เชียงใหม่-CEA เปิดงานเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2567 “Chiang Mai Design Week 2024”
CEA ร่วมกับ จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ CNN 2567 ครบรอบ 1 ทศวรรษจากพลังสร้างสรรค์ท้องถิ่น สู่การสร้างเศรษฐกิจเชียงใหม่ที่สมดุลและยั่งยืน
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA เปิด “เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2567” หรือ “Chiang Mai Design Week 2024” (CMDW2024) อย่างเป็นทางการ ฉลองครบรอบหนึ่งทศวรรษการส่งเสริมเมืองเชียงใหม่ด้วยพลังสร้างสรรค์ท้องถิ่น สู่การสร้างงานออกแบบที่ส่งผลกระทบเชิงบวกให้กับผู้คน วัฒนธรรม สังคม และเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน ตลอดระยะเวลา 9 ครั้งที่จัดงานมาอย่างต่อเนื่อง เทศกาลฯ ได้สนับสนุนศิลปินและนักออกแบบกว่า 900 คน มีหน่วยงานพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้าร่วมมากกว่า 150 หน่วยงาน มีนักท่องเที่ยวและผู้เข้าร่วมเทศกาลฯ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติกว่า 1,022,869 คน และจากการเก็บข้อมูลในปี 2018 – 2023 เทศกาลฯ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ภาคเหนือรวมกว่า 5,361.56 ล้านบาท ทั้งหมดนี้ล้วนตอกย้ำว่าเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ไม่เพียงนำเสนอเรื่องงานดีไซน์เท่านั้น แต่ยังสร้างบทสนทนาของผลงานที่เกี่ยวเนื่องกับการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ ที่ทำให้ชีวิตของผู้คนง่ายขึ้นและมีสุนทรียะ รวมถึงยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนได้
ในปีนี้ “เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2567” ได้รับเกียรติจาก นายวีรพงศ์ ฤทธิ์รอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และ นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร กรรมการทำหน้าที่ประธานกรรมการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ และ นายสุนทร ยามศิริ รองนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ร่วมพิธีเปิดในวันที่ 7 ธันวาคม 2567 ณ ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร กรรมการทำหน้าที่ประธานกรรมการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่า “ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา CEA ได้ผลักดันให้เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ ไม่เพียงเป็นแพลตฟอร์มเทศกาลงานออกแบบที่นำเสนอผลงานสร้างสรรค์และการออกแบบที่น่าสนใจเท่านั้น แต่ยังช่วยขับเคลื่อนให้ ‘เชียงใหม่’ เป็นตัวอย่างของเมืองที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ มาเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของคนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ในปี 2018 – 2023 เทศกาลฯ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ภาคเหนือรวมกว่า 5,361.56 ล้านบาท นอกจากนี้ยังช่วยพัฒนาชุมชน โดยสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการในท้องถิ่น ดึงดูดนักท่องเที่ยวและนักลงทุนที่สนใจในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สร้างความตื่นตัวเรื่องการออกแบบเพื่อความยั่งยืนให้เป็นที่รับรู้ในวงกว้าง
ตลอดจนสร้างแรงบันดาลใจในระดับนานาชาติ ผ่านการใช้สินทรัพย์ท้องถิ่นอย่างมีคุณค่า ตั้งแต่ดนตรี อาหาร ศิลปะ และงานฝีมือ ผสานกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสร้างอนาคตที่ดียิ่งขึ้นสำหรับทุกคน นอกจากนี้ในอนาคต CEA ยังมุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในภาคเหนืออย่างต่อเนื่อง โดยเรามีแผนเปิดให้บริการ TCDC แห่งใหม่ในภาคเหนือ จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ TCDC เชียงราย, TCDC แพร่, TCDC อุตรดิตถ์ และ TCDC พิษณุโลก ซึ่งเป็นรูปแบบความร่วมมือระหว่าง CEA กับหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนส่วนท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ สร้างมูลค่าให้ต้นทุนทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น และยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในภูมิภาค”
ด้าน ดร. ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เสริมว่า “เทศกาลฯ ในปีนี้ไม่เพียงนำเสนอความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบ จากนักออกแบบ ช่างฝีมือ ศิลปิน และผู้ประกอบการท้องถิ่นที่มาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และขยายเครือข่ายความร่วมมือทั้งในระดับภูมิภาคและสากลเท่านั้น แต่ยังมุ่งผลักดันให้เชียงใหม่เป็นเมืองต้นแบบที่ให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนผ่านการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า และสนับสนุนการรับมือกับความท้าทายสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ การส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และการสนับสนุนสังคมผู้สูงอายุในเมือง ตลอดจนการพลิกฟื้นเศรษฐกิจฐานราก ยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงศักยภาพ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม”
เทศกาลฯ ในปีนี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “SCALING LOCAL: Creativity, Technology, And Sustainability – For Reviving Recovery” ที่ขยายบทบาทของท้องถิ่น “SCALING LOCAL” จึงเป็นการยกระดับศักยภาพท้องถิ่นที่ผสานทักษะ ความคิด ศิลปะวัฒนธรรม ภูมิปัญญา ด้วยการใช้สเกลของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ท้องถิ่นในภาคเหนือกับความเป็นสากล ซึ่งภาคเหนือมีนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ ๆ ที่สามารถขยายตลาดไปยังต่างประเทศได้แล้ว นอกจากนี้การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของงานออกแบบได้เป็นอย่างดี รวมถึงยกระดับการจัดเทศกาลฯ ให้มีความยั่งยืน ทั้งในบริบทของโมเดลการทำธุรกิจและสิ่งแวดล้อม หัวใจสำคัญของเทศกาลฯ คือการเปิดพื้นที่ทางความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นเสมือน ‘ห้องทดลอง’ ที่นำเสนอความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้กับเมือง
ตลอด 9 วันของการจัดงาน มีการจัดกิจกรรมกว่า 150 กิจกรรม โดยนำเสนอ 3 คอนเซ็ปต์สำคัญ ได้แก่ ความคิดสร้างสรรค์, เทคโนโลยี และความยั่งยืน กิจกรรมส่วนใหญ่มุ่งตอบโจทย์ด้านธุรกิจ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และประเด็นทางสังคม ครอบคลุมทั้งเรื่องเมือง อาหาร สิ่งแวดล้อม สินทรัพย์ทางวัฒนธรรม โดยมุ่งเป้าออกแบบคุณภาพชีวิตของผู้คนให้ดียิ่งขึ้น และส่งเสริมความยั่งยืนของงานผ่านการจัดกิจกรรม 6 รูปแบบ
ไฮไลต์ที่ไม่ควรพลาด ได้แก่
Showcase & Exhibition นิทรรศการและการจัดแสดงผลงานที่นำเสนอ 3 ประเด็นใหญ่ ทั้งเรื่องธุรกิจ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และประเด็นทางสังคม ที่สะท้อนการแก้ปัญหาในระดับชุมชนและส่งเสริมความยั่งยืน
Talk & Workshop เสวนาและเวิร์กช็อปของเหล่าคนคืนถิ่นทั้งรุ่นเก๋าและรุ่นใหม่ รวมถึงเสวนาในรูปแบบ Roundtable ที่มีนักสร้างสรรค์จากหลายประเทศ
Event อีเวนต์ที่ตอบโจทย์ความสนใจที่หลากหลาย เช่น Mango Art Festival 2024 แพลตฟอร์มแสดงผลงานศิลปะระดับนานาชาติประจำปี
District Programs กิจกรรมพัฒนาย่านสร้างสรรค์ เช่น Urban Symphony ลานพลังสร้างสรรค์ ที่ใช้เทคโนโลยีเปลี่ยนพื้นที่รกร้างในชุมชนให้เป็นพื้นที่ของการเล่นและพักผ่อนหย่อนใจ
Music & Performance ดนตรีและการแสดงสดจากศิลปินทั้งไทยและต่างประเทศ
Market & Promotion ตลาดสร้างสรรค์ ได้แก่ ตลาดงานคราฟต์ (Pop Market) ที่นำเสนอสินค้าคัดสรรกว่า 140 แบรนด์ พร้อมส่งเสริมแนวคิดตลาดสีเขียว (Green Market)
พร้อมกันนี้ยังเชื่อมหรือสร้างให้เกิดโปรดักต์ใหม่ ๆ ที่ช่วยขับเคลื่อนเมืองมากยิ่งขึ้น เทศกาลฯ จัดขึ้นบน 2 ย่านสำคัญของเชียงใหม่ ตั้งแต่ย่านเมืองเก่าเชียงใหม่ ‘กลางเวียง (อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ – ล่ามช้าง)’ ที่เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์ของศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิตท้องถิ่น จนถึงย่าน ‘ช้างม่อย – ท่าแพ’ ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบเชียงใหม่ (TCDC เชียงใหม่) แหล่งความรู้ด้านการออกแบบอันทันสมัย
นอกจากนี้เทศกาลฯ ยังจัดโปรแกรมอื่น ๆ กระจายไปยังพื้นที่สำคัญทั่วเมือง เช่น หางดง, สันกำแพง ฯลฯ เพื่อให้ทุกคนสามารถสำรวจความน่าหลงใหลและความหลากหลายของเมืองเชียงใหม่ ผ่านการเดินลัดเลาะตามตรอกซอกซอยด้วยตนเอง ระหว่างวันที่ 7 – 15 ธันวาคม 2567