ลำพูน – พสกนิกรจังหวัดลำพูน ร่วมกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พสกนิกรจังหวัดลำพูน ร่วมกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งพระราชวงศ์จักรี พุทธศักราช 2568
เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2568 เวลา 07 นาฬิกา 30 นาที ที่วัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร ตำบลในเมือง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน นายวิวัฒน์ อินทร์ไทยวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เป็นประธานในพิธีเจริญพระพุทธมนต์ และทำบุญตักบาตร ถวายพระราชกุศล โดยมี นายโยธิน ประสงค์ความดี รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน, นายปรีชา สมชัย ปลัดจังหวัดลำพูน พร้อมด้วย นางวรรณกร สมชัย ภริยาปลัดจังหวัดลำพูน, หัวหน้าส่วนราชการ, อัยการ, ศาล ทหาร ตำรวจ และพสกนิกรจังหวัดลำพูนทุกหมู่เหล่า ร่วมพิธีฯ
โดยผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย จากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน จุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยหน้าพระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เปิดกรวยกระทงดอกไม้ถวายธูปเทียนแพหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระสงฆ์อาราธนาศีล ให้ศีล เจ้าหน้าที่ปฏิบัติพิธีสงฆ์อาราธนาพระปริตร พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ จบ จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดลำพูน ถวายเครื่องไทยธรรม พระสงฆ์อนุโมทนา ถวายอดิเรก เป็นอันเสร็จพิธี
ลำดับถัดมา ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน พร้อมผู้ร่วมพิธีฯ ร่วมทำบุญตักบาตร พระสงฆ์และสามเณร จำนวน 73 รูป ถวายพระราชกุศล เป็นอันเสร็จพิธีฯ
สำหรับ ความสำคัญของพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในวันที่ 14 มกราคม พุทธศักราช 2568 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมายุ 26,469 วัน เป็นวันสมมงคลเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราช แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์นับเป็นมหามงคลสมัยพิเศษยิ่ง การบําเพ็ญพระราชกุศลถวายแด่สมเด็จพระบรมราชบูรพการี เป็นราชประเพณีที่ถือปฏิบัติสืบกันมาช้านาน พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์จะทรงอนุสรณ์คํานึงถึงพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระบรมราชบูรพการีในวาระต่าง ๆ เช่น ในวันที่ตรงกับการครองราชย์ มีทั้งโอกาสที่เวียนมาเป็นครั้งแรกมักเรียกว่า “สมมงคล” หมายถึง เสมอกัน หรือ “สมภาคา” บ้าง ถ้าเวียนมาเป็นครั้งที่สองก็เรียกว่า “ทวิภาคา” บ้าง หรือ “ทวีธาภิเษก” บ้าง จะปรากฏแนวปฏิบัติเกี่ยวกับพระราชพิธีลักษณะนี้ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 พระราชกุศลที่บําเพ็ญถวายแด่สมเด็จพระบรมราชบูรพการีของพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์
นอกจากโอกาสวันดํารงสิริราชสมบัติเวียนมาพ้องกับวันสําคัญดังที่กล่าวมาแล้ว ยังมีพระราชประเพณีที่ทรงถือปฏิบัติในอีกหลายวาระ และวาระหนึ่งที่สําคัญ คือ วันที่พระชนมพรรษาเวียนไปเสมอเท่ากัน และวันที่พระชนมพรรษามากกว่าพระมหากษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งในรัชกาลที่ล่วงไปแล้วด้วย ถือเป็นภาพลักษณ์แสดงวัฒนธรรมที่ดีงามของพระมหากษัตริย์ของชาติไทยในการที่ทรงสร้างแบบอย่างความกตัญญูกตเวทิตา แสดงความเคารพรําลึกถึงบรรพชนปู่ย่าตายายที่ประกอบคุณความดีไว้แก่บ้านเมืองให้ราษฎรยึดถือเป็นแบบแผน..
กรรณิการ์ วิจิตรสกลการ ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดลำพูน