27/11/2024

ลำพูน – มุ่งดำเนินการแก้ไขปัญหาผักตบชวาในแม่น้ำกวง โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 11 แห่ง

จังหวัดลำพูนมุ่งดำเนินการแก้ไขปัญหาผักตบชวาในแม่น้ำกวง โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 11 แห่ง ที่มีพื้นที่ติดแม่น้ำกวง แก้ไขปัญหาผักตบชวา เพื่อให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ

 

วันนี้(21 เม.ย. 65) นายวรยุทธ เนาวรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เป็นประธานการประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาผักตบชวาในแม่น้ำกวง ครั้งที่ 1/2565 เพื่อปฏิบัติการแก้ไขปัญหาผักตบชวาในแม่น้ำกวงเกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ โดยมี นายอนุพงษ์ วาวงศ์มูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน หัวหน้าส่วนราชการ ที่เกี่ยวข้อง และผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นข้าร่วมประชุม ณ ที่ห้องประชุมมหันตยศ(ห้องประชุมผู้บริหารฯ) ชั้น 2 ศูนย์ราชการจังหวัดลำพูน ตำบลศรีบัวบาน อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

นายวรยุทธ เนาวรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เปิดเผยว่า การกำจัดผักตบชวา เป็นนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลเพราะปัญหาผักตบชวาเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต และความเป็นอยู่อย่างปกติสุขของประชาชน เนื่องจาก ผักตบชวา เป็นวัชพืชที่แพร่ขยายพันธ์ได้อย่างรวดเร็ว โดยผักตบชวาเพียง 1 ต้น อาจขยายพันธุ์ได้มากถึง 1,000 ต้น ในห้วงระยะเพียง 1 เดือน หรือถึงแม้ว่าน้ำจะแห้งจนต้นตาย แต่เมล็ดของมันจะยังมีชีวิตต่อไปได้นานถึง 10-15 ปี และพร้อมที่จะแตกหน่อเป็นต้นใหม่ทันที ที่เมล็ดได้รับน้ำเพียงพอ กลายเป็นปัญหาสำคัญที่มีผลกระทบต่อแหล่งน้ำ เช่นการทำให้แหล่งน้ำตื้นเขิน เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมหรือน้ำเน่าเสีย และกีดขวางการสัญจรทางน้ำ สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนรวมทั้ง ก่อให้เกิดภูมิทัศน์หรือทัศนียภาพที่ไม่สวยงาม

รัฐบาลได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และให้ความสำคัญในการแก้ไขโดยกำหนดให้ปัญหาผักตบชวา เป็นวาระแห่งชาติ ที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมแก้ไขปัญหา โดยได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบบูรณาการแก้ไขปัญหาให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

“สำหรับจังหวัดลำพูน ปัจจุบันแหล่งน้ำในพื้นที่จังหวัด เกิดการแพร่กระจายของผักตบชวาและวัชพืชอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดทัศนียภาพที่ไม่สวยงาม รวมทั้ง สร้างความตื้นเขินในแหล่งกักเก็บน้ำ ตลอดจนการกีดขวางการไหลระบายของน้ำ ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านคุณภาพน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแม่น้ำกวง ถือว่าเป็นแม่น้ำสายสำคัญของจังหวัดลำพูน ในช่วงฤดูแล้งจะมีปริมาณน้ำน้อยและนิ่ง ทำให้มีสภาพที่เอื้อต่อการแพร่ขยายพันธุ์ของผักตบชวา ทำให้มีปริมาณผักตบชวาแพร่กระจายอย่างหนาแน่นในหลายจุด ตั้งแต่เขตอำเภอบ้านธิถึงอำเภอป่าซาง เช่น ด้านหน้าฝายแม่ร่องน้อย เขตรับผิดชอบของเทศบาลตำบล(ทต.)อุโมงค์ สะพานข้ามแม่น้ำกวงบริเวณทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 เขตรับผิดชอบของเทศบาลตำบล(ทต.)มะเขือแจ้ และด้านหน้าฝายบ้านศรีเมืองยู้ เขตรับผิดชอบของเทศบาลเมืองลำพูน และเทศบาลตำบลเวียงยอง เป็นต้น ดังนั้น เพื่อให้การแก้ไขปัญหาผักตบชวาในแม่น้ำกวงเกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ จึงได้เรียนเชิญคณะทำงานฯ มาร่วมประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางและกำหนดแผนงานในการกำจัดผักตบชวาในวันนี้”..

จังหวัดลำพูน ได้แบ่งพื้นที่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) จำนวน 11 แห่ง ที่มีพื้นที่ติดแม่น้ำกวง รับผิดชอบดำเนินการกำจัดผักตบชวาและวัชพืชในแม่น้ำกวง ตั้งแต่อำเภอบ้านธิ ถึงอำเภอป่าซางในช่วงที่ผ่านมา ประกอบด้วย เทศบาลตำบลบ้านธิ ดำเนินการช่วงรอยต่ออำเภอสารภี-สะพานครูบาแสนอนุสรณ์ เทศบาลตำบลอุโมงค์ ดำเนินการช่วงสะพานครูบาแสนอนุสรณ์-ฝายบ้านแม่ร่องน้อย เทศบาลตำบลมะเขือแจ้ ดำเนินการช่วงฝ่ายบ้านแม่ร่องน้อย-สะพานข้ามลำน้ำกวง (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11) เทศบาลตำบลเหมืองง่า ดำเนินการช่วงสะพานข้ามลำน้ำกวง (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11) -สะพานศรีวิชัย 2 (ศรีบุญยืน) เทศบาลตำบลบ้านกลาง ดำเนินการช่วงสะพานศรีวิชัย 2 (ศรีบุญยืน) – สะพานมนตรี เทศบาลเมือง(ทม.)ลำพูน ดำเนินการช่วงสะพานมนตรี-สะพานรถไฟ (สะพานดำ) เทศบาลเมืองลำพูน/เทศบาลตำบลเวียงยอง ดำเนินการช่วงสะพานรถไฟ (สะพานดำ) – สะพานบ้านศรีเมืองผู้ เทศบาลตำบลต้นธง/เทศบาลตำบลเวียงยอง ดำเนินการช่วงสะพานบ้านศรีเมืองยู้-สะพานท่าจักร เทศบาลตำบลบ้านแป้น ดำเนินการช่วงสะพานท่าจักร –สะพานครัวสวนไผ่ เทศบาลตำบลท่าเชียงทอง ดำเนินการช่วงสะพานครัวสวนไผ่-ฝ่ายสบทา เทศบาลตำบลป่าซาง ดำเนินการช่วงฝ่ายสบทา-จุดเชื่อมแม่น้ำปิง..

 

กรรณิการ์ วิจิตรสกลการ ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดลำพูน

ข่าวที่น่าติดตาม