23/11/2024

กาฬสินธุ์-พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลดลงทำราคาพุ่ง เกษตรกรอดได้เงินชดเชย

กาฬสินธุ์-พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลดลงทำราคาพุ่ง เกษตรกรอดได้เงินชดเชย

พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูแล้งที่จังหวัดกาฬสินธุ์ลดลง เกษตรจังหวัดเผยสาเหตุเกษตรกรหันปลูกพืชชนิดอื่นที่ดูแลง่ายกว่า ส่งผลให้ราคารับซื้อสูงขึ้น ขณะที่คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิง โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ประกาศราคาเกณฑ์กลาง ก.ก.ละ 8.50 บาท รับซื้อจริง ก.ก.ละ 9.72 บาท จึงงดจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างให้เกษตรกร


เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2565 จากการติดตามบรรยากาศการประกอบอาชีพของประชาชนชาว จ.กาฬสินธุ์ในฤดูแล้ง ในส่วนของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด ซึ่งมีทั้งข้าวโพดขายฝักสดและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พบว่าในส่วนของการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นั้นพื้นที่ปลูกลดลงเป็นจำนวนมาก ขณะที่ราคารับซื้อผลผลิตให้ราคาสูงกว่า ก.ก.ละ 8 บาท แต่ยังไม่สามารถจูงใจเกษตรกรหันมาปลูกได้มากนัก โดยจากข้อมูลของสำนักงานเกษตร จ.กาฬสินธุ์ล่าสุดพบว่าเดิมมีพื้นที่ปลูกในหลายอำเภอ พื้นที่กว่า 1,000 ไร่ แต่ในปัจจุบันลดลงเหลือเพียง 243 ไร่เท่านั้น


ทั้งนี้นายธวัชชัย รอดงาม รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ในส่วนของราคารับซื้อผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในฤดูกาลผลิตนี้ ซึ่งกรมการค้าภายในได้ออกประกาศคณะอนุกรรมการกำกับดูแล และกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2564/65 งวดที่ 4 ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 สำหรับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร โดยมีวันเพาะปลูกตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2564 และระบุวันที่คาดว่าจะเก็บเกี่ยวตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2565-19 กุมภาพันธ์ 2565 สำหรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เมล็ดความชื้นไม่เกิน 14.5% ก.ก.ละ 9.72 บาท เมื่อคำนวณส่วนต่างจากราคาเป้าหมายกับราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงแล้ว ราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงในครั้งนี้ สูงกว่าเป้าหมาย คือ ก.ก.ละ 8.50 บาท จึงไม่มีการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างให้เกษตรกร


ด้านนายพงษ์ศักดิ์ ชินคีรี เกษตร จ.กาฬสินธุ์กล่าวว่า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เริ่มเข้ามาในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ เมื่อปี 2561 โดยมีบริษัทเอกชนหลายแห่ง เข้ามาส่งเสริมและรับซื้อผลผลิต ขณะที่กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตร จ.กาฬสินธุ์ ได้เข้าไปดูแลในส่วนขององค์ความรู้ การบริหารจัดการในแปลงข้าวโพด โดยเฉพาะการป้องกันกำตัดศัตรูพืชรบกวน ทั้งนี้ ข้าวโพดเป็นพืชอายุสั้น ต้องการน้ำน้อย สามารถปลูกได้นอกเขตใช้น้ำชลประทาน เช่น อ.ดอนจาน อ.สมเด็จ อ.ร่องคำ อ.สหัสขันธ์ อ.ห้วยเม็ก อ.หนองกุงศรี ช่วงแรกเคยมีพื้นที่ปลูกไม่น้อยกว่า 1,000 ไร่ เฉลี่ยผลผลิตไร่ละ 500-800 ก.ก. ขณะที่ปัจจุบันในการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูแล้ง 2564/2565 เหลือพื้นที่ปลูกเพียง 243 ไร่


นายพงษ์ศักดิ์กล่าวอีกว่า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีการขายผลผลิต 2 ประเภท คือขายต้นสดและขายฝักแห้ง โดยราคาขายต้นสด ก.ก.ละ 2-3 บาท ขายฝักแห้งประมาณ ก.ก.ละ 8-9 บาท จากการประเมินสถานการณ์ในภาพรวม สาเหตุที่พื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลด เนื่องจากเกษตรกรยังขาดองค์ความรู้ของการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เช่น การวางแผนการปลูกให้สอดคล้องกับระยะเวลาของการออกดอกและผสมเกสร ที่ต้องสอดคล้องกับสภาพอากาศ แหล่งน้ำไม่เพียงพอ การบริหารจัดการในแปลง การควบคุมแมลงที่เป็นศัตรู รวมทั้งปุ๋ยเคมีราคาสูง จึงหันมาปลูกข้าวโพดหวานเพื่อขายฝักสดได้ราคาสูงกว่า เช่น 3 ฝัก 20 บาท ในภาพรวมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ค่อนข้างจะยุ่งยากกว่าการทำนาปรังหรือการปลูกพืชชนิดอื่น จึงทำให้พื้นปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลดลงดังกล่าว


อย่างไรก็ตาม จากประกาศคณะอนุกรรมการกำกับดูแล และกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ความชื้นไม่เกิน 14.5% ราคาเกณฑ์กลาง ก.ก.ละ 8.50 บาท ขณะที่รับซื้อจริง ก.ก.ละ 9.72 บาท สูงกว่าราคาเกณฑ์กลาง 1.22 บาท เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จึงไม่ได้รับเงินชดเชยส่วนต่างแต่อย่างใด