เชียงใหม่-“มูลนิธิเป๊ปซี่โค” ร่วมกับ “มูลนิธิรักษ์ไทย” ชูความสำเร็จโครงการ “She Feeds the World”
เชียงใหม่-“มูลนิธิเป๊ปซี่โค” ร่วมกับ “มูลนิธิรักษ์ไทย” ชูความสำเร็จโครงการ “She Feeds the World”
วันที่ 3 ธันวาคม 2567 นายวีรพงศ์ ฤทธิ์รอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ให้เกีบรติเป็นประธานพิธีปิดโครงการ She Feeds The World ที่ ตลาดจริงใจมาร์เก็ต จังหวัดเชียงใหม่ มูลนิธิรักษ์ไทย ร่วมกับองค์การแคร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ภายใต้การสนับสนุนจาก มูลนิธิเป๊ปซี่โค ร่วมกับภาคีเครือข่าย ประกาศความสำเร็จโครงการ “She Feeds the World” พร้อมจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนบทบาทของผู้หญิงในภาคเกษตรกรรม และสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่สนใจการเกษตรแบบยั่งยืน ณ จริงใจมาร์เก็ต จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 3-4 ธันวาคม 2567 โดยมีเกษตรกรหญิงและเกษตรกรรุ่นใหม่ รวมถึงตัวแทนจากชุมชนท้องถิ่นและภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วมกว่า 700 คน
โครงการ “She Feeds The World ประเทศไทย” เกิดจากความร่วมมือระหว่างมูลนิธิรักษ์ไทย ร่วมกับองค์การแคร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ภายใต้การสนับสนุนจาก มูลนิธิเป๊ปซี่โค โดยมีระยะเวลาในการดำเนินการตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2565-2567 เป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อพัฒนากลุ่มเกษตรกรหญิงและครอบครัว ส่งเสริมความเท่าเทียมและสร้างความแข็งแกร่งให้กับเครือข่ายเกษตรกรในท้องถิ่น
โครงการนี้ยังสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่มีอายุระหว่าง 17 – 45 ปี ในการพัฒนาระบบเกษตรกรรมแบบยั่งยืน โดยทำงานร่วมกับชุมชนใน 5 จังหวัด ภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน น่าน และพะเยา เพื่อให้เข้าถึงโภชนาการที่ดี มีน้ำสะอาดใช้อย่างเพียงพอเพื่อทำการเกษตรและอุปโภคบริโภค รวมถึงการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร การเข้าถึงตลาดใหม่ๆ ความเสมอภาคทางเพศ และรายได้จากภาคการเกษตรอย่างยั่งยืน
ตลอดระยะเวลา 3 ปี โครงการ “She Feeds The World” ได้มีผู้เข้าร่วมโครงการ 167,502 คน คิดเป็น 119% จากเป้าหมายโครงการ ซึ่งมีสัดส่วนของผู้หญิงที่เข้าร่วมโครงการมากกว่า 60% ผ่านการพัฒนาระบบการเกษตรเพื่อปรับตัวและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในรูปแบบการเกษตรที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกในกระบวนผลิต และลดการใช้สารเคมีและสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เกษตรอินทรีย์
ซึ่งช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมสุขภาพที่ดีต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค ด้วยกลไกการทำงานร่วมกับเกษตรกรต้นแบบใน 21 ชุมชน พัฒนาพื้นที่การเรียนรู้ด้านเกษตรยั่งยืน และการทำงานรวมกับอาสาสมัครเกษตรกร 200 คน ใน 80 ชุมชน ทำหน้าที่เผยความรู้ด้านการเกษตร การตลาดและส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศและการยุติการใช้ความรุนแรงสู่เพื่อนเกษตรกรในพื้นที่ 10,000 ครัวเรือน เพื่อรวมขับเคลื่อนการพัฒนาระบบเกษตรยั่งยืน
นายภูมิใจ ไกรสินธุ์ ผู้แทนมูลนิธิเป๊ปซี่โคประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า “หัวใจสำคัญของมูลนิธิเป๊ปซี่โคคือการสร้างประโยชน์ในด้านต่าง ๆ อาทิ ความมั่นคงทางอาหาร การเข้าถึงการอุปโภคบริโภค และโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ผู้คนและชุมชนที่เราทำงานด้วย เพื่อให้พวกเขาสามารถดำรงอาชีพได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราส่งเสริมการสร้างระบบการเกษตรและการตลาดเพื่อเกษตรกรรายย่อย และสนับสนุนการเสริมพลังของผู้หญิงในภาคการเกษตรผ่านโครงการ She Feeds The World เพราะเราเชื่อว่าเกษตรกรหญิงและชุมชนท้องถิ่นเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในภาคเกษตรกรรมและสิ่งแวดล้อม”
ด้านนางสาวสุริวัสสา สัตตะรุจาวงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์และรัฐกิจ ประจำประเทศไทยและเวียดนาม บริษัทเป๊ปซี่ โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด กล่าวเสริมว่า “โครงการ She Feeds The World ไม่เพียงแค่ช่วยเกษตรกรในการปรับตัวต่อความท้าทายทางสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับผู้บริโภคในการสนับสนุนสินค้าที่มาจากการผลิตอย่างยั่งยืน ซึ่งเป๊ปซี่โค ตระหนักถึงความสำคัญในการส่งเสริมเกษตรกรเพื่อสร้างความแข็งแกร่งและส่งเสริมระบบความมั่นคงทางอาหาร เราจึงภูมิใจที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จนี้ โครงการนี้ยังสอดคล้องกับกลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงเชิงบวก “pep+” (PepsiCo Positive) ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ของเป๊ปซี่โค ในการส่งเสริมความยั่งยืนและความเท่าเทียมในทุกห่วงโซ่อุปทานการเกษตรและมุ่งมั่นที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง”
ขณะที่นางสาวสุพรทิพย์ ช่วงรังษี กรรมการมูลนิธิรักษ์ไทย กล่าวว่าโครงการ She Feeds the World ประเทศไทยนั้นแสดงให้เห็นว่าเกษตรกรหญิงและชุมชนคือหัวใจสำคัญของการสร้างการเปลี่ยนแปลงในภาคเกษตรกรรม การเรียนรู้จากประสบการณ์และการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องทำให้เกษตรกรไทยมีโอกาสก้าวข้ามความท้าทายและเข้าสู่การพัฒนาที่มั่นคง
สำหรับพิธีปิดโครงการ She Feeds The World นั้น ภายในงานมีการจัดกิจกรรมหลากหลายที่สะท้อนถึงการพัฒนาชุมชนและวิถีชีวิตของเกษตรกรไทย ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของโครงการ อาทิ เสวนาและปาฐกถาพิเศษ: จากผู้เชี่ยวชาญและเกษตรกรต้นแบบที่มาร่วมแบ่งปันเรื่องราวและมุมมองในหัวข้อ “บทเรียนจากเกษตรกรหญิง”
โดยเกษตรกรจาก 5 จังหวัดภาคเหนือ “นวัตกรรมและเทคโนโลยี กับความยั่งยืนในภาวะโลกรวน”ตลาดสินค้าชุมชน ผลผลิตจาก 80 ชุมชน ได้แก่ ช็อกโกแลตสีม่วง ข้าวพันธุ์ท้องถิ่น และผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติ ที่ได้รับความสนใจอย่างมาก,กิจกรรมเวิร์กชอป สร้างประสบการณ์ตรง: ผู้เข้าร่วมงานได้ร่วมกิจกรรม ได้แก่ การทำซูชิข้าวดอย การชิมกาแฟจาก 5 ดอย และการมัดย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติ
นภาพร/เชียงใหม่