กาฬสินธุ์ แก้จนด้วยใจไปด้วยกัน
ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เดินหน้าขับเคลื่อนดำเนินงานขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) “กาฬสินธุ์ แก้จนด้วยใจ ไปด้วยกัน”
ที่ศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัย จ.กาฬสินธุ์ (ศจพ.กส.) ชั้น 2 ศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์ นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานเปิดศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัย จ.กาฬสินธุ์ (ศจพ.กส.) เพื่อประชุมติดตามความก้าวหน้าการขับเคลื่อนการดำเนินงานขจัดความยากจน และพัฒนาคนทุกช่วงอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จ.กาฬสินธุ์ โดยมีนายปราชญา อุ่นเพชรวรากร รองผวจ.กาฬสินธุ์ นายดาระใน ยี่ภู่ ปลัดจ.กาฬสินธุ์ นายสาจิต จันทรศิริ ท้องถิ่น จ.กาฬสินธุ์ นางสิรินุช อันตรเสน พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จ.กาฬสินธุ์ นายอุทัย สิงห์ทอง พัฒนาการ จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม
นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ความก้าวหน้าการบันทึกข้อมูลครัวเรือนเป้าหมาย ในระบบ TPMAP Logbook ของจ.กาฬสินธุ์ ซึ่งมีครัวเรือนเป้าหมายในระบบ TPMAP Logbook ปี 2565 จำนวน 8,794 ครัวเรือน ขณะนี้มีผลการบันทึกรวมทั้ง 18 อำเภอ การปรับปรุงพิกัด ณ วันที่ 7 เมษายน 2565 การปรับปรุงพิกัดบันทึกได้ จำนวน 6,729 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 76.71 การบันทึกรูปภาพครัวเรือนบันทึกได้ จำนวน 6,485 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 73.93 การสำรวจสภาพปัญหาครัวเรือน บันทึกได้ จำนวน 5,399 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 61.55
ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้ทีมปฏิบัติการตำบลในแต่ละพื้นที่ บูรณาการทำงานและให้การช่วยเหลือ สนับสนุนการทำงานของทีมพี่เลี้ยงในการดำเนินการวิเคราะห์สภาพปัญหา และกำหนดแนวทางแก้ไข และรายงานในระบบ TPMAP ให้เสร็จสิ้น ภายในวันที่ 10 เม.ย. 2565 โดยเรื่องนี้ถือเป็นวาระสำคัญของจังหวัด ที่ทุกภาคส่วนจะต้องมุ่งมั่น ตั้งใจ ทุ่มเทขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งนายอำเภอจะเป็นแม่ทัพในการขับเคลื่อนศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.อ.) เพื่อบูรณาการความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเครือข่ายองค์กรต่างๆ ในพื้นที่ เพื่อร่วมขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาให้แก่ครัวเรือนเป้าหมาย ในทั้ง 5 มิติ หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “5 เมนูแก้จน”
โดยทั้ง 5 มิติ หรือ “5 เมนูแก้จน” ได้แก่ มิติด้านสุขภาพ มิติด้านความเป็นอยู่ มิติด้านการศึกษา มิติด้านรายได้ และมิติด้านการเข้าถึงบริการภาครัฐ ทั้งนี้จังหวัดได้มีการวางแผนงานและแนวทางการให้ความช่วยเหลือครัวเรือนเป้าหมาย จากหน่วยงานหลักที่ดูแลรับผิดชอบในด้านต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้การดำเนินงานของศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.อ.) อย่างเต็มที่