผดี ผบก.ตม.2, พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษก ตร. และ ร.ต.อ.วิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ร่วมแถลงข่าว ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง กรณีปฏิบัติการจับกุม 2 แม่ลูก “นัทตี้ ไดอารี่” กลางเมืองอินโดนีเซีย หลอกเหยื่อลงทุนหุ้นกว่า 6,000 ราย เสียหายกว่า 2,000 ล้าน

สืบเนื่องจากเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ได้มีผู้เสียหายจำนวนมากเข้าแจ้งความร้องทุกข์ ณ ศูนย์แจ้งความกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง , กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) และสถานีตำรวจทั่วประเทศ เพื่อดำเนินคดีกับเน็ตไอดอลสาว ชื่อ นางสาว สุชาตาฯ หรือ นัทตี้ Nutty Diary ยูทูบเบอร์ชื่อดัง รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 2,000 ล้านบาท และมีผู้เสียหายตกเป็นเหยื่อกว่า 6,000 คน ซึ่งในเวลาต่อมาจำนวนผู้เสียหายได้เพิ่มขึ้น และมีการแจ้งความดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ต้องหาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอีกหลายหน่วยงาน เช่น บช.สอท. และสถานีตำรวจในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ

สำหรับ นางสาว สุชาตาฯ หรือ นัทตี้ Nutty Diary เป็นเน็ตไอดอลที่มีชื่อเสียงมาจากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เคยเป็นอดีตศิลปินจนเคยมีผลงานเพลงในประเทศเกาหลีใต้ ก่อนผันตัวเป็น “Youtuber” เจ้าของช่อง “Nutty’s Diary” มีผู้ติดตามกว่า 8 แสนคน ต่อมาเริ่มมีการลงโฆษณาและชักชวนประชาชนลงทุนผ่านทางแอปพลิเคชัน Instragram และแพลตฟอร์มอื่นๆ เพื่อรับฝากเทรดหุ้น และอนุพันธ์ของหุ้น มีการลงโพสต์โชว์ผลกำไร และอ้างตัวเป็นโค้ชเทรดหุ้นว่ามีใบอนุญาตรับรองจาก ก.ล.ต. สามารถสอนนักเรียนเทรดหุ้นได้ และยังมีการกล่าวอ้างว่า ได้มีการจัดตั้งบริษัท สุชาดา จำกัด ทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท และได้รับใบอนุญาตการลงทุนจาก ก.ล.ต. อีกด้วย

ต่อมากลุ่มผู้ต้องหาได้ให้ผู้หลงเชื่อเข้าพูดคุยผ่านกลุ่ม Line ที่มีสมาชิกจำนวนกว่า 3,000 คน มีการอัปเดตและลงข้อมูลชวนเชื่ออย่างต่อเนื่อง ทำให้เหยื่อที่เข้าร่วมกลุ่มเชื่อว่าผู้ประกอบธุรกิจนี้มีการเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดด เช่น มีการซื้อคอนโดที่พัทยาจำนวนหลายห้อง ซื้อโรงงาน คลินิก ที่ดิน รถยนต์หรู และใช้ชีวิตอย่างหรูหรา ซึ่งภาพลักษณ์ดังกล่าว ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อตัดสินใจร่วมลงทุน ในส่วนรูปแบบการลงทุน กลุ่มผู้ต้องหาจะเปิดให้ลงทุนขั้นต่ำเป็นจำนวน 5,000 บาท สูงสุดไม่เกินจำนวน 5,000,000 บาท ต่อ 1 บิล โดยแต่ละคนจะมี่กี่บิลหรือกี่แนบท้ายสัญญาก็ได้ โดยระยะเวลาในการได้รับกำไรจะใช้เวลาประมาณ 30 วัน นับจากวันที่ระบุในสลิปโอนเงิน ในส่วนกำไรจากการเทรดจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาการทำสัญญา เช่น สัญญา 3 เดือน มีอัตรากำไร 25% ของเงินทุน สัญญา 6 เดือน มีอัตรากำไร 30% ของเงินทุน สัญญา 12 เดือน มีอัตรากำไร 35% ของเงินทุน โดยสามารถรับเงินจากกำไรที่ได้จากการเทรดได้ทุกเดือนตามข้อตกลงในการทำสัญญา โดยจะให้ผู้เสียหายโอนเงินพร้อมส่งข้อมูลและสลิปโอนเงินผ่านทางแอปพลิเคชัน Line

จากการที่เหยื่อลงทุน กลุ่มผู้ต้องหาไม่ได้ระบุว่าจะนำเงินที่ได้รับฝากนั้นไปลงทุนในหุ้นบริษัทใด สุดท้ายเมื่อถึงเวลารับเงินปันผล ผู้ที่หลงเชื่อลงทุนกลับไม่ได้รับเงินปันผลและไม่สามารถขอรับเงินลงทุนคืนได้แต่อย่างใด คาดว่ามีผู้เสียหายทั่วประเทศรวมกันกว่า 6,000 ราย สร้างความเสียหายกว่า 2 พันล้านบาท โดยมีผู้เข้าแจ้งความดำเนินคดีแล้วจำนวน 475 ราย

สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดรวบรวมพยานหลักฐาน จนสามารถขออำนาจศาลทั่วประเทศออกหมายจับ นางสาวสุชาตาฯ อายุ 31 ปี ได้ทั้งสิ้น จำนวน 13 หมายจับ และหมายจับ นางธานิยาฯ อายุ 66 ปี (มารดาของนัทตี้) ได้ทั้งสิ้นจำนวน 2 หมายจับ และอยู่ระหว่างดำเนินการออกหมายจับเพิ่มเติมอีกหลายคดี ซึ่งต่อมา กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้มีมติรับคดี นางสาวสุชาดาฯ หรือ นัทตี้ เป็นคดีพิเศษ

จากการสืบสวนทราบว่า ผู้ต้องหาทั้ง 2 ราย ได้หลบหนีออกนอกประเทศผ่านช่องทางธรรมชาติไปก่อนหน้านี้แล้ว สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงได้แจ้งไปยัง INTERPOL และตำรวจในประเทศต่าง ๆ เพื่อสืบสวนหาข่าวนำผู้ต้องหาทั้ง 2 มาดำเนินคดีในประเทศไทยเนื่องจากเป็นคดีที่สำคัญ สร้างความเสียหายให้กับประชาชนในวงกว้าง และจากการสืบสวนทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในประเทศต่าง ๆ จนท้ายที่สุดพบว่าผู้ต้องหาทั้ง 2 ราย ได้หลบหนีไปยังประเทศอินโดนีเซีย เจ้าหน้าที่ตำรวจอินโดนีเซียจึงสามารถจับกุมผู้ต้องหาทั้ง 2 รายได้ที่เมืองดูไม จังหวัดรีเยา บนเกาะสุมาตราของประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2567

ทั้งนี้ จากการสืบสวนเบื้องต้นทำให้ทราบว่า ทั้ง 2 ราย ได้หลบหนีไปพำนักอยู่ในประเทศมาเลเซียเป็นเวลานาน โดยไม่มีทั้งหนังสือเดินทางและบัตรประจำตัวประชาชนของประเทศไทย ต่อมาได้ลักลอบเข้าประเทศอินโดนีเซียผ่านเกาะบาตัม ซึ่งเป็นเกาะและเมืองแห่งหนึ่งในจังหวัดเกอปูเลาวันรีเยา ก่อนเดินทางต่อไปยังเมืองดูไม จึงถูกเจ้าหน้าที่จับกุมตัว และนำไปสู่การขยายผลจับกุม นางธานิยาฯ ผู้เป็นมารดาได้ในที่สุด จากนั้นได้เพิกถอนวีซ่าของผู้ต้องหาทั้ง 2 ราย ประสานสถานทูตไทยในอินโดนีเซีย และตำรวจชุดจับกุมเพื่อยืนยันตัวบุคคลและผลักดันผู้ต้องหากลับประเทศไทย โดยได้ประสานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ , บช.สอท. และ DSI เพื่อรอรับตัว ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง

นอกจากนี้ พล.ต.ท.ธัชชัยฯ กล่าวว่า การติดตามจับกุมคนร้ายในคดีนี้ เกิดขึ้นได้จากความสัมพันธ์อันดี และการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างตำรวจไทย ตำรวจอินโดนีเซีย และตำรวจประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนและทั่วโลก ทำให้สามารถติดตามจับกุมคนร้ายได้เพื่อนำตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมาย และเยียวยากลุ่มผู้เสียหาย ซึ่งเป็นสัญญาณให้ทุกคนรู้ว่า ใครที่คิดจะทำความผิดและหลบหนีไปต่างประเทศก็จะไม่รอดพ้นตำรวจไทยในการติดตามตัวมาดำเนินคดีในประเทศไทย