พิษณุโลก ชาวบ้านกร่างบุกศาลากลางจังหวัด ต้านโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ 9.9 เมกะวัตต์ 1,800 ล้าน งุบงิบประชาพิจารณ์
พิษณุโลก ชาวบ้านกร่างบุกศาลากลางจังหวัด ต้านโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ 9.9 เมกะวัตต์ 1,800 ล้าน งุบงิบประชาพิจารณ์
วันที่ 25 เม.ย. 2565 นายจรวย ดีแล้ว ส.จ. เขต อ.เมืองพิษณุโลก และนายเพียง พรมสงฆ์ ข้าราชการบำนาญ และแกนนำประธานอนุรักษ์บ้านกร่าง อ.เมือง จ.พิษณุโลก พร้อมด้วยกลุ่มชาวบ้านบ้านกร่างจำนวน 200 คน เดินทางยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เพื่อขอคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ 9.9 เมกะวัตต์ ตามที่องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกร่าง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก มีความประสงค์ที่จะดำเนินการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าระบบปิด เนื่องจากชาวบ้านในพื้นที่ได้รับผลกระทบ และยืนยันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เคยมีการทำประชาคมหรือประชาวิจารณ์
ทั้งนี้ ตามโครงการบริหารและจัดการขยะมูลฝอยชุมชนเป็นพลังงานไฟฟ้าระบบปิด ช กำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ ซึ่งดำเนินในลักษณะร่วมทุนโดย องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกร่าง เป็นผู้ดำเนินโครงการแล้วให้เอกชนที่เข้ามารับโครงการเป็นผู้ลงทุน หลังจากที่มีการประชุมรับฟังความคิดเห็น และประชาสัมพันธ์โครงการ ซึ่งมีการจัดประชุมกันใน วันที่ 25 กันยายน 2561 ขณะนั้นถูกคัดค้านโดยประชาชนในพื้นที่ของกลุ่มอนุรักษ์บ้านกร่าง โดยตัวแทนราษฎรยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัด และแม่ทัพภาคที่ 3 ซึ่งราษฎรในพื้นที่คิดว่าโครงการนี้ต้องไม่เกิดขึ้นในพื้นที่อีกแล้ว
ต่อมา เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2564 องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกร่าง ได้มีประกาศ เรื่องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับโครงการกำจัดขยะมูลฝอย เพื่อผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกร่าง เป็นผู้ดำเนินการโครงการทั้งหมดในทุกหมู่บ้าน ที่อยู่ในพื้นที่รัศมี 3 กิโลเมตร รวมได้ 6 หมู่บ้าน เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนให้เหตุผลว่าเป็นการดำเนินการอย่างตามนโยบายต่อเนื่อง โดยการแจกแบบสำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วไปประจำแต่ละหมู่บ้าน เพื่อตอบแบบสอบถามเป็นรายบุคคลในการรับฟังความคิดเห็น การดำเนินงานของโครงการเป็นไปอย่างเร่งด่วนโดยอ้างว่าเป็นภารกิจของภาครัฐในการดำเนินการกำจัดขยะมูลฝอยตามหนังสือของกระทรวงมหาดไทย
ข้อสงสัยอีกประการหนึ่งการที่ อบต.บ้านกร่าง ออกหนังสือถึงผู้ใหญ่บ้าน ประกาศ เรื่องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับโครงการกำจัดขยะมูลฝอย ในวันที่ 16 ธันวาคม 2564 และสรุปผลรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ในวันที่ 17 ธันวาคม 2564 หากเทียบจากจำนวนประชากร หมู่ 4,5,6,7,9,10 รวมเกือบ 6,700 คน หากรวมทั้งตำบลมีประชากร 16,000 คน แต่มีการออกแบบสอบรับฟังความคิดเห็นเฉพาะบางกลุ่ม บางหมู่บ้านเท่านั้น เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรแล้วนั้นยังไม่ถึงครึ่ง มีตารางชี้แจงว่าจากการสรุปแบบสอบถามทั้งหมด 6 หมู่ รรวมได้ 460 คน มีผู้เห็นด้วยกับโครงการ 456 คน ไม่เห็นด้วย 4 คน
ซึ่งจะผลกระทบต่อสังคมส่วนรวมอีกจำนวนมาก เช่น สถาบันการศึกษา ระดับอุดมศึกษา 1 แห่ง มัธยมศึกษา 1 โรง และประถมศึกษา 4 โรง วัดที่ใช้บำเพ็ญศาสนกิจทางศาสนาจำนวน 8 วัด
ทั้งนี้กลุ่มอนุรักษ์บ้านกร่าง จึงขอให้ผู้มีอำนาจ พิจารณายับยั้งโครงการดังกล่าวไม่ให้เกิดขึ้นในพื้นที่อีก จนกว่าการดำเนินการจะเป็นไปอย่างสมบูรณ์ครบถ้วนถูกต้องโปร่งใส ตามขั้นตอนของการทำประชาพิจารณ์ที่สมบูรณ์ผลการดำเนินการเป็นประการใด กรุณาแจ้งหรือติดต่อประธานกลุ่มอนุรักษ์บ้านกร่างทราบภายใน 15 วัน
จากนั้น นายพยนต์ อัศวพิชยนต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ได้พูดคุยกับแกนนำพร้อมรับหนังสือคัดค้านจากกลุ่มผู้ชุมนุม ก่อนจะนำเรื่องเข้าที่ประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นต่อไป โดยกลุ่มผู้ชุมนุมพึงพอใจก่อนจะแยกย้ายกันกลับไปในที่สุด
ปรีชา นุตจรัส รายงานข่าว พิษณุโลก