27/01/2025

กาฬสินธุ์อากาศหนาวชาวบ้านแห่นำเสื้อผ้าตัวโปรดเข้าร้านเย็บซ่อม

1930871_0_0

สภาพอากาศที่จังหวัดกาฬสินธุ์ยังคงหนาวเย็นต่อเนื่องติดต่อกันหลายวัน ทำให้ชาวบ้านนำเสื้อผ้ากันหนาวตัวโปรดที่ตะเข็บแตก ซิปชำรุด เข้าร้านซ่อมประหยัดค่าใช้จ่ายเพื่อสวมใส่กันหนาว ขณะที่เจ้าของร้านซ่อมสร้างความฮือฮา ขึ้นป้ายข้อความสะดุดตา เหมือนไม่ง้อลูกค้า “กรุณาจ่ายก่อน ไม่จ่ายเชิญไปร้านอื่น เกิน 1 เดือนไม่มาเอา ฟาดทิ้งลงถังขยะ” จนเกิดเป็นไวรัลดังในขณะนี้ โดยมีรายได้กว่าวันละ 1,000 บาททีเดียว

 


วันที่ 23 มกราคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามภาพอากาศที่ จ.กาฬสินธุ์หลายพื้นที่ยังคงมีอากาศที่หนาวเย็น โดยล่าสุดอุณหภูมิวัดได้เฉลี่ย 15 องศา ซึ่งสถานีอุตุนิยมวิทยากาฬสินธุ์ ระบุว่าตลอดสัปดาห์นี้ยังคงมีสภาพอากาศเย็น จะยังแผ่ปกคลุมทุกพื้นที่ไปอีกหลายวัน ขณะเดียวกันได้เกิดผลดีต่อผู้ประกอบการค้าขายเสื้อผ้ากันหนาว ที่พบว่าบรรยากาศการค้าขายคึกคัก รวมถึงช่างตัดเย็บและซ่อมแซมเสื้อผ้า ซึ่งมีลูกค้านำเสื้อ กางเกง ตัวโปรด ทั้งเสื้อกันหนาวและเสื้อผ้าที่สวมใส่ทั่วไป มาใช้บริการซ่อมตลอดวัน

นางสาวอ้อ มนัสนันท์ อายุ 45 ปี บ้านเลขที่ 2971 ถนนเทศบาล 23 ช่างซ่อมแซมเสื้อผ้า ด้านหลังตลาดสดทุ่งนาทอง เขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ช่วงฤดูหนาว ถือเป็นโอกาสทองทำเงิน เพราะมีลูกค้าทั่วไปนำเสื้อผ้ามาให้ซ่อมแซมประหยัดค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีทั้งเปลี่ยนซิป เปลี่ยนตะขอ ปะ ชุน วันละไม่น้อยกว่า 50 ชิ้น ทำให้มีรายได้ในช่วงนี้ดีหน่อย เฉลี่ยวันละ 1,000 บาททีเดียว ทั้งนี้ เป็นอาชีพที่ตนรับการถ่ายทอดจากคุณพ่อคุณแม่ ที่เป็นช่างตัดเย็บเสื้อผ้ามาก่อน ขณะที่ตนได้มาปักหลักให้บริการที่นี่เป็นอาชีพหลักมาประมาณ 15 ปี เสียค่าเช่าให้ทางเทศบาล โดยที่ไม่เคยเปิดร้านเลย แต่ได้ใช้จุดนี้เป็นจุดบริการมาโดยตลอด จึงมีลูกค้าทั้งขาประจำ และขาจรทุกรุ่น ทุกสาขาอาชีพ

นางสาวอ้อ กล่าวอีกว่า ในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ มีผู้ประกอลบการหรือจุดบริการรับซ่อมเสื้อผ้าหลายแห่ง แต่กระแสที่เกิดขึ้น ร้านซ่องเสื้อผ้าของตนได้รับไความไว้วางใจจากลูกค้าค่อนข้างดี และส่วนที่ถือเป็นเสน่ห์ของร้าน คือได้ขึ้นป้ายกระดาษแผ่นใหญ่ เขียนด้วยลายมือของตนเอง ข้อความว่า “กรุณาจ่ายก่อน ไม่จ่ายเชิญไปร้านอื่น เกิน 1 เดือนไม่มาเอา ฟาดทิ้งลงถังขยะ”

“สำหรับที่มาที่ไปของการขึ้นป้ายดังกล่าว เพราะเคยมีบทเรียนจากสมัยคุณพ่อคุณแม่รับบริการดังกล่าว ลูกค้าที่นำเสื้อผ้ามาให้ซ่อม พอคุณพ่อคุณแม่ทำการซ่อมเสร็จแล้วกลับไม่มาเอา บางคนทิ้งระยะห่างนานหลายเดือนหรือเป็นปีจึงมารับคืน หรือไม่มารับคืนก็เป็นจำนวนมาก กลายเป็นภาระและความลำบาก ทั้งลงทุนเปลี่ยนซิป เปลี่ยนตะขอให้ ปะชุนให้ ยังไม่พอ ยังต้องคอยขนย้ายกลับไปกลับมาบ้านพัก เพื่อรักษาเสื้อผ้าของลูกค้าไว้ ป้องกันการสูญหาย เพราะจุดที่เราให้บริการอยู่บนฟุตบาธ เหมือนเป็นจุดบริการชั่วคราว ไม่ได้ทำเป็นห้องปิดมิดชิด จึงกลายเป็นภาระ เป็นความรับผิดชอบที่หนักเกินไป และในที่สุดเสื้อผ้าที่ลูกค้าไม่กลับมาเอา หลายเดือน หรือเป็นปีเหล่านั้น ก็จำเป็นต้องตัดสินใจนำไปบริจาคเสียเลย” นางสาวอ้อกล่าว

นางสาวอ้อกล่าวอีกว่า เมื่อตนมารับช่วงอาชีพให้บริการซ่อมแซมเสื้อผ้าแทนคุณพ่อคุณแม่ ที่วางมือไปเนื่องจากสูงวัย เพื่อเป็นการตัดปัญหาดังกล่าว ตนจึงปิ๊งไอเดีย ขึ้นป้ายข้อความดังกล่าว ปรากฏว่าได้ผล คือได้ทั้งเงินสด และไม่มีลูกค้าผิดนัด พูดใหม่ก็เหมือนใหม่ 15 ปีที่ผ่านมา ตนเองก็ไม่ต้องรับภาระหนัก ขนย้ายเสื้อผ้าลูกค้ากลับไปกลับมาเหมือนสมัยก่อน และลูกค้าก็ประทับใจในการบริการ เพราะตนก็ให้ความมั่นใจกับลูกค้า ตรงตามเวลานัด คือเป็นนัด หรือบางคนที่รายการซ่อมแซมเสื้อผ้าไม่ยุ่งยาก แค่เก็บตะเข็บ เปลี่ยนตะขอ เปลี่ยนซิป ก็ยืนรอรับได้เลยภายในเวลาไม่กี่นาที ค่าบริการก็แสนถูก เริ่มต้นที่ 5 -50 บาท หรือมากน้อยคิดตามเนื้องาน

อย่างไรก็ตาม ตามที่นางสาวอ้อ ขึ้นป้ายหน้าร้านด้วยข้อความดังกล่าว ได้กลายเป็นไวรัลดังในกลุ่มผู้นิยมเสื้อผ้าตัวโปรด ที่หากอยากซ่อมแซมเสื้อผ้า ซึ่งเสื้อหรือกางเกงตัวนั้น อาจจะเป็นเสื้อผ้าที่มีคุณค่าทางจิตใจ เช่น ย้ำเตือนความหลัง หรือคนรักซื้อให้ สวมใส่แล้วสบายตัว หากเกิดการสึกหรอ ก็ต้องคิดถึงจุดบริการตรงนี้ ถึงแม้จะขึ้นป้ายด้วยข้อความเหมือนไม่ง้อลูกค้า แต่กลับมีลูกค้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวนี้

 

ข่าวที่น่าติดตาม